ทูตไบเออร์ฯ เข้าค่ายสิ่งแวดล้อม เสริมภูมิเรียนรู้ประสบการณ์จากชุมชน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 12, 2004 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--Visage
ด้วยความมุ่งมั่นที่ว่า “เยาวชนในวันนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่ดีในวันหน้า” จึงทำให้โครงการทูตไบเออร์เพื่อสิ่งแวดล้อม” ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัดและโครงการ สิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินโครงการเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2539 โดยทำการคัดเลือกเยาวชนดีเด่นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันนับเป็นรุ่นที่ 8 ให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างเสริมประสบการณ์จริงด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เสริมประสบการณ์ด้วย “ค่ายสิ่งแวดล้อม”
“ค่ายสิ่งแวดล้อม” นับเป็นกิจกรรมเริ่มแรกในการสร้างเสริมประสบการณ์จริง ซึ่งเยาวชนจากทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการทูตไบเออร์เพื่อสิ่งแวดล้อมในรอบแรก และได้รับแต่งตั้งเป็นทูตไบเออร์เพื่อสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2547 จำนวน 49 คน ได้มีนัดรวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียงที่กรุงเทพมหานคร ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปสู่พื้นที่เป้าหมายที่จังหวัดระยอง เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันเป็นเวลา 2 วัน 3 คืน ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“จุดมุ่งหมายของการจัดกิจกรรมค่ายสิ่งแวดล้อมนี้ คือต้องการให้เยาวชนได้ไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและเป็นแนวคิดที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับการทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตน ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการซึ่งมาจากต่างสถาบันการศึกษา ต่างถิ่นฐานภูมิลำเนา ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพื่อร่วมสร้างเครือข่ายเยาวชนที่มีความตระหนักและใส่ใจสิ่งแวดล้อม สานต่อการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันต่อไปในอนาคต” นายเชวง จาว กรรมการบริหาร บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ในฐานะผู้แทนประธานคณะกรรมการโครงการทูตไบเออร์เพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวในพิธีเปิดค่าย
ทั้งนี้ทูตไบเออร์ฯ จะได้ศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน จ.ระยอง ของเทศบาลนครระยองร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซึ่งเป็นโครงการที่สานต่อแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงริเริ่มและดำเนินการในโครงการหลวงที่สวนจิตรลดา โรงงานดังกล่าวนับเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่นำขยะมาใช้ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ขณะเดียวกันก็นำก๊าซชีวภาพที่ได้มาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
นอกจากนี้ยังได้ไปทัศนศึกษาสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำระยองของกรมประมง ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์สัตว์น้ำที่สวยงามและหายาก รวมทั้งความรู้ทางด้านทรัพยากรสัตว์ทะเลและการประมง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงระบบนิเวศน์ทางทะเลโดยเฉพาะในแถบชายฝั่งอ่าวไทย
ร่วมสร้าง “บ้านปลา” กับชาวเนินพยอม
ส่วนกิจกรรมที่นับเป็นไฮไลท์ของงานในครั้งนี้คือการดูงาน โครงการบ้านปลา ปากคลองแกลง-สวนสน เพราะนอกจากทูตไบเออร์ฯ ทุกคนจะได้รับรู้ถึงปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล อันนำมาสู่ปัญหาการทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ยังได้เรียนรู้ถึงการบริหารจัดการที่สะท้อนการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน ในการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่สูญหายจนสามารถพลิกฟื้นวิถีชีวิตให้เริ่มกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญคือทูตไบเออร์ฯ ทุกคนยังได้มีโอกาสทำกิจกรรม “สร้างบ้านปลา” ร่วมกับชาวประมงและชาวชุมชนบ้านเนินพยอม ต.แกลง อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งแม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่ก็ได้ความภาคภูมิใจที่บ้านปลาซึ่งทุกคนได้ร่วมกันทำช่วยกันสร้าง ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำในท้องทะเลอ่าวไทยต่อไป
นอกจากการดูงานในสถานที่ต่างๆ แล้ว ยังได้มีกิจกรรมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ ล้วนมีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนได้สัมผัสและเรียนรู้การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจากประสบการณ์จริงที่สะท้อนว่า
“การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมนอกจากเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังเป็นงานที่ต้องใช้ระยะเวลาและต้องทำอย่างต่อเนื่อง จึงจะเป็นผลสำเร็จที่ยั่งยืน”
เปิดโลกทัศน์ดูงานสิ่งแวดล้อมต่างประเทศ
นอกจากได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมจากการไปทัศนศึกษาดูงานในประเทศแล้ว ผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกในรอบสุดท้าย จะได้เป็นตัวแทนของประเทศไทยเพื่อร่วมเดินทางไปทัศนศึกษาที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยจะได้ศึกษาดูงานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่สำนักงานใหญ่ของ บริษัท ไบเออร์ เอจี และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของเทศบาลเมืองเลเวอร์คูเซ่น ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐอีกหลายแห่ง พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับทูตไบเออร์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากประเทศต่างๆ กว่า 12 ประเทศ ในเดือนพฤศจิกายนศกนี้
สำหรับปี 2547 มีเยาวชนที่ได้รับแต่งตั้งเป็น “ทูตไบเออร์เพื่อสิ่งแวดล้อม” จำนวน 49 คน มาจากทั่วทุก ภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 10 คน ภาคเหนือ 10 คน ภาคกลาง 8 คน ภาคตะวันออก 8 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 คน และภาคใต้ 5 คน ปัจจุบันมีเยาวชนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นทูตไบเออร์ฯ รวมกว่า 300 คน ที่จะร่วมเป็นแกนนำและเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป
นางสาวสุพรรณิกา อินต๊ะนนท์ “อ้อ” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นถึงการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ว่า
“การเข้าค่ายในครั้งนี้นอกจากจะทำให้ได้เพื่อนใหม่มากมายแล้ว ยังได้ความรู้ใหม่ๆ ที่เราสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งจากการไปดูงานโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงาน หรือการสร้างบ้านปลา ที่หมู่บ้านเนินพยอม ที่สำคัญทำให้เรารู้ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เราทุกคนสามารถร่วมทำกันได้ แค่เราทุกคนร่วมลงมือกันทำก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้”
นางสาวทิพย์อาภา ธรรมมงกุฎ “เอม” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ให้ความเห็นว่า
“การเข้าค่ายครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งจะสามารถเป็นเครือข่ายกันได้ต่อไป นอกจากนี้ยังทำให้ได้รู้ในสิ่งที่บางครั้งคิดว่ารู้แล้วก็ได้รู้ลึกขึ้นไปอีก เช่นการได้มีโอกาสดูโรงงานขยะที่ระยองก็ทำให้รู้ถึงการจัดการขยะในอีกวิธีหนึ่ง หรือการไปดูโครงการบ้านปลาของชาวบ้านเนินพยอม ที่เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจกันของชาวชุมชน ทำให้รู้ว่าสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยการมีส่วนร่วมกันของทุกฝ่าย”
นายศิริพงษ์ คงชู “เบส” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ให้ความเห็นว่า
“ค่ายสิ่งแวดล้อมครั้งนี้เป็นค่ายที่มีแต่มิตรภาพ มีความเป็นเป็นพี่ๆ เพื่อนๆ มีแต่ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แตกต่างจากค่ายอื่นๆ ที่เคยเข้ามาอย่างมาก และค่ายนี้ยังได้ความรู้มากมาย ทำให้ได้ฝึกคิดกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นการสร้างบ้านปลาของชาวบ้านเนินพยอมซึ่งทำให้เห็นถึงวิธีการร่วมกันแก้ปัญหาและการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งโดยชาวชุมชนเอง”
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
มาลี แจ้งอรุณ / ฝ่ายงานสื่อสารและประชาสัมพันธ์
บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด
โทรศัพท์ 0-2232-7017-8
โทรสาร 0-2267-2784--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ