พุงยื่นเท่าไหร่ ตายเร็วเท่านั้น!

ข่าวทั่วไป Thursday November 15, 2012 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น บทความพุงยื่นเท่าไหร่ ตายเร็วเท่านั้น! โดย แพทย์หญิง ชนันภรณ์ วิพุธศิริอายุรแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ความอ้วนเป็นสิ่งที่หลายๆ คนล้วนเข็ดขยาด แต่หารู้ไม่ว่าในปัจจุบันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มเรื่องน้ำหนักตัวสูงกว่ามาตรฐาน และที่น่ากลัวกว่านั้นคือส่วนใหญ่มักมีรูปร่าง “อ้วนแบบลงพุง” ซึ่งคนที่อ้วนลงพุงนั้นเกิดจากการมีไขมันสะสมในช่องท้องปริมาณมากกว่าคนปรกติ ยิ่งมีเส้นรอบเอวมากเท่าไหร่ ไขมันยิ่งสะสมในช่องท้องมากเท่านั้น และไขมันที่สะสมนี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี เกิดเป็น "ภาวะโรคอ้วนลงพุง" ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ปวดตามข้อ ไขมันเกาะตับ โดยรอบเอวที่มากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตรในผู้ชายและมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตรในผู้หญิงเอเชีย ร่วมกับ 2 ใน 4 ข้อต่อไปนี้ ได้แก่ มีน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์มากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับไขมันเอชดีแอลน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศชายและน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนลงพุง ควรจะมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพิ่มการออกกำลังกายและลดน้ำหนักลงอย่างน้อยร้อยละ 7 จากน้ำหนักตัวเดิม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในอนาคต แพทย์หญิง ชนันภรณ์ วิพุธศิริ อายุรแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึ่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า สาเหตุของการเป็นโรคอ้วนนั้นเกิดได้จากปัจจัย ได้แก่ โรคอ้วนที่เกิดจากกรรมพันธุ์หรือยีนบางชนิดที่ผิดปกติหรือจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร อาทิ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีกากอาหารต่ำ ฟาสฟู๊ด ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลมและพฤติกรรมการออกกำลังกายที่น้อยลง ซึ่งปัจจุบันก็จะมีโฆษณาอาหารจำพวกนี้เยอะขึ้นทำให้เด็กๆ ไม่ค่อยอยากรับประทานผักผลไม้ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะอ้วนก็คือเกิดมาจากโรคที่มีสาเหตุ เช่น ไทรอยด์ทำงานต่ำ การรับประทานยาสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของสารสเตียรอยด์เป็นประจำ โรคที่ฮอร์โมนการเจริญเติบโตทำงานต่ำ ก็เป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้เหมือนกัน และโดยทั่วไปจะพบว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงก็จะอ้วนง่ายกว่าผู้ชาย และอายุที่อ้วนมากที่สุดจะอยู่ในระหว่างช่วง 45 — 49 ปี ก็จะอ้วนเพิ่มมากกว่าเป็น 2 เท่าของคนที่มีอายุ 5-14 ปี ส่วนคนอีกกลุ่ม คือ ผู้ที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศเป็นเวลานานๆ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือใช้พลังงานมากนักก็ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานต่ำ มักอ้วนลงพุงได้ง่าย มีไขมันสะสมมากกว่าคนปรกติ นอกจากนี้การชี้วัดความอ้วนนั้นจะดูที่ดัชนีมวลกาย ซึ่งโดยมาตรฐานของคนเอเชียที่มีน้ำหนักเกินจะมีดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตรและมากกว่าหรือเท่ากับ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรสำหรับโรคอ้วน ในปัจจุบันยังสามารถใช้วิธีเจาะเลือดตรวจไขมัน และใช้เครื่องมือทันสมัยอย่างเครื่อง Bioelectrical Impedance Analysis เข้ามาช่วยชี้วัดระดับร้อยละของไขมันในร่างกายและประเมินกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ คุณหมอชนันภรณ์ กล่าวต่ออีกว่า การที่คนเรามีไขมันสะสมในช่องท้องมากนั้นจะส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จะส่งผลให้ตับมีการสร้างน้ำตาลกลูโคสเพิ่มมากขึ้น เบต้าเซลล์ของตับอ่อนถูกทำลาย และระดับน้ำตาลในเลือดสูงตามมา นำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานในอนาคต ภาวะไขมันในเลือดที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดผลึกไขมัน ( Plaque ) เพิ่มขึ้น นำไปสู่การเกิดหลอดเลือดอุดตันเร็วขึ้น จึงมีภาวะเสี่ยงต่อโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ปัญหาความอ้วนถือเป็นปัญหาระดับชาติที่บางคนอาจใช้เวลาทั้งชีวิตเสาะแสวงหาสารพันวิธีที่จะมาลดน้ำหนัก ซึ่งคุณหมอได้แนะนำให้เริ่มต้นตั้งแต่การปรับเปลี่ยนวิธีคิด คือ มีความตั้งใจและมุ่งมั่นจริงที่จะลดน้ำหนัก ลดรอบเอว สร้างความคิดที่ดีอาจเริ่มต้นจากการหาแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง เช่น ถ้าเราสามารถลดน้ำหนักได้ก็จะลดเอวได้ ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นไปได้ของน้ำหนักที่จะลด โดยน้ำหนักจะต้องไม่ลดมากจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพ ควรลดประมาณ 5-7 % ของน้ำหนักตัวเมื่อเริ่มลด เช่น น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ควรลดประมาณ 3.5- 5 กิโลกรัมโดยอัตราการลดน้ำหนักที่เหมาะสม คือ สัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม ถึง หนึ่งกิโลกรัม ควบคุมปริมาณแคลอรีที่ได้จากอาหารให้ลดลง โดยทั่วไปวันละ 1200 กิโลแคลอรีสำหรับเพศหญิง และวันละ 1500 กิโลแคลอรีสำหรับเพศชาย พยายามรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ สิ่งสำคัญคือ ควรพยายามรักษาน้ำหนักที่ลดลงแล้วให้คงที่หรือเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด โดยเพิ่มการออกกำลังกายให้มีความหนักเพิ่มขึ้น พยายามรับประทานทานผักและโปรตีนเพิ่มขึ้น ลดอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลในการปรุงอาหาร ควรออกกำลังกายเป็นประจำ 30 — 60 นาทีต่อวัน โดยวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมประกอบด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิค 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ได้แก่ การวิ่ง การว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยานและเพิ่มการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านอีก 2 ครั้งต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว โดยไม่ควบคุมอาหารก็ไม่ทำให้น้ำหนักลดลงได้ฉะนั้นเราควรทำ 2 อย่างควบคู่กันไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้นเราควรคิดทุกครั้งก่อนที่จะรับประทานอะไรเข้าไป และท่องไว้ในใจเสมอว่า ยิ่งพุงใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น คุณหมอฝากทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ