ย้อนประวัติศาสตร์งานภูเขาทอง งานวัดที่เก่าแก่ที่สุด ของกรุงเทพมหานคร ห่มผ้าแดง ๒๑ - ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

ข่าวทั่วไป Monday November 12, 2012 17:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--วัดสระเกศ หากพูดถึงงานวัด คนในรุ่นก่อนไม่มีใครไม่รู้จักงานภูเขาทอง วัดสะเกศ เป็นงานที่มีสีสัน เต็มไปด้วยการแสดง การละเล่น และของกินมากมาย ในแต่ละปีผู้คนต่างรอคอยงานวัดภูเขาทองอย่างใจจดใจจ่อ เพราะปีหนึ่งจะมีโอกาสได้เที่ยวเล่นอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินครั้งหนึ่ง งานวัดสระเกศนั้นมีความเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร ที่ยังจัดมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มมีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวเนื่องกับงานเทศกาลการละเล่นทางน้ำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดให้ขุดคลองใหญ่ข้างวัดสระเกศขึ้นคลองหนึ่ง พระราชทานนามว่า “คลองมหานาค” เพื่อให้ชาวพระนครเล่นเพลงเรือ เล่นสงกรานต์ และลอยกระทง ในเทศกาลทางน้ำ ตามแบบอย่างคลองมหานาคที่ทุ่งภูเขาทอง ครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นเหตุให้เกิดงานวัดสระเกศสืบต่อมา ครั้นต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเห็นว่า ที่คลองมหานาค วัดสระเกศ เริ่มมีประชาชนมาเที่ยวงานเทศกาลทางน้ำมากขึ้นทุกปี จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ที่ริมคลองท่าน้ำวัดสระเกศ เพื่อให้ประชาชนที่มาเที่ยวงานเทศกาลได้เคารพสักการะบูชา และถวายพระนามว่า “หลวงพ่อโต” ภายหลัง เมื่อบ้านเมืองเจริญมากขึ้น จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่เชิงบรมบรรพต ภูเขาทอง หันพระพักตร์ออกสู่คลองมหานาคเช่นเดิม งานวัดสระเกศเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น และเป็นที่รู้จักของประชาชนอย่างกว้างขวางในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างภูเขาทองต่อจากรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ จนแล้วเสร็จ พระองค์ได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอินเดีย ที่ขุดได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ โดยมิสเตอร์ วิลเลียม เปปเป ชาวอังกฤษ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานไว้บนองค์บรมบรรพต ภูเขาทอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนกลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับชาวพระนครที่เก่าแก่ที่สุดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุ ไว้ในคอลัมน์ซอยสวนพลู หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ว่า“ประเทศไทยนี้มีเจดีย์และที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุมากมาย แต่ที่แน่ใจว่าพระบรมสารีริกธาตุองค์จริง คือ องค์ที่บรรจุที่บรมบรรพต ภูเขาทอง เพราะมีบันทึกเป็นจดหมายเหตุประกอบโดยละเอียดตั้งแต่ขุดพบ จนอัญเชิญจากประเทศอินเดียมาสู่ประเทศไทย ประกอบกับทางประเทศอินเดีย ก็มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานอีกด้วย ครั้นคณะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาถึงเมืองสมุทรปราการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานในวิหาร เกาะพระสมุทรเจดีย์ ทำเพื่อการเฉลิมฉลอง และที่พระสมุทรเจดีย์นี้เอง พระบรมสารีริกธาตุได้เกิดปาฏิหาริย์ ส่องแสงสว่างแวววาวออกจากองค์พระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่อัศจรรย์” นอกจากนั้น วัดสระเกศยังเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และราชวงศ์จักรี เดิมมีชื่อว่า “วัดสะแก” เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ไปราชการสงครามที่กรุงกัมพูชา ทรงทราบข่าวว่ากรุงธนบุรีเกิดจลาจล จึงยกทัพกลับมาถึงบริเวณวัดสะแก ทรงเห็นว่าเป็นสถานที่ต้องตามหลักพิชัยสงคราม จึงประกอบพิธีมูรธาภิเษกขึ้นบริเวณสระน้ำที่วัดสะแก อันเป็นที่ตั้งหอไตรในปัจจุบัน ก่อนเสด็จไปปราบจลาจลในกรุงธนบุรี ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ผ่านพิภพเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ภายหลังเมื่อทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว จึงทรงสถาปนา “วัดสะแก” เป็น “วัดสระเกศ” พระอารามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ต้องตามสถานที่ที่พระองค์ประกอบพิธีมูรธาภิเษก วัดสระเกศจึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และราชวงศ์จักรี ต่อมา สระที่นำน้ำขึ้นมาทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีมูรธาภิเษกได้ถูกถมไป เพราะถือว่าสระน้ำที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้แล้วไม่ควรที่ประชาชนทั่วไปจะใช้อีก ยังคงปรากฏอยู่แต่หอไตร นอกจากนั้น ยังมีพระตำหนักรัชกาลที่ ๑ อยู่บริเวณเดียวกับหอไตร เดิมเป็นเรือนไม้ ต่อมารัชกาลที่ ๓ ได้เปลี่ยนเป็นตึกก่ออิฐถือปูนในคราวที่บูรณะวัดสระเกศทั้งพระอาราม เพราะพระองค์เกรงว่าหากพระตำหนักยังเป็นเรือนไม้อาจจะทรุดโทรมเสียหายได้ง่าย ภายในพระตำหนักมีภาพจิตรกรรมฝาผนังลวดลายกระบวนจีน อันแสดงถึงลักษณะเฉพาะของจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ ๓ งานภูเขาทองปีนี้ จัดอย่างยิ่งใหญ่เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช้าตรู่ของวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๖.๐๐ น. มีพิธีห่มผ้าแดงย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างอลังการ ริ้วขบวนอัญเชิญผ้าแดงเคลื่อนออกจากมณฑลพิธี หน้าหอไตรวัดสระเกศ ทำประทักษิณเวียนขวารอบวัดผ่านไปตามถนนสายต่างๆ แล้วกลับเข้าวัดตามถนนหน้าพระตำหนัก จากนั้นจึงอัญเชิญผ้าแดงขึ้นทำประทักษิณห่มองค์พระเจดีย์บรมบรรพต มีประชาชนมาร่วมพิธีอย่างมากมาย ตกเย็นมีการแสดงแสง สี เสียง “ทัศนาจินตภาพ รัศมีแห่งบารมี บรมบรรพต เจดีย์ภูเขาทอง” ที่บริเวณลานโพธิ์ ย้อนเส้นทางประวัติศาสตร์การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และราชวงศ์จักรี ในบริเวณซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีมูรธาภิเษกในอดีต บอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวัดสระเกศที่เกี่ยวกับพิธีมูรธาภิเษก อันเป็นเส้นทางการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดจนประวัติความเป็นมาการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากแดนพุทธภูมิสู่สยามประเทศ ซึ่งบรรจุอยู่บนองค์พระเจดีย์บรมบรรพต มีการแสดงการออกร้านค้างานวัดภูเขาทองย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เหมือนจริง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๕๐ ปี ขึ้นไป เห็นบรรยากาศ คงอดคิดถึงวันเก่าๆ ที่เคยเที่ยวงานวัดไม่ได้ ขณะเดินขึ้นภูเขาทองมีเสียงธรรมะตามสายของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ให้ฟังตลอดทาง ฟังแล้วรู้สึกชุ่มชื่นใจ ลืมความวุ่นวายสับสนจากโลกภายนอกไปได้ชั่วขณะ ด้านบนองค์พระเจดีย์ลมพัดเย็นสบาย มองเห็นทิวทัศน์ได้รอบทิศ กรุงเทพมหานครยามค่ำคืนช่างงดงาม แสงไฟส่องสว่างเจิดจรัสทั่วพระนคร เหมือนนครหลวงแห่งนี้ไม่เคยหลับใหล ได้รับคำแนะนำจากพระสงฆ์ว่า แสงสีเขียวเรืองรองบนยอดองค์พระเจดีย์นั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งทำให้เกิดปีติ มองไปรอบข้าง ผู้คนต่างมีดอกไม้ธูปเทียนในมือ มีจิตใจมั่นคงแน่วแน่เดินทำประทักษิณเวียนขวารอบองค์พระเจดีย์ บูชาพระบรมสารีริกธาตุ บรรยากาศน่าศรัทธายิ่ง เมื่อเดินกลับลงมาด้านล้างแวะไหว้ “หลวงพ่อโต” “หลวงพ่อดำ” “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)” และ “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณรอบบรมบรรพต แต่พระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ทำให้สะดุดตามาก คือ พระพุทธรูปยืนสูงสง่า ยังไม่เคยเห็นที่วัดไหน ในกรุงเทพมหานคร ได้รับคำแนะนำจากพระสงฆ์ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ คือ “พระอัฏฐารส” พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น มีความสูงถึง ๑๐.๗๕ เมตร อายุเก่ากว่า ๗๐๐ ปี รัชกาลที่ ๓ อัญเชิญมาจากวัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก ทางวัดเปิดพระวิหารให้ประชาชนได้กราบไหว้เป็นกรณีพิเศษ นอกจากนั้น ยังมีการละเล่นต่างๆ ให้ชมมากมาย มีอาหารให้ชิมหลากหลาย เรียกว่า เที่ยวงานภูเขาทอง อิ่มทั้งบุญอิ่มทั้งท้อง มไปด้วยตึกรมบนช พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กล่าวว่า “พระเจดีย์บรมบรรพต ภูเขาทอง ได้จำลองแบบมาจากพระเจดีย์วัดภูเขาทอง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความสูงประมาณ ๑๐๐ เมตร ความกว้างโดยรอบเส้นศูนย์กลางประมาณ ๕๐๐ เมตร สร้างโดยพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึง ๓ พระองค์ด้วยกัน คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลากว่า ๕ ทศวรรษ ครั้นสร้างแล้วเสร็จ รัชกาลที่ ๕ ก็ได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอินเดีย ที่ขุดได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานไว้บนองค์บรมบรรพต ภูเขาทอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่เหตุการณ์มีความสอดคล้องกันเช่นนี้ งานเทศกาลนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ จะเริ่มด้วยการห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ก่อนวันงาน ๓ วัน เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุเริ่มขึ้นแล้ว เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ชาวพระนครให้ความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าเป็นพิธีทำให้เกิดสิริมงคล อานุภาพแห่งการบูชาพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัย เป็นความเชื่อที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ปรากฏความว่า หลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๓ พรรษา เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายแก่ชาวเมืองเวสาลี ผู้คนประสบภัยพิบัตินานาประการ ทั้งข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ภูตผีปีศาจทำอันตราย บ้านเมืองกระด้างกระเดื่อง เกิดโจรผู้ร้ายเข่นฆ่าชาวเมืองผู้บริสุทธิ์ ไม่เว้นแม้แต่สมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อพระพุทธองค์เสด็จสู่เมืองเวสาลี ความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายก็พลันหายไปสิ้น เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ประชาชนโดยทั่วไป เมื่อโรคภัยไข้เจ็บหายก็ทำให้ประชาชนมาแวดล้อมพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ตรัสว่า สิ่งที่เกิดเช่นนี้มิใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ แต่เป็นเพราะอานุภาพแห่งบุญบารมีที่พระองค์เคยเอาผ้าประดับบูชาเจดีย์ในอดีตชาติ ” งานนมัสการพระบรมสารีริกกธาตุ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) เริ่มตั้งแต่ วันที่ ๒๑ — ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้มาเที่ยวงานวัด น่าจะหาโอกาสมาสักครั้ง บรรยากาศงานวัดเก่าๆ เช่นนี้ คงมีไม่บ่อยนัก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ