เลือกอาหารใส่บาตรอย่างไรให้ได้บุญแท้จริง

ข่าวทั่วไป Thursday November 15, 2012 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น เลือกอาหารใส่บาตรอย่างไรให้ได้บุญแท้จริง นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ การตักบาตร คือประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะถือบาตรออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารหรือทานอื่นๆ ตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ผู้คนที่ออกมาตักบาตรจะนำของทำทานต่างๆ เช่น ข้าว อาหารแห้ง มาถวายพระ ประเพณีนี้ชาวพุทธถือกันว่าเป็นการสร้างกุศล และถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย โดยเชื่อกันว่าอาหารที่ถวายไปนั้นจะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับด้วยเช่นกัน ทำให้หลายคนเลือกสรรอาหารที่รสชาติอร่อย หรือเป็นของโปรดของแต่ละบุคคล จนลืมคำนึงถึงปัญหาสุขภาพของพระภิกษุที่จะตามมาจากอาหารที่ใส่บาตรที่ไม่ได้โภชนาการ นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า การเลือกอาหารใส่บาตรนอกเหนือจากเรื่องรสชาติของอาหารแล้ว สิ่งที่ควรจะคำนึงถึงมากกว่าก็คือสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ที่รับบิณฑบาต โดยเฉพาะโรคภัยที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ตามมา ทั้งโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคหัวใจตีบตัน ซึ่งอาจเกิดจากการฉันอาหารที่ไม่มีประโยชน์ มีไขมันหรือน้ำตาลมากเกินไป จึงอยากให้พุทธศาสนิกชนที่ไปทำบุญตักบาตร ควรจะเลือกอาหารตักบาตรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพพระสงฆ์ เช่น ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันจนเกินไป เน้นอาหารจำพวกเนื้อปลา ไข่ขาว เต้าหู้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนย เนยแข็ง ครีม ไอศกรีม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ได้แก่ เค้ก พาย คุกกี้ ไส้กรอก แฮม เบคอนหรืออาหารที่ทอดในน้ำมันมาก เช่น ปลาท่องโก๋ มันฝรั่งทอด ไก่ทอด สำหรับผลไม้ควรเลือกที่รสไม่หวานจัดจนเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ในระยะยาวได้ อาหารที่จะนำไปถวายพระควรเป็น อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิ ข้าวต้มปลาทรงเครื่อง น้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง แซนวิชทูน่า โฮลวีท ผลไม้ หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ มีไขมันน้อย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อาทิ 1. อาหารจากธัญพืช หลายๆ คนอาจสงสัยว่าธัญพืชคืออะไร สำคัญต่อร่างกายอย่างไร ธัญพืชคือพืชจำพวกหญ้าที่เรานำมาเพาะปลูก เพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดนั่นคือ ข้าวประเภทต่างๆ อย่างข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ โฮลวีท รำข้าว งาดำ ลูกเดือย เห็ด และพืชตระกูลถั่ว ธัญพืชที่ไม่ขัดสีจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ซึ่งอาหารจำพวกธัญพืชนั้นจะมีเส้นใยสูง สารอาหารครบ 5 หมู่ มีวิตามินบี อี ช่วยให้หลอดเลือดมีสุขภาพดีป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ ให้พลังงานแก่ร่างกาย ป้องกันโรคเหน็บชา ตะคริว มีใยอาหารมากช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้ใหญ่ ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก เพิ่มแคลเซียม ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอล ช่วยบำรุงระบบประสาทในสมอง ป้องกันโรคหัวใจ และมีสารแอนติออกซิแดนท์ช่วยต่อต้านมะเร็ง ช่วยบำรุงม้าม ปอด ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก ลดความดันโลหิต ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ 2. อาหารที่มีแร่ธาตุ ส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกพืชผัก ซึ่งมีวิตามินและแร่ธาตุสูง แถมยังมีเส้นใยที่ช่วยให้ขับถ่ายเป็นปกติ อาหารที่มีแร่ธาตุสูงจะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือเกาะผนังหลอดเลือด ลดคอเลสเตอรอล ฉะนั้นแร่ธาตุที่สำคัญในอาหาร ได้แก่ แคลเซียม ที่มีคุณสมบัติช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง หากขาดแคลเซียมจะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน การแข็งตัวของเลือดไม่ดี อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ตำลึง คะน้า ใบขึ้นฉ่าย นมสด ไข่ เนย กุ้งแห้ง กุ้งผอย ปลาไส้ตัน เป็นต้น, ฟอสฟอรัส ทำหน้าที่ร่วมกับแคลเซียม ฉะนั้นอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง มักจะมีแคลเซียมสูงด้วย โดยเฉพาะในผักใบเขียว นม ไข่ ถั่ว เนื้อสัตว์ต่างๆ, แมกนีเซียม ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาท การสร้างโปรตีน การใช้กำมะถันและฟอสฟอรัสในร่างกาย ซึ่งมีในพืชใบเขียว เยื่อหุ้มเมล็ดพืช เช่น รำข้าว ถ้าขาดธาตุนี้จะทำให้กล้ามเนื้อกระตุก, เหล็ก เป็นองค์ประกอบอยู่ในเลือด ควรทานอาหารที่มีวิตามินสูงๆ จะช่วยดูดซึมธาตุเหล็กดียิ่งขึ้น เช่น ตับ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ไข่แดง กุยช่าย เป็นต้น ถ้าขาดธาตุนี้จะเกิดโรคโลหิตจาง อ่อนเพลียและมีผลต่อสมอง, โซเดียม ทำหน้าที่ร่วมกับโพแทสเซียมในการควบคุมน้ำในร่างกายและการนำประสาท ถ้าขาดธาตุนี้ จะเป็นตะคริว ชัก หมดสติและเสียชีวิตได้ แต่หากทานโซเดียมมากไปอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ ธาตุนี้พบมากในเกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว นม เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผักและผลไม้ต่างๆ, โพแทสเซียม ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหดตัวของกล้ามเนื้อและนำกระแสประสาท จังหวะการเต้นของหัวใจและรักษาระดับของเหลวในเซลล์ ส่วนมากอยู่ในเนื้อสัตว์ต่างๆ นม กล้วย แลผักใบเขียวต่างๆ, วิตามิน เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน แต่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ แบ่งออกเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค กับวิตามินที่ละลายน้ำได้แก่ วิตามินบีต่างๆ และวิตามินซี พบมากในผักและผลไม้ตระกูลส้ม, กรดโฟลิก มีความสำคัญในกระบวนการสร้าง DNA ซึ่งสร้างเม็ดเลือดแดง การพัฒนาสมองและไขสันหลัง พบมากในตับ เนื้อ นม เห็ด ถั่วชนิดต่างๆ ข้าวโพด บล็อกโคลี อะโวคาโด 3. ผักเพื่อสุขภาพ ผักที่จะนำไปประกอบอาหารควรเลือกซื้อตามฤดูกาล เพราะจะได้ผักที่สดและราคาถูก โดยเฉพาะผักที่มีเครื่องหมาย “ ผักอนามัย” หรือผักจากโครงการผักปลอดสารพิษเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วใช้มือถูบนใบผักเบาๆ จะช่วยให้สารพิษตกค้างหลุดออกได้ง่าย เมื่อมั่นใจแล้วก็ต้องดูว่าผักแต่ละชนิดมีสรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร อย่างเช่น กระเทียม มีฤทธิ์รักษาโรคหัวใจ วัณโรค ไทฟอยด์ โรคปอด หืด ช่วยลดคอเลสเตอรอล และความดัน ผักกระเพรา มีเบตาแคโรทีนป้องกันโรคมะเร็งและโรคหัวใจขาดเลือด มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ขิงข่ามีสรรพคุณทางยาคล้ายกัน ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด เฟ้อ แน่นจุกเสียด มะระ มีวิตามินซีและเบตาแคโรทีน น้ำคั้นจากผลมะระใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ หัวปลี มีกากใยอาหารมาก จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ มีธาตุเหล็กไปบำรุงเลือด ทำให้ผิวพรรณดี เพียงแค่เราใส่ใจในการเลือก “อาหารใส่บาตร” และคำนึงถึงสุขภาพของพระสงฆ์ให้มากขึ้นอีกนิดก็จะช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งได้แล้วครับ คุณหมอสุขุมทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ