ปภ.ประสานจังหวัดสำรวจพื้นที่เสี่ยงแล้ง-ปริมาณน้ำต้นทุน แก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วง

ข่าวทั่วไป Monday October 29, 2012 13:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำจากฝนทิ้งช่วง โดยเร่งสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบ ปริมาณน้ำต้นทุน และภาชนะกลางในการกักเก็บน้ำ จะได้วางแผนจัดสรรน้ำได้ทั่วถึงและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน พร้อมเร่งชี้แจงเกษตรกรโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานให้ปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายด้านการเกษตร นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า หลายจังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อมิให้สถานการณ์ขยายวงกว้าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานจังหวัดดำเนินการ ดังนี้ 1.สำรวจพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะได้รับกระทบจากการขาดแคลนน้ำ โดยระบุพื้นที่ลงถึงระดับหมู่บ้านพร้อมแบ่งระดับความเสี่ยงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซาก และขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี 2.สำรวจปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต้นทุน ทั้งอ่างเก็บน้ำ เขื่อน และแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง บึง คู คลอง เป็นต้น เพื่อจะได้วางแผนบริหารจัดการและจัดสรรน้ำได้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งจะได้ทราบถึงแหล่งน้ำที่จะนำไปใช้ในการช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ 3. สำรวจภาชนะกลางในการกักเก็บน้ำประจำหมู่บ้าน พร้อมทำความสะอาดและซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่สามารถรองรับและ กักเก็บน้ำได้ หากไม่มีให้เร่งจัดหาโดยจัดทำระบบถังน้ำกลาง รวมทั้งขุดเจาะและเป่าล้างบ่อน้ำบาดาล เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในพื้นที่ร่วมกัน นอกจากนี้ ให้เร่งชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานให้ปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เช่น ถั่วลิสง มันสำปะหลัง เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบและความเสียหาย ด้านการเกษตร ทั้งนี้ ปภ.จะได้ประสานข้อมูลการบริหารจัดการน้ำและการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอและควบคุม มิให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำรุนแรงมากขึ้น สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาฝนทิ้งช่วง สามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ