บีโอไอส่งท้ายปีงบประมาณ 2547 อนุมัติส่งเสริม 11 โครงการรวด มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท

ข่าวทั่วไป Thursday September 30, 2004 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--บีโอไอ
- กิจการตรวจวิเคราะห์โรคพืชปศุสัตว์หรือสัตว์น้ำ
- กิจการผลิตแผ่นยิปซั่ม
- กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ
- กิจการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี 2 โครงการ
- กิจการขนส่งทางเรือจำนวน 5 โครงการ
- กิจการผลิตเคมีภัณฑ์พื้นฐาน (ETHYL ALCOHOL)
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ ) ที่ม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุน จำนวน 11 โครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 57,313 ล้านบาท ดังนี้
- กิจการตรวจวิเคราะห์โรคพืชปศุสัตว์หรือสัตว์น้ำ ในนามบริษัท ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร ตั้งขึ้นเพื่อบริการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี จุลชีววิทยา หรือกายภาพ ปีละประมาณ 889,000 ตัวอย่าง โดยจะตั้งห้องปฏิบัติการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร, สงขลา, ขอนแก่น, ฉะเชิงเทรา, สมุทรสาครและเชียงใหม่ มีมูลค่าการลงทุน 1,950 ล้านบาท ห้องปฎิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีโดยรัฐให้งบประมาณสนับสนุน 1,950 ล้านบาท แบ่งเป็นทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท และเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยจากกระทรวงการคลัง 1,700 ล้านบาท โดยให้ใช้คืนในปีที่ 7 ของการดำเนินการ เพื่อให้เป็นหน่วยงานกลางสำหรับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าอาหารทั้งการนำเข้าและส่งออก
การเปิดให้การส่งเสริมดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าปัจจุบันมีผู้ผลิตบางรายเท่านั้นที่มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบเอง ขณะที่เอกชนที่ให้บริการสามารถตรวจสอบได้บางรายการเท่านั้น แต่โครงการที่ขอรับส่งเสริมนี้จะสามารถตรวจสอบได้ทุกรายการ โดยจะเน้นผู้ส่งออกเป็นหลัก ทั้งนี้หลังจากตรวจสอบแล้วจะส่งผลการตรวจให้หน่วยงานราชการ เช่น กรมประมง กรมปศุสัตว์ เซ็นรับรองกำกับสินค้าที่จะส่งออก ซึ่งประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเหล่านี้ ปีละกว่า 700,000 ล้านบาท บีโอไอจัดให้โครงการนี้เป็นกิจการที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยจะได้รับการยกเว้นเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี โดยไม่จำกัดวงเงิน และได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
- กิจการส่งเสริมขยายกิจการผลิตแผ่นยิปซั่ม ของบริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ยิปซั่ม จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 2,374 ล้านบาท ได้รับการส่งเสริมเพื่อขยายกิจการผลิตแผ่นยิปซั่ม ขนาด 1.20*2.4 เมตร หนา 9 มม.และ 12 มม. ภายใต้ตราสินค้า BPB โดยจะส่งออกต่างประเทศร้อยละ 50 ได้แก่ เวียดนาม ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เป็นต้น และขายแก่ลูกค้ากลุ่มบริษัทก่อสร้างในประเทศร้อยละ 50 มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 280,000 ตัน
บีโอไอให้ส่งเสริมโครงการดังกล่าว เพื่อรองรับความต้องการบริโภคแผ่นยิปซั่มที่เพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของภาคการก่อสร้างในประเทศ และความต้องการบริโภคของตลาดต่างประเทศ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ทั้งนี้มูลค่าภาษีที่ได้รับยกเว้นสูงสุดไม่เกินเงินลงทุน
ปัจจุบัน มีผู้ผลิตแผ่นยิปซั่มในประเทศ จำนวน 5 รายเปิดดำเนินการแล้ว 4 ราย รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้นปีละประมาณ 613,000 ตัน สำหรับบริษัท ไทยผลิตภัณฑ์ยิปซั่น ปัจจุบันมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 225,000 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.7 ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ และมีสัดส่วนการตลาดในประเทศประมาณร้อยละ 40 ทั้งนี้คาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคจะมีการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2547
- กิจการส่งเสริมขยายกิจการผลิตชุดเกียร์ส่งกำลัง (TRANSMISSION) ของบริษัท ไอชิน เอไอ(ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 1,136 ล้านบาท โครงการนี้เป็นการลงทุนของบริษัท ไอชิน เอไอ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีชุดเกียร์ส่งกำลังที่ใช้โดยผู้ผลิตรถส่วนใหญ่ของญี่ปุ่น สำหรับโครงการที่ได้รับส่งเสริมเป็นกิจการผลิตชุดเกียร์ส่งกำลังสำหรับรถกระบะขนาด 1 ตัน เพื่อป้อนธุรกิจการประกอบรถกระบะรุ่นใหม่ เพื่อการส่งออกของมิตซูบิชิและโตโยต้า โดยมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 139,000 ชุด และนับเป็นผู้ผลิตชุดเกียร์ส่งกำลังสำหรับรถยนต์เพียงรายเดียวในประเทศไทย
นอกจากนี้ บริษัทยังจำหน่ายชิ้นส่วนย่อยของชุดเกียร์ส่งกำลัง เช่น เฟือง เสื้อเกียร์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นอะไหล่ โครงการจะใช้วัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ ชิ้นส่วนโลหะทุบและหล่อ มูลค่า 925 ล้านบาท/ปี วัตถุดิบต่างประเทศ ได้แก่ ชิ้นส่วนต่างๆ เช่น Pin ,Ringและ Bolt มูลค่า 734 ล้านบาท/ปี มีการจ้างงานคนไทย 180 คน โดยจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศร้อยละ 80 ตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งโครงการนี้จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 7 ปี
- กิจการการผลิต OLEFINS และ LDPE ของ นายวิโรจน์ มาวิจักขณ์ โครงการนี้เป็นบริษัทใหม่ที่ร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เงินลงทุน 17,412 ล้านบาท มีการจ้างงานคนไทย 200 คน โครงการนี้จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ดำเนินการผลิต เอทิลีน ประมาณ 410,000 ตัน/ปี และโพรไพลีน ประมาณ 10,000 ตัน/ปี และ LDPE (LOW DENSITY POLYETHYLENE) ปีละประมาณ 300,000 ตัน เป็นสารปิโตรเคมีขั้นต้นที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางและปลาย
ไพรโพลีน และเอทิลีนร้อยละ 80 ที่ผลิตได้จากโครงการนี้จะส่งเข้าโรงผลิตเม็ดพลาสติก LDPE ซึ่งเม็ดพลาสติก LDPE เหมาะสำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรมการผลิต เช่น การผลิตบรรจุภัณฑ์ อาหารและเครื่องสำอาง เป็นต้น ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
ทั้งนี้ การผลิตและจำหน่าย LDPE ของโครงการนี้จะเป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเป็นหลัก และส่งออกบางส่วน เนื่องจากหลังภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลังปี 2542 ปริมาณความต้องการ LDPE ในประเทศสูงกว่าความสามารถในการผลิตตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ทำให้ต้องมีการนำเข้า LDPE มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าในช่วงแรกของการดำเนินการ ปี 2553-2554 จะผลิตและจำหน่ายในประเทศประมาณ 200,000 ตันต่อปี
- กิจการขนส่งทางเรือ ของกลุ่มพรีเชียสจำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย บริษัท พรีเชียส ไดมอนด์ เงินลงทุน 782 ล้านบาท , บริษัท พรีเชียส สโตนส์ ชิปปิ้ง จำกัด เงินลงทุน 878 ล้านบาท, บริษัท พรีเชียส รีเวอร์ส จำกัด เงินลงทุน 878 ล้านบาท , บริษัท พรีเชียส ออร์คิด จำกัด เงินลงทุน 801 ล้านบาท, และบริษัท พรีเชียส มิเนอรัลส์ เงินลงทุน 646 ล้านบาท จำกัด รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,985 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นโครงการของกลุ่มพรีเชียส ดำเนินธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแบบเทกอง (Bulk Carrier) ในลักษณะไม่ประจำเส้นทาง ขึ้นกับความต้องการของผู้เช่า เพื่อขนส่งสินค้าเทกอง ได้แก่ สินค้าทางการเกษตร ข้าว เหล็ก ปุ๋ย ถ่านหิน ไม้ซุง โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี เหมือนกันทั้ง 5 โครงการ
- กิจการการผลิต ETHYL ALCOHOL ของ นาย ZHANG LISHENG เงินลงทุน 1,432 ล้านบาท ได้รับส่งเสริมเพื่อผลิต ETHYL ALCOHOL ที่มีความบริสุทธิ์ของแอลกอฮอล์ไม่เกินร้อยละ 95 เพื่อการส่งออกเพียงอย่างเดียวโดยใช้วัตถุดิบในประเทศ ได้แก่ มันสำปะหลังเส้นและสารเคมี มูลค่ารวม 841.38 ล้านบาท/ปี มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 99,000,000 ลิตร โดยเป็นการร่วมทุนของบริษัท SHANG DONG JINYI MENG GROUP จำกัด ของจีน และบริษัท กิมฟอง จำกัด ของไทย มีการจ้างแรงงานไทย 182 คน ตั้งโรงงานในเขตสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด จ. ระยอง โครงการนี้จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
การผลิต ETHYL ALCOHOL ในโครงการนี้จะผลิตจากมันสำปะหลัง โดยนำไปต้มจนได้แป้ง จากนั้นนำไปหมักแล้วกลั่นได้ความบริสุทธิ์ร้อยละ95 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม สุรา ซึ่ง ผลผลิตที่ได้จะส่งออกทั้งสิ้น โดยมีตลาดหลักคือประเทศจีน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นทุกปี จึงไม่ส่งผลกระทบกับผู้ผลิต ETHYL ALCOHOL ชนิดเดียวกันภายในประเทศ ส่วนน้ำเสียที่ได้จากกระบวนการผลิตประมาณวันละ 5,000 ลูกบาศก์เมตร จะนำไปผลิตแก๊สชีวภาพก่อนถูกปล่อยลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
- กิจการส่งเสริมขยายกิจการผลิตสารอะโรเมติกส์ ของบริษัทอะโรเมติกส์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) โครงการนี้จะทำการผลิตสารอะโรเมติกส์ ประกอบด้วย PARAXYLENE ประมาณ ปีละ 565,000 ตัน ,BENZENE ปีละ 300,690 ตัน,TOLUENE ปีละ 60,000 ตัน ,REFORMATE ปีละ 290,000 ตัน ,NAPHTHA,HEAVYAROMATICS ปีละ 16,810 ตัน และLPG ปีละ 319,230 ตัน เงินลงทุน 29,024 ล้านบาท สัดส่วนการถือหุ้นของคนไทยร้อยละ 91.7 มีการจ้างงานคนไทย 192 คน ตั้งโรงงานผลิตที่เขตอุตสาหกรรมของบริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด จ.ระยอง โดยได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี
โครงการนี้จะดำเนินการผลิต PARAXYLENE เป็นหลัก เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศและภูมิภาคเอเชียที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2547ความต้องการใช้ PARAXYLENE อยู่ที่ 925,000 ตันและคาดว่าในปี 2551 จะเพิ่มขึ้นเป็น1,755,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณมากกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ โครงการนี้นอกจากขยายการผลิต PARAXYLENE แล้วยังสามารถผลิต REFORMATE และ TOLUENE เพื่อทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มเติมจากภายนอก โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จะจำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 70 ส่งออกร้อยละ 30 โดย PARAXYLENE จำหน่ายเป็นวัตถุดิบใช้ในการผลิต PTA ให้กับ บริษัท สยามมิตซุย พีทีเอ จำกัด หรือ บริษัท อินโดรามา ปิโตรเคมี จำกัด ส่วน BENZENE จำหน่ายให้ผู้ผลิต PHENOL ในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ส่วน NAPHTHA จำหน่ายเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตโอเลฟินส์ให้กับบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด(มหาชน) และ LPG จำหน่ายให้ กับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง--จบ--
--อินโฟเควสท์ (พห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ