แดนสนธยา ตอน “ของเล่นจีนโบราณ” สะท้อนถึงวัฒนธรรมภูมิปัญญาและความรักของพ่อแม่

ข่าวทั่วไป Friday October 1, 2004 11:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
นานนับกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ของเล่นจีนโบราณ มีความหมายมากกว่าของเล่นที่สร้างความสุข แต่เพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย คอยปกป้องเด็ก ๆ ซึ่งผลิตด้วยฝีมือของพ่อแม่เองเสียส่วนใหญ่ เป็นการสะท้อนความรักที่มีต่อลูก ทัศนคติ ความคิด และวัฒนธรรม รวมถึงภูมิปัญญา โดยของเล่นชิ้นแรกของเด็กชาวจีนทุกครัวเรือนคือ “เจ้าเสือน้อย” ที่ทำหน้าที่ปกป้องเด็ก ๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่า พร้อมกับของเล่นจีนโบราณอีกหลายชนิด เช่น ตุ๊กตาเต้นรำ ที่ช่วยเสริมสร้างจินตนาการ และเกมปริศนา “9 ห่วง” ที่ช่วยฝึกทดสอบสติปัญญาและไหวพริบ นำเสนอผ่านรายการแดนสนธยา ในวันจันทร์ที่ 4 — พุธที่ 6 ตุลาคมศกนี้ ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี เวลาใหม่ 18.15 — 18.45 น
ณ หมู่บ้านหยาน ในเขตเชี่ยนหยาง จังหวัดส่านซีของจีน มีชื่อในการทำเจ้าเสือน้อย ผู้หญิงทุกคนในหมู่บ้านต้องหัดทำของเล่นชิ้นนี้ เป็นงานละเอียดอ่อนต้องใช้เวลา 4-5 วันถึงจะเสร็จ แต่ทั้งแม่และยายยินดีทำด้วยความเต็มใจ เจ้าเสือน้อยไม่เพียงแต่ช่วยปัดเป่าความชั่วร้าย แต่สิ่งที่สำคัญยังเป็นสิ่งแทนความรักจากครอบครัว ส่วนที่ทำยากที่สุดของเจ้าเสือน้อยคือการปักลวดลาย ของสัตว์ที่มีพิษทั้ง 5 อย่าง คือ ตะขาบ ตุ๊กแก แมงมุม งู และแมงป่องบนตัวเจ้าเสือน้อยจึงกลายเป็นสิ่งมงคลที่ได้รับการคุ้มครองจากพ่อแม่ เจ้าเสือน้อยจึงเปรียบเสมือนภูติพิทักษ์ประจำตัวของเด็กเป็นของเล่นชิ้นแรกของเด็กชาวจีน เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 3 พันปีก่อน ตามประเพณีแล้ว “เจ้าเสือน้อย” คือของรับขวัญในวันที่ทารกมีอายุครบ 1 เดือน เจ้าเสือน้อยมีหลากสีสัน เป็นตัวแทนถึงพรเรื่องต่าง ๆ สีเหลือง อวยพรให้เด็กสมบูรณ์ สีดำ ให้เด็กเอาการเอางาน สีเขียว หมายถึงชีวิตและความหวัง แต่สีมงคลที่สุดในวัฒนธรรมจีน เหมาะกับทุกเทศกาล และนำ โชคลาภความมั่งคั่งมาให้คือสีแดง นอกจากนี้ยังมี “ตุ๊กตาดินเหนียว” ที่ถือเป็นต้นแบบของตุ๊กตาโชคลาภในปัจจุบัน จากมณฑลเจียงซู ที่เชื่อกันว่าจะนำความร่ำรวยมาสู่คนที่ครอบครอง “ลุงกระต่าย” ที่มาจากมณฑลชานตง แต่ทุกวันนี้ของเล่นที่เป็นสิ่งมงคลยังพอหาซื้อได้ตามเมือง ใหญ่ ๆ ทว่าตามธรรมเนียมปฎิบัติเพราะเป็นสิ่งมงคลพวกเขาจึงวางของพวกนั้นไว้บนหิ้งบูชา
หวัง เหลียง ไห่ นักวิจัยจากคณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยชิงหัว ได้สะสมของเล่นจีนมากว่า 20 ปี งานวิจัยของเขาได้ค้นพบความเชื่อที่มีต่อของเล่นของจีนในยุคต้น ๆ แต่ต่อมาเมื่อพบวิธี ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ของเล่นมงคลจึงไม่ได้รับการเหลียวแล ด้วยเหตุนี้จึงเหลือของเล่นตกทอดมาถึงทุกวันนี้น้อยชิ้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ของเล่นในสมัยราชวงศ์ซ่ง มีการพัฒนามากขึ้น ประสพความสำเร็จกับการทำของเล่นมากกว่าราชวงศ์ก่อนหน้านั้น มีทั้งที่ประเทืองปัญญา เกมต่าง ๆ และของเล่นตามฤดูกาล จากที่ถูกมองว่าเป็นแค่ของเล่น ชาวจีนเริ่มพัฒนาของเล่นโดยเน้นเพื่อการศึกษา หรือเพื่อเสริมสร้างปัญญาให้มากขึ้น ของเล่นหลายชิ้นจึงออกแบบบนพื้นฐานของฟิสิกส์ทั่วไป เพื่อกระตุ้นจินตนาการของพวกเด็ก เช่น เจ้าลิงโยกเยก, รถเข็นนางแอ่น แต่ชิ้นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมาจากปักกิ่ง คือตุ๊กตาเต้นรำ ที่มีขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง โดยได้รับอิทธิพลมาจากปักกิ่ง และสร้างความสุขให้ชาวจีนมานานกว่าร้อยปี ท่าเต้นของตุ๊กตาเหล่านี้เลียนแบบท่าทางของตัวละครที่มีชื่อจากงิ้วปักกิ่ง ตุ๊กตาเต้นรำเป็นแบบให้กับของเล่นสมัยใหม่แต่มันเองกลับกลายเป็นของล้าสมัยสำหรับเด็กยุคใหม่
แต่ถ้าเป็นการทดสอบสติปัญญาแล้วของเล่นจีนโบราณซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด และมีอิทธิพลถึงทุกวันนี้คือเกมปริศนา เกมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเรียกกันว่า “เกม 9 ห่วง” ชาวจีนได้ประยุกต์ทฤษฎีทางเรขาคณิตมาใช้ในเกมนี้ ตั้งแต่เมื่อ 2 พันปีมาแล้ว ในช่วงศตวรรษที่ 16 เกมนี้ได้แพร่สู่โลกตะวันตก และสร้างความงุนงงให้แก่นักวิชาการทั้งหลาย วิธีเดียวเท่านั้นที่จะถอดห่วงทั้งหมดได้คือทำตามกฏและตามขั้นตอนทั้งการถอดห่วงออกและจัดใหม่อย่างเคร่งครัดมีขั้นตอนทั้งหมด 341 ขั้นตอน ถ้าพลาดจะต้องเริ่มต้นใหม่ เกมฝึกสมาธินี้จึงเป็นการฝึกเด็กให้หาทางชนะอุปสรรค ฝึกการแก้ปัญหาจากหลายมุมมอง ฝึกความอดทน มีความคิดสร้างสรรค์
ในบรรดาของเล่นในสมัยก่อนของจีน ของเล่นที่มีอิทธิพลและช่วยให้เด็ก ๆ ทั่วโลกเรียนรู้มากที่สุด คือแทงแกรม แทง หมายถึงจีน ส่วนแกรมมาจากไดอะแกรม ในช่วงศตวรรษที่ 12 เกมที่ชาวจีนนิยมเล่นกันมากที่สุดคือ การนำเอาโต๊ะน้ำชา 7 ตัวมาวางต่อกันและได้พัฒนากลายเป็นแทงแกรมในที่สุด ทุกวันนี้ประเทศต่าง ๆได้สร้างแทงแกรมในสไตล์ของตัวเอง เป็นที่ชื่นชอบทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยไม่คาดคิดว่าเกมนี้มีมาแต่สมัยโบราณแล้ว
อย่างไรก็ตามของเล่นที่เก่าแก่ที่สุดของจีนมักทำมาจากดินเหนียว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะสำหรับของเล่นของจีน เช่น ดินเหนียว ไม้ แก้ว และแป้งปั้น ซึ่งแม่จะเป็นผู้สร้างสรรค์ให้เป็นรูปต่าง ๆ เช่น หมู ไก่ หมา และม้า ของเล่นทั้ง 4 ชิ้น สะท้อนถึงประเพณีในท้องถิ่นที่ชาวบ้านเรียกกันว่า เหมียนหัว รูปทรงของแป้งปั้นจะต่างกันไปตามฤดูกาล เทศกาลลานเทิน จะปั้นแป้งเป็นรูปเด็กน้อย เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง จะปั้นเป็นรูปนางเงือก เทศกาลเรือมังกร จะปั้นเป็นแมลงต่าง ๆ รวมทั้งปั้นเป็นรูปหน้าอกคู่หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นเครื่องรางที่ช่วยให้เด็กได้รับนมจากอกแม่อย่างเต็มอิ่มจะได้เติบโตแข็งแรง เป็นการรับขวัญเด็กในโอกาสครบ 1 เดือน
ในอดีตเด็กจีนเล่นของเล่นที่ผลิตขึ้นตามแบบของจีน แต่วันนี้เปลี่ยนไป ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 จีนคือผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ของเล่นที่ผลิตในจีนทุกวันนี้ ผลิตตามรูปแบบของเล่นจากต่างประเทศ ไม่ใช่ของเล่นที่คงเอกลักษณ์จีนแม้แต่น้อย ของเล่นในจีนจะค่อย ๆ หมดความเป็นจีนไป นี่เป็นปัญหาสำคัญท่ามกลางเทคโนโลยีที่ทันสมัย การไหลบ่าทางวัฒนธรรมตะวันตกจะทำให้ของเล่นแบบเดิม ๆ ค่อย ๆ หายไป นักออกแบบของเล่นและผู้ผลิต เชื่อว่านี่เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข ของเล่นจีนโบราณอันทรงคุณค่าจะถูกกลืนหายไปหรือไม่ เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ติดตามได้ในรายการแดนสนธยา วันจันทร์ที่ 4- วันพุธที่ 6 ตุลาคมศกนี้ ตั้งแต่เวลา 18.15-18.45 น ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร.0-2434-8300
สุจินดา, แสงนภา--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ