ทางออก “วิกฤติหนี้นอกระบบ” แก้ได้

ข่าวทั่วไป Tuesday November 13, 2012 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทางออก “วิกฤติหนี้นอกระบบ” แก้ได้ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม (ศนธ.ยธ) เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯกระทรวงยุติธรรม ชำแหละวงจรหนี้นอกระบบ กำลังก่อวิกฤติในสังคมไทยด้วยรูปแบบวิธีการหลอกล่อให้ก่อหนี้ “เป็นแหล่งทุนที่เข้าถึงง่าย ได้เงินไว”แล้วคดโกงอย่างไม่ละอาย ทำลายชีวิตและทรัพย์สินลูกหนี้ที่เป็นเหยื่อ เผยเป็นภัยร้ายที่ต้องหาทางกำจัดให้หมดไปจากสังคมไทย หากทุกฝ่ายร่วมกันย่อมแก้ไขได้ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบหากทำได้ง่ายเราคงไม่เห็น “ใบหน้าบวมปูด โดนตบตี ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ ทำให้อับอาย ถูกฟ้อง ยึดบ้าน ยึดที่ดินทำกิน”เป็นพฤติกรรมโหดของแก๊งทวงหนี้หรือเรียกกันว่าแก๊งหมวกกันน็อก ที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้งในสังคมไทย พร้อมกับคำเตือนของเหยื่อว่าอย่าหลวมตัวไปเป็นหนี้นอกระบบ แต่เจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบก็ยังคงมีอยู่ทั่วไป แม้มีความพยายามจากหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลก็ตาม พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานะเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม (ศนธ.)กระทรวงยุติธรรม สะท้อนมุมมองการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและความคืบการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ โดยระบุว่า การกู้หนี้นอกระบบปรากฏอยู่ในสังคมไทยมาทุกยุคสมัยซึ่งมีทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ซื่อตรงไม่คดโกงกันก็มีมาก แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เอารัดเอาเปรียบจากความไม่รู้กฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินของลูกหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนจน คนยากไร้ ที่เดือดร้อนและเข้าไม่ถึงแหล่งทุนของรัฐ กระทรวงยุติธรรมตระหนักในปัญหานี้นอกระบบและผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งบั่นทอนร่างกายและจิตใจของผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างสาหัส ซึ่งพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ย้ำภารกิจให้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม(ศนธ.) ดำเนินการช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ไม่มีความรู้กฎหมายและเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น 1 ในภารกิจหลัก 3 ด้าน ของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม(ศนธ.) กระทรวงยุติธรรม คือ การให้ความช่วยเหลือแก่ “เหยื่อ” ลูกหนี้นอกระบบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ทั้งนี้กรณีที่ศูนย์จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้นั้นต้องเป็นกรณีที่มีผู้เสียหายจำนวนไม่น้อยกว่า 50 รายขึ้นไปจากเจ้าหนี้รายเดียว หรือเป็นเรื่องรุนแรงและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เป็นต้น เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ระบุว่า หนี้นอกระบบมีอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน แต่สถานการณ์ที่ทำให้ต้องเดินหน้าดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจาก ขบวนการทวงหนี้มีรูปแบบที่โหดร้าย ขัดต่อศีลธรรมอันดี และการเอารัดเอาเปรียบในเรื่องการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยในอัตราเกินกฎหมายกำหนด เช่น มีกรณีหนึ่งไปกู้เงินเจ้าหนี้นอกระบบรายหนึ่งเพื่อไปลงทุนทำธุรกิจน้ำหอมในระบบขายตรง โดยเจ้าหนี้ให้ทำสัญญาจำนอง จำนวนเงินที่กู้ 6 แสนบาทแต่เจ้าหนี้บอกว่าต้องหักค่าธรรมเนียมการกู้ ทำให้เขาได้รับเงินจริงเพียง 5 แสนกว่าบาท แต่เจ้าหนี้เขียนยอดหนี้ในสัญญา 1,120,000 บาท โดยอ้างว่าต้องเขียนตามระเบียบ จะไม่มีปัญหาอะไรถ้าชำระหนี้ตามกำหนด กรณีนี้ลูกนี้ก็รู้ยอดแต่ความที่ไม่รู้กฎหมายและต้องการเงินจึงต้องยอม และบางรายไม่รู้หรอกว่าการทำขายฝากเป็นอย่างไร และผลของการขายฝากจะเป็นอย่างไรถ้าไม่ชำระหนี้เขา เรื่องขายฝากเรามีกฎหมายจริงแต่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าผลทางกฎหมายเป็นอย่างไรหากเมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วลูกหนี้ไม่นำเงินมาชำระคืนภายในกำหนด หรือตัวอย่างกรณีชาวบ้านในจังหวัดชัยภูมิกว่า 500 รายที่ไปทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายทุนนอกระบบเพื่อไปทำงานต่างประเทศ โดยทำสัญญากู้เงินที่เกินวงเงินกู้จริงและต้องนำโฉนดที่ดินมาค้ำประกัน และเจ้าหนี้นำไปเป็นหลักฐานฟ้องร้องขอยึดที่ดินซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 100 ล้านบาท ขณะนี้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯได้ให้การช่วยเหลือ ยื่นเรื่องขอให้ศาลชะลอการบังคับคดียึดทรัพย์ พร้อมทั้งได้ส่งทีมทนายความโดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ เนื่องจากศาลมีคำสั่งพิพากษายึดทรัพย์แล้ว และในขณะเดียวกันก็เป็นทนายว่าความให้แก่กลุ่มลูกหนี้ในการฟ้องกลับเจ้าหนี้ ในกรณีที่มีพยานหลักฐาน ว่าเจ้าหนี้ได้รับเงินคืนไปแล้วแต่มีการฟ้องดำเนินคดีแก่ลูกหนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีรูปแบบการทวงหนี้แปลก ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการทำนิติกรรมอำพราง เช่นการเช่าซื้อทองเพื่อเป็นการอำพรางการกู้ยืม และมีการเก็บดอกรายวัน ถ้าไม่ชำระก็จะมีการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย ซึ่งลูกหนี้บางรายเจอปัญหาอย่างนี้ กดดันมากถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มี และกลุ่มนี้ทำเป็นขบวนการ มีการรุกคืบเข้าไปในต่างจังหวัด โดยลักษณะเป็นโต๊ะหรือศูนย์ย่อยที่เป็นสาขาของเจ้าหนี้ไปปล่อยกู้ในจังหวัดต่าง ๆ พ.ต.ท.วิชัย ฯ กล่าวว่า หนี้นอกระบบก็เหมือนสลากกินรวบ ซึ่งรูปแบบและพฤติกรรมของเจ้าหนี้และแก๊งทวงหนี้เป็นเรื่องอาชญากรรม ที่ไม่ใช่การปล่อยกู้ปกติ เป็นเรื่องที่รัฐต้องเข้าไปดูแล และคิดว่าปัญหานี้สามารถทำได้ เพียงแต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดูดายทำหน้าที่ของตนเองอย่างจริงจัง เพราะฐานทางกฎหมายผิดมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้วในเรื่องการเรียกดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด นอกจากการช่วยเหลือทางคดีแล้วสิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันคือการบรรเทาความเสียหายที่เขาได้รับ หรือยังต้องเผชิญอยู่แม้กระบวนการทางกฎหมายจะดำเนินไปก็ตาม “หากจะไปทุบหมวกกันน็อก(แก๊งทวงหนี้เรียกตามพฤติกรรมที่พวกนี้มักใช้การขี่มอเตอร์ไซด์ไปทวงหนี้) ทั้งหมดคนที่เดือดร้อนก็คือชาวบ้าน เราจะแก้ไขปัญหาให้ครบถ้วนได้อย่างไร และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทับซ้อนที่ลูกหนี้จะต้องกลับไปกู้เงินนอกระบบอีก นอกจากการแนะนำช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนของรัฐแล้ว ยังต้องดำเนินการให้ความรู้และทักษะในการบริหารจัดการชีวิตให้ปลอดหนี้ด้วย ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต้องดูพื้นฐานของแต่ละชุมชนแต่ละท้องถิ่น แล้วแก้ปัญหาไปทีละกลุ่ม พร้อมกับการให้ความรู้ด้านกฎหมาย ให้เห็นพฤติกรรมของเจ้าหนี้เพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน” เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯพยายามยุติปัญหาอย่างยั่งยืน ทำให้เขารู้พื้นฐานสิทธิทางกฎหมาย โดยมีการจัดเวทีให้ความรู้ด้านกฎหมายและรับเรื่องร้องเรียน และได้เชิญสมาคมทนายความเข้าร่วมกิจกรรมด้วย รวมทั้งได้เชิญสถาบันการเงินที่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนไปร่วมให้ความรู้และทราบถึงช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทุน และทำให้เขารู้จักพัฒนาคุณภาพชีวิต การบริหารจัดการให้ปลอดหนี้ เพราะหากจัดการไม่ได้เมื่อมีปัญหาเขาก็จะกลับไปกู้ใหม่ก็จะกลับเข้าไปสู่วงจรหนี้ไม่รู้จบอีก อย่างไรก็ตามหากหลวมตัวเข้าไปอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบแล้วเกิดปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรม(ที่เข้าหลักเกณฑ์)สามารถร้องทุกข์ได้ที่โทรศัพท์ 02-141-5440 และนับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายนเป็นต้นไปติดต่อ ศนธ.ยธ.ได้ที่ ชั้น 4 อาคารศูนย์ฝึกอบรม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทร .02-575-3344,02-575-3355 หรือ อีเมล์ ladvi@moj.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ