ละครของ “ชายขอบ” ประตูสู่โลกใหม่

ข่าวทั่วไป Monday November 12, 2012 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.-- แน่ว่าเวลาที่สองเท้าถูกย่างก้าวไปไกลกว่าที่เคย ประสบการณ์-ชั่วโมงบิน ย่อมสั่งสมเพิ่มพูนขึ้นตาม แต่ขณะเดียวกัน “โจทย์ใหม่”ตรงหน้าก็ใช่เป็นคนคุ้นเคยพอจะเจรจา ร้องหาคำตอบได้แบบที่ผ่านมา จังหวะที่เท้ายกขึ้นจากพื้น ออกก้าว ก่อนลงสู่พื้น (อีกครั้ง) จึงมากไปด้วยการขบคิด เตรียมตัว เพื่อรองรับความรู้สึกใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ถือโอกาสตรงนั้นคือความท้าทาย นอกเสียจากเคยจากสะท้อนตัวเอง ชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนเรื่องใกล้ตัว หนนี้ขอขยายปริมณฑลความคิด มุ่งทำกิจกรรมกับกลุ่มคนที่สังคม (อาจ) ไม่รู้จักดี ที่เรียกว่า “คนชายขอบ” โดยกลุ่มชายขอบที่ว่า มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ทีมงานโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นิยามเป็นทั้งผู้ห่างไกล จนโอกาสที่ควรได้รับไม่เท่าเทียม กระทั่งกลุ่มที่ (ต้อง) ชายขอบเพราะทัศนคติคนหมู่มากสร้างให้ ตัวอย่างชายขอบแรกกับกรณีของ “สุวิภา อุแสง” ตัวแทนเยาวชนจากเผ่าดาราอั้ง ที่อาศัยใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งความห่างไกลคืออุปสรรคของการเรียนรู้เช่นเยาวชนคนอื่น สะท้อนผ่านเวทีเสวนา “ละคร กายกรรม: เครื่องมือมหัศจรรย์ในการเปลี่ยนแปลงเยาวชนชายขอบ” เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภายในงานมหกรรมกายกรรมนานาชาติ ณ จ.เชียงใหม่ว่า เมื่อวิถีประจำวันไม่ได้คลุกคลีกับการทำกิจกรรมเช่นเด็กนักเรียนในเมือง จึงไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรคือการทำละคร โลกทัศน์ตรงหน้าจึงไม่พอเพียงกับวัยหนุ่มสาว หากแต่เมื่อได้รับคำชวนจากเพื่อนกลุ่มมะขามป้อม ที่ อ.เชียงดาว เมื่อนั้นเธอจึงออกเริ่มฝึกปรือประสบการณ์ หวังออกแรงให้ละครฯเป็นสื่อกลางบอกเรื่องราวในชุมชน โดยเฉพาะวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่คาดว่า ผลิตผลง่ายๆเหล่านั้น ส่งผลให้คนในชุมชนตื่นตัวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น “เมื่อวัฒนธรรมภายนอกเริ่มเข้ามา ทุกคนรู้สึก แต่ไม่มีอะไรทำให้เราเริ่มพูดกัน ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน กิจกรรมละครเป็นกลไกหนึ่ง เหมือนการประสาน เช่น เมื่อเราหาข้อมูลชุมชนมาทำละคร ทำให้เราได้พูดคุยกับคนวัยอื่นๆ ด้วย เกิดการบอกเล่า แลกเปลี่ยนปัญหา สังเกตถึงความกระตือรือร้นต่อการเปลี่ยนแปลงในชุมชนที่ทุกคนมีไม่แพ้กัน ตัวเราก็บอกตัวเองเราอยู่เฉยๆ ต่อไปโดยไม่คิดอะไรไม่ได้แล้ว” ส่วน “ชายขอบ”ในแบบของ “ฤทธิพันธุ์ วิจิตรพร (เป้ย)” เยาวชน จ.เชียงใหม่ ซึ่งครั้งหนึ่งสูญเสียชีวิตการเรียนไปด้วยเวลาเที่ยวเล่น ทะเลาะวิวาท ประชดพ่อแม่ แต่เมื่อมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกินเวลาราว2ปี เขามองย้อนจากจุดที่ยืน ณ ปัจจุบัน กับชีวิตก่อนหน้าไม่ต่างหนังคนละม้วน “ความเปลี่ยนแปลงของตัวเองมันเกิดไปเรียบร้อยแล้ว ตัวผมเปลี่ยนและไม่ได้อยู่ที่ผมคนเดียวเพราะผมมีอิทธิพลต่อเด็กแก๊ง เรามีเพื่อนที่รักกัน เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไปแสดงออกไม่ถูกนัก เราได้เรียนรู้ จนมั่นใจในศักยภาพที่เรามีต่อละคร ก็นำไปสอนน้องๆ ในแก๊งค์ต่อ เพราะเพื่อนเห็นเราเปลี่ยนเขาก็อยากลองบ้าง ในอดีตเราอาจเป็นตัวอันตรายแต่วันนี้มันไม่ใช่แล้ว”เขาว่า “เมื่อก่อนผมไม่ชอบละครเพราะคิดว่ามันหลอกลวง อีกอย่างแม่ชอบเอาคำด่าในละครมาด่าเราด้วยก็เลยยิ่งไม่ชอบไปใหญ่ แต่กิจกรรมมันมีประโยชน์ มีผู้ปกครองหลายคนมาดูเราแสดงละครหลายคนร้องไห้ เพราะเขาเริ่มเข้าใจลูกหลาน ก่อนหน้าเขาไม่รู้ว่าทำไมลูกหลานเขาถึงมาอยู่แก๊ง เราทำให้ผู้ใหญ่เห็นว่าคนวัยเราต้องการอะไร พอเขาได้ดูก็เข้าใจและก็มาขอบคุณเรา” ฤทธิพันธุ์บอกความพัฒนาของเขา โดยแน่นอนว่าเมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปสายตาของผู้อื่นที่จับจ้องมาไม่ได้ผลักให้เข้าต้องยืนอยู่นอกวงสังคมแต่อย่างใด จากเยาวชนถึงมุมของนักสังเกตการณ์รุ่นใหญ่ “ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ” หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่คลุกคลีกับกับกลุ่มคนชาติพันธุ์ เชื่อมโยงงานละครชุมชนกับกระบวนการชุมชนว่า เหนือจากความบันเทิง กระบวนการของละครทำให้ร่างกายมีระเบียบและมีการเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งนี้หากจะให้ประมวลปัญหาส่วนใหญ่ของคนชายขอบแล้วนั่นย่อมหนีไม่พ้นเรื่องราวสุดอมตะ อย่าง การไม่มีที่อยู่อาศัย จากพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในพื้นที่ป่าสงวน ไร้สัญชาติ “ยกตัวอย่างชาวบ้านปางแดงเกือบ 20 ปี เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่เข้ามาอยู่ที่เชียงดาว ตลอด 30 ปี เขาได้รับการปฎิบัติให้เป็นคนชายขอบ พวกเขาเคยถูกจับ ศาลไม่ยอมให้พวกเขาขึ้นมาฟังในห้องพิพากษาด้วยซ้ำเพราะตัวสกปรก เหม็น แต่วันนี้เมื่อลองได้ทำอะไรด้วยตัวเอง เขาเริ่มกล้าที่จะจับไมค์ พูดเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น บอกเรื่องราวไปสู่สาธารณะ จากคนที่ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าพูด ไม่กล้าสบตาคน กลายเป็นคนที่กล้าพูดกล้าเล่า ปกป้องตัวเอง และถึงวันนี้แม้เขาจะเป็นคนชายขอบ แต่เป็นคนชายขอบที่มีความหมายและมีความมั่นใจกว่าที่เคยเป็น”อ.ชยันต์อธิบาย ละครของคนที่อยู่ไกล จึงทำหน้าที่ไปไกลกว่าที่เคยเป็น จากที่เคยตรึงตาคนดูด้วยความบันเทิง มากกว่านั้นครั้งนี้มันช่วยจุดประกายให้ใครต่อใคร ก่อนเสวนาครั้งนั้นจะยุติ “บัญชา พงษ์พานิช” สสส.ขมวดปมแบบน่าบอกต่อตอนหนึ่งว่า ความสุขของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ แต่เพราะกิจกรรมเหล่านี้ได้ส่งให้คนเล็กคนน้อยปรารถนาจะทำสิ่งดีเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมไม่ต่างจากผู้ที่มีความพร้อม ไม่ต่างจากกรณีเยาวชนที่เคยหลงผิด ที่เมื่อมีกิจกรรมเข้าแทนที่ การเปิดใจรับเรื่องใหม่ๆย่อมตามมา “แค่สะท้อนปัญญาอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนชีวิต ต้องตอบโจทย์คนทุกพื้นที่ ไม่ว่าอีสาน ใต้ ภาคกลาง เราอยากให้ขยายออกไปสู่วงการละครที่กว้างขึ้น ผลักดันให้สังคมดีขึ้น”ไปในที่ไม่เคยไป ทำในเรื่องไม่เคยทำ คือโจทย์ใหม่ที่ไม่มีใครการันตีผลลัพธ์ทว่าท้าทาย และคุ้มค่าต่อการย่างเดิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ