ข้อมูล “พิธีห่มผ้าแดง”

ข่าวทั่วไป Tuesday November 27, 2012 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--คอร์แอนด์พีค Hi — light สำคัญในงาน พิธีบูชาพระบรมสารีริกธาตุที่ปฏิบัติสืบต่อมาตั้งแต่ครั้งโบราณนั้น เป็นพิธีที่ชาวพระนครให้ความสำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ พิธีห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์ ซึ่งจะมีขึ้นก่อนวันงาน ๓ วัน ประชาชนได้ร่วมกันจารึกชื่อตนเอง ตลอดจนลูกหลานและญาติมิตรบนผ้าแดง ก่อนอัญเชิญขึ้นห่มองค์บรมบรรพตภูเขาทองเป็นเวลา ๙ วันเพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นการสมโภชในวาระพุทธชยันตี ๒๖๐๐ แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เฉลิมฉลอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา พิธีห่มผ้าแดงในงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ เป็นพิธีที่ชาวพระนครให้ความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าอนุภาพแห่งการบูชาพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต แคล้วคลาดปลอดภัย อันตรายนานาประการอันตรธานไปสิ้น เป็นความเชื่อที่สืบมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งปรากฏความว่า คราวหนึ่งหลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๓ พรรษา เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายแก่ชาวเมืองเวสาลีผู้คนเกิดภัยพิบัตินานาประการ เกิดโจรผู้ร้ายเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ ไม่เว้นแม้แต่สมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อพระพุทธองค์เสด็จฯไปเท่านั้น ความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายก็พลันหายไปสิ้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่เป็นเช่นนี้มิใช่ความอัศจรรย์ แต่เป็นเพราะอานุภาพแห่งบุญบารมีที่พระองค์เคยเอาผ้าประดับบูชาเจดีย์ในอดีตชาติ พิธีห่มผ้าแดงได้จัดให้มีขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่อลังการตามแบบอย่างประเพณีโบราณ เริ่มจากขบวนผู้แต่งกายด้วยชุดเทวดา สมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล และตามด้วยประชาชนในชุดไทยโบราณ สำหรับพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่บนองค์บรมบรรพตภูเขาทอง สมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น เป็นส่วนที่ขุดค้นได้จากพระสถูปโบราณ อันเป็นที่ตั้งกรุงกบิลพัสดุ์ สมัยพุทธกาล รัฐบาลอินเดียถวายแด่รัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ นายวิลเลียม แคลคัสตัน เปปเป ชาวอังกฤษที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศอินเดีย ได้ขุดค้นเนินดินในที่ดินของตนพบสถูปโบราณหักพังอยู่ภายใต้เนินดินที่ปิปราห์วะทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพัสติ อันเป็นที่ตั้งกรุงกบิลพัสดุ์สมัยพุทธกาล เมื่อนายวิลเลียม แคลคัสตัน เปปเป ขุดรื้อพระสถูปโบราณนั้นก็พบกล่องศิลาแลงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เต็มไปด้วยข้าวของเงินทองเครื่องประดับมากมาย และภายในกล่องศิลามีผอบบรรจุอัฐิธาตุ และที่ผอบนั้นมีข้อความจารึกด้วยอักษรพราหม์โบราณ อันเป็นภาษาที่ใช้มาก่อนพุทธกาลนักภาษาศาสตร์เชื่อว่ามีอายุเก่ากว่าภาษาที่ใช้จารึกในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งใช้ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ หรือหลังจากนั้นไม่นานเกินพุทธศตวรรษที่ ๒ — ๔ ข้อความจารึกที่ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแปลความได้ว่า “ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านี้เป็นของตระกูลศากยราชผู้มีเกียรติงาม กับพระภาดาพร้อมทั้งพระภคินี พระโอรส และพระชายา สร้างขึ้นอุทิศถวายไว้” จากจารึกและข้อสรุปของนักภาษาศาสตร์นั้นเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า อัฐิธาตุที่บรรจุอยู่ภายในผอบนี้เป็นพระบรมสารีริกธาตุหลังถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ครั้งต่อมามาร์ควิสเคอร์ซัน ผู้ดำรงตำแหน่งอุปราชครองประเทศอินเดีย ซึ่งเคยเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ และมีสัมพันธไมตรีใกล้ชิดกับรัชกาลที่ ๕ มาก่อน เห็นว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้นเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวพุทธ จึงควรมอบคืนให้แก่ชาวพุทธ และมาร์ควิสเคอร์ซันพิจารณาว่า กษัตริย์ที่นับถือพระพุทธศาสนาสมัยนั้นก็ยังมีแต่พระเจ้ากรุงสยามเท่านั้น รัฐบาลอินเดียจึงมีความประสงค์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบรทสารีริกธาตุแด่รัชกาลที่ ๕ พร้อมให้ฝ่ายไทยส่งผู้แทนเป็นคณะราชทูตไปรับ และกราบบังคลทูลให้รัชกาลที่ ๕ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างๆ เช่นพม่า ลังกา ญี่ปุ่น ไซบีเรีย เป็นต้น พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ข้าหลวงเทษาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นผู้ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุ ณ ประเทศอินเดีย โดยเริ่มออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๑ และเดินทางกลับในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ในปีเดียวกัน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุผ่านเมืองตรัง พัทลุง สงขลา แต่ละเมืองที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าร่วมขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุและสักการะบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน แก้วแหวนเงินทองมากมาย แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนในแต่ละเมืองได้เป็นอย่างดี ครั้นถึงเมืองสมุทรปราการ รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้นำไปประดิษฐานในพระวิหาร เกาะพระสมุทรเจดีย์ ทำการฉลอง ๓ วัน ๓ คืน วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุถึงกรุงเทฑฯ และโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุประดิษฐานที่เจดีย์บรมบรรพตภูเขาทอง วัดสระเกศ ผ้าแดงที่ผูกติดกันเป็นสายยาวหลายพันเมตรให้คนจับเป็นแนวยาวเดินวนขวาไปรอบองค์พระเจดีย์อย่างพร้อมเพรียงนี้เปรียบเสมือนจีวรของพระพุทธเจ้า การได้จับผ้าแดงขึ้นไปห่มองค์พระเจดีย์ซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ข่างใน จึงเหมือนกับการได้ถวายจีวรแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง “สีแดงเป็นสีแห่งมงคล เป็นสีแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตนอกนั้นสีแดงของผ้ายังเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่การได้มาร่วมพิธีห่มผ้าแดง เพื่อสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระเจดีย์ภูเขาทองนี้ย่อมเกิดเป็นผลานิสงฆ์ บันดาลความร่มเย็นเป็นสุขแก่ตนเอง ครอบครัว ตลอดจนประเทศชาติ บ้านเมือง จึงเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน ตราบจนปัจจุบัน กิจกรรมภายในงาน “พิธีบูชาพระบรมสารีริกธาตุบรมบรรพตภูเขาทอง ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๑-๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ๑. ขบวนแห่ผ้าแดง และพิธีห่มผ้าแดง บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ตามประเพณี ๒. ขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ ๓. กิจกรรมการแสดงจากดาราศิลปิน ๔. การประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง “ดาวรุ่งภูเขาทอง” วันที่ ๒๕-๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ตัดสินวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ แบ่งเป็น - ประเภทอายุไม่เกิน 12 ปี ชาย - ประเภทอายุไม่เกิน 12 ปี หญิง - ประเภทอายุ 13-18 ปี ชาย - ประเภทอายุ 13-18 ปี หญิง (สอบถามรายละเอียดการประกวดได้ที่ ๐๘๕-๘๒๑-๘๐๒๔)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ