คณะเจ้าหน้าที่จากเวียดนามและผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง ลงพื้นที่เมืองอยุธยากรณีศึกษามหาอุทกภัย 54 ร่วมดึงบทเรียน การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมืองหลีกเลี่ยงความเสียหาจากน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Wednesday November 14, 2012 18:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย คณะนักวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นำโดย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการโครงการ ACCCRN ประเทศไทย ดร.ธงชัย โรจนกนันท์ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองจากกรมโยธาธิการฯ ดร.ริชาร์ด เฟรนด์ จากองค์กร ISET นำคณะผู้บริหารเมืองจาก 3 เมืองของเวียดนาม ได้แก่ เกิ่นเธอ (Can Tho) และดานัง (Danang) ร่วมด้วยผู้ปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและยุทธศาสตร์การศึกษาแห่งชาติ (NISTPASS) ประเทศเวียดนามเดินทางเยือนจังหวัดอยุธยา กรณีผลกระทบจากอุทกภัยปี 54 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 โดยเข้าพบ นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และว่าที่ ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีฯ เพื่อประชุมและพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยดึงบทเรียนจากครั้งมหาอุทกภัยที่ผ่านมาร่วมหามาตรการการป้องกันพร้อมหารือเกี่ยวกับแนวทางการวางแผนด้านผังเมืองที่เหมาะสมเพื่อรองรับสภาพอากาศที่รุนแรงและไม่สามารถคาดการณ์ได้ นอกจากนี้ทั้งคณะฯ ได้เดินทางลงพื้นที่รอบเกาะเมืองอยุธยา และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้ผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อครั้งที่ผ่านมา และปัจจุบันได้ใช้มาตรการป้องกันน้ำท่วม ด้วยการสร้างกำแพงกั้นน้ำคอนกรีต หรือ Flood Wall เพื่อป้องกันโรงงานจาก น้ำท่วมซึ่งอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต การเดินทางศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Asian Cities Climate Change Resilience Network (ACCCRN) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างเครือข่าย 10 เมืองใน 4 ประเทศแถบเอเชีย ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย เพื่อให้มีศักยภาพในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งการประชุมได้ให้ความสำคัญในเรื่องอุทกภัยและความเกี่ยวโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงในการใช้ที่ดินรวมถึงการวางผังเมืองที่เหมาะสม พร้อมถอดประสบการณ์จากบทเรียนราคาแพงที่ไทยได้รับเมื่อครั้งมหาอุทกภัยที่เกิดความเสียหาย ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมหาศาล เพื่อที่เวียดนามจะได้เรียนรู้และนำประสบการณ์ที่ได้ไปบูรณาการในประเทศตนเพื่อสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ดร. จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผู้อำนวยการโครงการ ACCCRN ในประเทศไทย กล่าวว่า "การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของไทยและเวียดนาม รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมืองและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้น่าจะช่วย “จุดประกาย” ความคิดและแนวทางใหม่ๆ ในการรับมือกับความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยได้” ทั้งนี้คณะผู้แทนจากเมืองและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองประเทศยังร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการรับมือระยะสั้นเพื่อลดความเปราะบางต่อการเกิดน้ำท่วมที่อาจรุนแรงขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเสริมความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัยโดยการสร้างบ้านและชุมชนในพื้นที่ปลอดภัยรวมไปถึงการมีระบบเตือนภัยที่เข้มแข็ง ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้นเป็นหน้าที่ที่ท้าท้ายขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการเป็นผู้นำ เพื่อจัดการกับปัญหาอุทกภัยและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ "อย่างไรก็ตาม ทั้งไทยและเวียดนามรวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียต้องมองให้ไกลไปกว่าการใช้มาตรการป้องกันน้ำท่วม ด้วยการสร้างกำแพงกั้นน้ำดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยควรมองหาวิธีการรับมือในระยะยาว เช่น การวางผังเมืองที่มีประสิทธิภาพมาแทน” ดร.ริชาร์ด เฟรนด์ จาก ISET กล่าวทิ้งท้าย เกี่ยวกับ ACCCRN ACCCRN หรือ โครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Asian Cities Climate Change Resilience Network) เริ่มดำเนินโครงการฯ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2552 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) เป็นจำนวนเงิน 59 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้ 10 เมืองนำร่อง ใน 4 ประเทศของภูมิภาคเอเชีย คือ ประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย มีศักยภาพและความพร้อมเพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ สำหรับประเทศไทยเมืองนำร่อง คือหาดใหญ่ และเชียงราย ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ACCCRN) www.thaicity-climate.org และ www.acccrn.org โทรศัพท์ 0-2533-3333 ต่อ 304 โทรสาร 0-2504-4826-8

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ