"กรีนพีซ"เสนอ วิธีจัดการมะละกอจีเอ็มโอที่ถูกต้องย้ำผู้เข้าทำลายมะละกอต้องสวมชุดป้องกันปนเปื้อน

ข่าวทั่วไป Thursday September 30, 2004 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--Greenpeace Southeast Asia
กรีนพีซเสนอวิธีการจัดการการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอตามมาตรฐานการจัดการมลพิษสากล เพื่อไม่ให้ละอองเกสร และเมล็ดหลุดรอดจากพื้นที่ควบคุม พร้อมเสนอแผนปฏิบัติการเร่งด่วนทำลายมะละกอจีเอ็มโอ ชี้หากทำลายอย่างผิดวิธี และไม่เร่งดำเนินการจะทำให้เกิดการแพร่กระจายมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
นางสาวภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ออกมายอมรับว่า มีการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอในแปลงเกษตรกรจริง ก็ได้ประกาศต่อสาธารณชนว่าได้ทำลายแปลงมะละกอจีเอ็มโอภายในสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น และในแปลงเกษตรกรแล้ว โดยตัดโค่นต้นโดยไม่ได้เก็บผลหรือดอกก่อน แล้วฝังกลบทั้งต้น ผล ดอก และเมล็ดรวมกัน และคนงานไม่ได้ใส่ชุดป้องกันใดใดทั้งสิ้น การกระทำที่ไม่ถูกวิธีนี้อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของละอองเกสรและเมล็ดพันธุ์ออกนอกเขตปนเปื้อนได้
ภัสน์วจีกล่าวว่า การปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอสู่แปลงเกษตรกรถือเป็นมลพิษทางพันธุกรรม ดังนั้นในการจัดการการปนเปื้อนจึงต้องอิงอยู่กับหลักการจัดการการปนเปื้อนมลพิษที่เป็นสากล คือไม่ทำให้มลพิษแพร่กระจายออกจากพื้นที่ควบคุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปนเปื้อนทางพันธุกรรมถือว่ามีลักษณะพิเศษ นั่นคือจีเอ็มโอเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยังสามารถแพร่พันธุ์ได้ การป้องกันการแพร่กระจายจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
“ในแปลงมะละกอจีเอ็มโอมีละอองเกสรและเมล็ดที่แพร่พันธุ์ได้ โดยละอองเกสรจะมีอายุถึง 7 วัน และเมล็ดมะละกอสามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นานถึง 3 ปี หากผู้เข้าไปทำลายไม่สวมชุดป้องกัน และไม่ชำระล้างอย่างถูกวิธี ละอองเกสรอาจติดตามเนื้อตัว ผม และเครื่องแต่งกาย ส่วนเมล็ดพันธุ์อาจติดรองเท้าออกมาได้ โอกาสที่ผู้เข้าทำลายมะละกอจีเอ็มโอจะเป็นต้นเหตุให้มะละกอจีเอ็มโอแพร่กระจายออกนอกพื้นที่ก็จะมีมาก” ภัสน์วจีกล่าว
ในหลักการสากล ผู้เข้าจัดการกับมลพิษจะต้องสวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันภัยเฉพาะบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) ซึ่งประกอบด้วยชุดไทเวก (Tyvec) ซึ่งเป็นเสื้อกางเกงทำจากกระดาษสีขาว มีคุณสมบัติในการป้องกันฝุ่น ละอองน้ำ สารเคมีบางชนิด และยาฆ่าแมลง หมวก แว่นตา ผ้าปิดปาก และรองเท้าบูท ในกรณีจัดการกับมลพิษทางพันธุกรรมจะต้องชำระล้างชุดและอุปกรณ์ก่อนออกจากพื้นที่ควบคุม เพื่อป้องกันไม่ให้ละอองเกสรและเมล็ดพันธุ์ติดตัวออกมาภายนอกแปลง
นอกจากนี้ กรีนพีซเสนอ “แผนปฏิบัติการเร่งด่วนในการจัดการกับการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโออย่างถูกวิธี” ซึ่งเป็นแผนที่เป็นรูปธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ทันที
เนื้อหาสำคัญในแผนนี้ได้แก่ กำหนดแหล่งกำเนิดการปนเปื้อน ซึ่งในที่นี้คือแปลงทดลองมะละกอจีเอ็มโอสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่นของกรมวิชาการเกษตร กำหนดขอบเขตพื้นที่แพร่กระจายโดยดูจากรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับเมล็ดพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอไปจากสถานีวิจัยแห่งนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็วเพื่อตรวจสอบมะละกอทุกต้นที่มีที่มาจากสถานีวิจัยฯ ขอนแก่นและทำลายมะละกอจีเอ็มโอที่พบว่าเป็นจีเอ็มโอรวมทั้งผลและเมล็ดมะละกอต้นอื่นๆ ในสวนนั้นและสวนใกล้เคียงในระยะ 30 กิโลเมตร สวมชุดสำหรับป้องกันการปนเปื้อนที่มิดชิดในขณะเก็บตัวอย่างและทำลายมะละกอจีเอ็มโอ ชำระล้างก่อนออกจากพื้นที่ที่มีการปนเปื้อน และเก็บเครื่องแต่งกายสำหรับป้องกันการปนเปื้อนไว้ในถุงอย่างมิดชิดเพื่อให้ละอองเกสรหมดความสามารถในการแพร่พันธุ์ เก็บดอกและผลสุกก่อนทำลายต้นมะละกอเพื่อป้องกันละอองเกสรและเมล็ดพันธุ์แพร่กระจาย ทำลายเมล็ดของผลสุกด้วยการบดให้ละเอียดหรือเผา ขุดรากถอนโคนลำต้น ฝังกลบต้นและเนื้อมะละกอในพื้นที่ควบคุม และมีมาตรการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบภายหลังการทำลายเป็นระยะเวลา 3-5 ปี
“การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการนี้ เป็นสิ่งจำเป็น เพราะการจัดการอย่างขาดหลักการและความเชี่ยวชาญจะยิ่งทำให้การปนเปื้อนแพร่กระจาย อาจเหมือนกรณีไข้หวัดนกได้” ภัสน์วจีกล่าว
ในแผนปฏิบัติกานี้ กรีนพีซยังเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบชดเชยค่าเสียหายให้กับเกษตรกรที่นำมะละกอจีเอ็มโอไปปลูกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจาก มะละกอจีเอ็มโอเป็นพืชต้องห้าม และยังอยู่ในขั้นทดลองโดยสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น อีกทั้งยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม โทร. 02 272 7100 ต่อ 119
เอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ เจ้าหน้าที่ประสานงานสื่อมวลชน โทร. 02 272 7100 ต่อ 126--จบ--
--อินโฟเควสท์ (อบ)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ