Survival Games, A Science Performance

ข่าวบันเทิง Tuesday November 27, 2012 09:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--B-Floor Theatre Wellcome CollectionPresents A ‘B-Floor’ ‘s Production ‘Survival Games’ : A Scientific Performance ไม่บ่อยนักที่วิทยาศาสตร์จะมาบรรจบและร่วมมือกับศิลปะ ‘Wellcome Collection’ (หน่วยงานหนึ่งของ ‘Wellcome Trust’ องค์กรหนึ่งในสหราชอาณาจักรที่ให้ทุนสำหรับโครงงานวิจัยค้นคว้าทางวิยาศาสตร์ในระดับสากล) ได้มอบทุนในโครงการ ‘Art In Global Health’ ให้กับศิลปินใน 6 ประเทศทั่วโลกสร้างสรรค์ผลงานศิลปะซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และหนึ่งในนั้นคือ ‘B-Floor’ กลุ่มละครร่วมสมัยแถวหน้าของเมืองไทยกับการแสดงแนววิทยาศาสตร์ชุด ‘Survival Games’ จากการที่บีฟลอร์ได้มีโอกาสติดตามศึกษาการทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคมาลาเรียและเมลิออยด์ของบุคลากรในศูนย์วิจัยเวชศาสตร์เขตร้อนอันเป็นการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Wellcome Trust Mahidol-Oxford Tropical Medicine Research Unit (MORU) in Bangkok) ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์การแสดง “การต่อสู้ตลอดกาลระหว่างเผ่าพันธุ์ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรคกลายพันธุ์เมื่อต่างฝ่ายต่างต้องการจะมีชีวิตรอด” การแสดงชุด ‘Survival Games’ คือความน่าตื่นเต้นของทั้งวงการศิลปะร่วมสมัยและวิทยาศาสตร์ไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมกราคม 2556 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ‘Survival Games’ กำกับการแสดงโดย ‘ธีระวัฒน์ มุลวิไล’ และ ‘นานา เดกิ้น ’ 2 ผู้กำกับฯ ของกลุ่มบีฟลอร์ซึ่งฝากผลงานการแสดงมาแล้วมากมายทั้งในและต่างประเทศ ร่วมทีมด้วยนักแสดงซึ่งเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์บนเวที เสริมความน่าตื่นตาด้วยเทคนิคการแสดงเงาของกลุ่มละคร ‘พระจันทร์พเนจร’ ‘Survival Game’ จัดแสดงเวลา 20.00 น. ระหว่างวันที่ 10-14 มกราคม และ 17-21 มกราคม 2556 ณ หอประชุมใหญ่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยทาง ‘Wellcome Collection’ จะเปิดให้ผู้ชมได้เข้ารับชมทั้งหมด 10 รอบการแสดงฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยสำรองที่นั่งได้ที่หมายเลข 089 167 4039 หรือ email:bfloortheatre@gmail.com ข้อมูลเพิ่มเติม www.bfloortheatre.com หมายเหตุ* ‘Wellcome Trust’ คือกองทุนอิสระที่มีฐานอยู่ในสหราชอาณาจักรก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1936 เพื่อสนับสนุนโครงงานวิจัยทางทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่เน้นศึกษาประเด็นที่จะช่วยพัฒนาปัญหาสุขภาพทั่วโลกของมนุษย์โดยปราศจากผลประโยชน์ทางการค้าและการเมือง www.wellcome.ac.uk ‘Wellcome Collection’ เป็นหนึ่งในหน่วยงานและพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ ‘Wellcome Trust’ มีที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษนอกจากรวบรวมผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่แล้วยังส่งเสริมให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ที่สะท้อนถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างวิทยาศาสตร์ การแพทย์และชีวิตมนุษย์อีกด้วย พื้นที่ของเวลล์คัมคอลเลคชั่นเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในอาคารของเวลล์คัมทรัสประกอบไปด้วยแกลเลอรี่ 3 ห้องซึ่งจะใช้จัดนิทรรศการให้สาธารณะชนเข้าชม, ห้องสมุด, ร้านกาแฟและร้านหนังสือ ‘B-Floor Theatre’ คือกลุ่มละครร่วมสมัยแถวหน้าของเมืองไทยที่มีความโดดเด่นทางด้าน Physical Theatre ที่เน้นการสื่อสารโดยใช้ร่างกายของนักแสดงและ Visual ตลอดระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาได้รับเชิญให้ไปแสดงงานยังศูนย์ศิลปะและงานเทศกาลศิลปะมาแล้วทั่วโลก สำหรับการแสดงชุด ‘Survival Games’ นั้นทาง ‘Wellcome Trust’ ได้มอบเงินทุนในการสร้างสรรค์งานในโครงการ ‘Art In Global Health’ ให้กับบีฟลอร์โดยเปิดโอกาสให้บีฟลอร์ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระการแสดงชุดนี้จึงไม่ใช่การแสดงเพื่อประชาสัมพันธ์หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดแต่อย่างใด หากเปี่ยมไปด้วยความน่าสนใจว่าคนในโลกศิลปะจะนำเสนอมุมมองที่ตนเองได้พบเห็นจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านภาพการแสดงที่เกิดขึ้นบนเวทีได้อย่างไร บทสัมภาษณ์ Danielle Olsen, Independent Curator ดาเนียลล์ ออลเซน ภัณฑารักษ์อิสระ ผู้ดูแลโครงการ Art In Global Health และเหตุผลที่เลือก ‘B-Floor Theatre’ “Art in Global Health ถือเป็นโอกาสที่จะท้าทายสมมติฐานของเรา ทำให้ความคิดเรากว้างมากขึ้น และหวังว่ามันจะทำให้เกิดงานศิลปะที่พิเศษและมีแรงขับเคลื่อนสูง...เป็นงานที่คนทั่วไปเข้าถึงได้” Q : ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปของคุณเกี่ยวกับการเข้ามาร่วมงานเป็นภัณฑารักษ์ผู้ดูแลโครงการ Art In Global Healthให้กับ Wellcome ทีสิครับ Olsen : ฉันเป็นคิวเรเตอร์อิสระที่ทำงานหลายๆ โปรเจ็กต์ให้กับ Wellcome Trust มาตั้งแต่ปี 1996 โดยโครงการแรกที่ฉันได้ช่วยริเริ่มคือโครงการ Sciart (ไซอาร์ต) ซึ่ง Wellcome Trust ต้องการจะส่งเสริมให้ศิลปินกับนักวิทยาศาสตร์ได้ทำงานร่วมกัน หลายๆ คนเห็นว่าโครงการ Sciart เป็นโครงการที่ทำให้เกิดการพัฒนากลุ่มคนทำงานที่น่าสนใจมาก ถือได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการทำงานระหว่างสาขาที่แตกต่างกัน เป็นการทำงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ ในปี 2003 ฉันจัดงานชื่อ Medicine Man ซึ่งเป็นนิทรรศการศิลปะครั้งใหญ่ จัดแสดงงานศิลปะหลากหลายแขนงที่เป็น ของสะสมของคุณ Henry Wellcome งานนั้นเกิดขึ้นที่ British Museum ในปี 2003 และได้รับเสียงตอบรับดีมาก ตอนนี้นิทรรศการนั้นก็กลายเป็นนิทรรศการถาวรที่พิพิธภัณฑ์ Wellcome Collection ในลอนดอนไปแล้ว การได้เป็นภัณฑารักษ์ให้กับโครงการ Medicine Man ทำให้ฉันได้มีโอกาสทำงานกับกลุ่มศิลปิน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ส่วนโครงการ Art in Global Health ในครั้งนี้ทาเวลล์คัมทรัสได้ให้ไฟเขียวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2011 ฉันดีใจมากเพราะมันเป็นโครงการที่เป็นนวัตกรรมใหม่มากๆ ที่จะเชื่อมโยงกันระหว่างองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมในหลายๆ พื้นที่ของโลก Q : ในฐานะภัณฑารักษ์ของโครงการนี้ ความสำคัญและความน่าสนใจของโครงการ Art In Global Health อยู่ที่ตรงไหน? Olsen : Art in Global Health เป็นโครงการแรกของ Wellcome Collection ในแง่ของโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติ มันเป็นการต่อยอดโครงการของ Wellcome ที่ต่อยอดจากโครงการที่มีอยู่แล้ว และก็เป็นโครงการที่สอดคล้องกับงานที่ Wellcome Trust สนับสนุน สำหรับฉันเอง Art in Global Health นำเสนอประเด็นที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับหลายๆ อย่างทั้งในเชิงแนวคิดและเชิงปฏิบัติ ตัวฉันเองในฐานะภัณฑารักษ์มีหน้าที่หาเส้นทางสื่อสารให้กับประเด็นซับซ้อนเหล่านี้เอื้อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมต่อโครงการศิลปินในพำนักทั้ง 6 นี้ ให้ทั้งศิลปินและศูนย์วิจัยการแพทย์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องประสบความสำเร็จในประเด็นที่พวกเขาทำ ไม่ว่าจะออกมาอยู่ในรูปแบบของนิทรรศการ การแสดง สิ่งพิมพ์ หรือ เสวนา ฯลฯ ก็ตาม คำว่า ‘Global Health’ หรือ ‘สุขภาพทั่วโลก’ สำหรับแต่ละคนก็มีความหมายแตกต่างกันไป มันเป็นสาขาของการศึกษาวิจัยและปฏิบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้อีกหลากหลายสาขาทั้งที่อยู่ในวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาขาอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากนี้อีก มีงานวิจัยและคนที่ทำงานในด้านต่างๆ เกี่ยวกับ ‘Global Health’ อยู่จำนวนมหาศาล แต่โครงการ ‘Art In Global Health’ ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะไปนิยามว่า Global Health คืออะไร แต่เรากำลังค้นคว้าและพยายามโอบอุ้มความซับซ้อนหลากหลายของคำคำนี้มากกว่า ฉันคิดว่าศิลปะน่าจะสามารถช่วยสร้างความชัดเจนให้แก่ความซับซ้อน กำกวม และการเจรจาต่อรองต่างๆ ที่ทำให้เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Global Health’ ในทุกวันนี้ Q : 6 ศูนย์วิจัย 6 ศิลปินในพำนัก และ 6 ผลงานสร้างสรรค์ทั่วโลก Olsen : มีศูนย์วิจัย 6 แห่งใน 6 ประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมในโครงการ ‘Art In Global Health’ ซึ่งศูนย์วิจัยทั้ง 6 แห่งไม่ว่าจะเป็นในเคนยา, มาลาวี,แอฟริกาใต้,เวียดนาม,สหราชอาณาจักร หรือในประเทศไทย ต่างก็ได้รับการสนับสนุนจาก Wellcome Trust ด้วยกันทั้งสิ้น ความน่าสนใจคือเราจะได้เห็นการเดินทางของแต่ละศิลปินในพำนักของโครงการ เราจะได้เห็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ และเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กระบวนการเหล่านี้ต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่ ซึ่งเป็นประเด็นที่เหมาะเจาะมาก เพราะตอนนี้เรากำลังสังเกตเห็นว่าความร่วมมือทางการวิจัยด้านสุขภาพทั่วโลก (Global Health) กำลังมีมากขึ้น เหมือนกับที่ข้อมูลก็กำลังกลายเป็นทรัพยากรสมัยใหม่ที่สำคัญมากขึ้นด้วย เราหาข้อมูลกันอย่างไร และเราใช้มันยังไง อะไรเป็นแรงขับของนักวิจัยและอะไรบ้างที่ทำให้เขาหงุดหงิดข้องใจ โรคแพร่กระจายได้อย่างไร และความคิดล่ะแพร่กระจายได้อย่างไร เส้นทางของ "ท่อ" ที่ความคิดจะไหลหรือกระจายออกไปมันหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วมีคอขวดทางความคิดอยู่ตรงไหนหรือไม่? กุญแจสู่ความสำเร็จของโครงการนี้ก็คือการค้นหาศิลปินที่โดดเด่นที่เราจะทำงานด้วย การสนับสนุนศูนย์วิจับต่างๆ ให้มีบรรยากาศการทำงานที่ดีสำหรับศิลปินเหล่านี้ และการประสานงานและดูแลการบันทึกกระบวนการการทำงานต่างๆ เท่าที่ผ่านมา สิ่งที่จะทำให้ Art in Global Health ดำเนินไปได้อย่างรายรื่นก็คือทักษะการวิจัยที่มีจินตนาการ มีแรงบันดาลใจ และมีวิสัยทัศน์ (ไม่ว่าจะเป็นการหาคนที่ถูกต้องหรือหาวิธีการเล่าเรื่องที่ถูกต้องก็ตาม) นอกจากนั้นก็ต้องสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีของความร่วมมือต่างๆ จัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุดคือน่าจะเป็นการตระหนักถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและสถาบัน Q : ไม่บ่อยนักที่หน่วยงานทางวิทยาศาสตร์จะให้ทุนกับศิลปิน? Olsen : ใช่ ฉันคิดว่าไม่บ่อยนักที่องค์กรวิทยาศาสตร์จะให้ทุนกับศิลปิน แต่ Wellcome Trust ก็ให้ทุนแบบนี้มาได้สักระยะแล้ว ในฐานะภัณฑารักษ์ของ Art in Global Health และในฐานะคนคนหนึ่งที่ไม่ยอมตัดใจเลือกศิลปะหรือวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว (ฉันเรียนสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่เคมบริดจ์และก็ทำงานศิลปะร่วมสมัยไปพร้อมๆ กันด้วย) ฉันยินดีอย่างยิ่งที่เห็นว่า Wellcome Trust มีวิสัยทัศน์ในเรื่องคุณค่าของการทำงานร่วมกันระหว่างศาสตร์และสาขาที่แตกต่างกัน สำหรับฉัน Art in Global Health ถือเป็นโอกาสที่จะท้าทายสมมติฐานของเรา และทำให้ความคิดเรากว้างมากขึ้น และหวังว่ามันจะทำให้เกิดงานศิลปะที่พิเศษและมีแรงขับเคลื่อนสูงเป็นงานที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ และได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ด้วยในเวลาเดียวกัน และฉันหวังอีกว่าทุกๆ คน (ซึ่งมีหลายคนมาก) ที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จะสนุกไปกับการเดินทางครั้งนี้ และหวังว่าผู้ชมทุกๆ คนที่ได้มาสัมผัสกับผลลัพธ์ของโครงการจะได้รับแรงบันดาลใจให้คิดอะไรใหม่ๆ และรู้สึกอยากตั้งคำถาม Q : ทำไมถึงตัดสินใจเลือกกลุ่มศิลปินบีฟลอร์เข้าร่วมในโครงการ ‘Art In Global Health’ คิดว่าบีฟลอร์น่าจะตอบโจทย์โครงการนี้ได้อย่างไร? Olsen : มันเริ่มจากบทสนทนาที่สนุกสนานมากระหว่างฉันกับนิก เดย์ ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์เขตร้อน และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเวชศาสตร์เขตร้อนมหิดล-ออกซ์ฟอร์ด (The Mahidol Oxford Tropical Medicine Research Unit หรือ MORU) และแพค ยอง เชียห์ (หัวหน้าฝ่ายสนับสนุน Clinical Trials ของ MORU) พวกเขาเล่าถึงความลำบากที่ได้เจอในการทำวิจัยที่ศูนย์วิจัยมาลาเรีย Shoklo (SMRU) ที่แม่สอดเพราะว่าที่นั่นพูดกันหลายภาษา เราก็เลยได้คุยกันถึงเรื่องพลังของภาพและทัศนศิลป์ ความชอบหนังเงียบ (โดยเฉพาะชาร์ลี แชพลิน) และการแสดงตลกที่ใช้ร่างกายแบบมิสเตอร์บีน เราทั้งสามคนชอบการสื่อสารแบบอวัจนภาษาเหล่านี้ เนื่องจากมันสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางภาษาไปได้ นิกกับแพค ยองขอให้ฉันลองหาความเป็นไปได้ที่จะให้ศิลปินในพำนักที่ MORU มีองค์ประกอบของละครเวทีหรือภาพยนตร์ ฉันก็เลยเริ่มต้นด้วยโจทย์นี้ตอนที่ฉันเริ่มต้นค้นหาศิลปินในประเทศไทย (ซึ่งมีทั้งหาในอินเตอร์เน็ต อ่านบทวิจารณ์ และปรึกษาคนที่ฉันรู้จัก) ฉันตื่นเต้นมากตอนที่ได้มาเจอกับเว็บไซต์ของบีฟลอร์เธียร์เตอร์ หลังจากนั้นการโต้ตอบและการพบปะกับพวกเขาก็ทำให้ฉันมั่นใจว่าบีฟลอร์เหมาะกับโจทย์นี้ ตอนนี้บีฟลอร์ยังอยู่ในช่วงของการวิจัยอยู่ ฉันก็ยังไม่รู้ว่าการแสดงของพวกเขาจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ฉันมั่นใจว่า ด้วยความอยากรู้อยากเห็น การตั้งคำถามที่น่าสนใจ กระบวนการทำงานที่มีลักษณะของความร่วมมืออยู่สูง และการแสดงที่ผ่านๆ ที่โดดเด่นของพวกเขาจะทำให้เราได้ชิ้นงานที่ทั้งกระทบใจและน่าประทับใจ หมายเหตุ* *โครงการ Art In Global Health มีศิลปินในพำนักอยู่ทั้งหมด 6 ประเทศ ศิลปินแต่ละท่านที่เข้าร่วมในโครงการจะต้องทำการศึกษาการทำงานของศูนย์วิจัยแต่ละแห่งที่ Wellcome Trust ให้การสนับสนุนอยู่ในประเทศที่ตัวเองเป็นศิลปินในพำนัก แล้วสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานเพื่อสื่อสารกับผู้ชม - Mirium Syowia Kyambi และ James Muriuki นำเสนอ ผลงานที่ศึกษาจากการทำงานของศูยน์วิจัย Kemri — Wellcome Trust Research Programme ใน Kenya - Elson Kumbula นำเสนอผลงานจากที่ศึกษาจากศูนย์วิจัย Malawi —Liverpool Wellcome Trust Clinical Research Programme ใน Malavi - Zwelethu Mthethwa นำเสนอผลงานจากการศึกษาจากศูนย์วิจัย Africa Centre for Health and Population Studies ใน South Africa - Lena Bui นำเสนอ ผลงานที่ศึกษาจาก Oxford University Clinical Research Unit ใน Vietnam - Katie Paterson นำเสนอผลงานที่ศึกษาจาก Wellcome Trust Sanger Institute ใน UK - B-Floor Theatre นำเสนอผลงานที่ศึกษาจาก Wellcome Trust —Mahidol University — Oxford Tropical Medicine Research Unit in Thailand ติดต่อ: ‘Survival Game’ จัดแสดงเวลา 20.00 น. ระหว่างวันที่ 10-14 มกราคม และ 17-21 มกราคม 2556 ณ หอประชุมใหญ่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยทาง ‘Wellcome Collection’ จะเปิดให้ผู้ชมได้เข้ารับชมทั้งหมด 10 รอบการแสดงฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น โดยสำรองที่นั่งได้ที่หมายเลข 089 167 4039 หรือ email:bfloortheatre@gmail.com ข้อมูลเพิ่มเติม www.bfloortheatre.com
แท็ก ศิลปะ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ