ปภ. รายงาน วีเซนเต ทำให้เกิดน้ำท่วม 16 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Tuesday September 27, 2005 13:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ปภ.
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันฯ ในฐานะสำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อน วีเซนเต ให้ที่ประชุม ครม. ทราบว่า ผลจากพายุโซนร้อนวีเซนเต ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 48 ผ่านจังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ ระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่สะพานนวรัฐ ได้เอ่อล้นแนวกระสอบทราย ไหลบ่าเข้าท่วมเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ นอกจากนี้ อิทธิพลของวีเซนเตยังทำให้เกิดน้ำท่วม รวม 16 จังหวัด 50 อำเภอ 89 ตำบล ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เลย ศรีสะเกษ ลำปาง ระนอง อุตรดิตถ์ เชียงราย สุโขทัย แพร่ ลำพูน พะเยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 7 คน เดือดร้อน 158,650 คน 47,177 ครัวเรือน ถนนเสียหาย 28 สาย พื้นที่การเกษตร 302,702 ไร่ มูลค่าความเสียหาย อยู่ในระหว่างการสำรวจ โดยขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ เลย ศรีสะเกษ ระนอง อุตรดิตถ์ อ่างทอง แพร่ ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง และเชียงใหม่ โดยระดับน้ำได้ลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรบางแห่ง เจ้าหน้าที่ ได้นำเครื่องอุปโภค บริโภค ถุงยังชีพ ไปแจกจ่าย และเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยใช้จ่ายงบฯ ในอำนาจผู้ว่าฯ 50 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ที่ยังคงมีน้ำท่วม จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรใน 8 อำเภอ ได้แก่ อ.สามชุก อ.ศรีประจันต์ อ.อู่ทอง อ.เมือง อ.บางปลาม้า อ.ด่านช้าง อ.สองพี่น้อง และ อ.หนองหญ้าไซ ฉะเชิงเทรา มีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร 3 อำเภอ ได้แก่ อ. พนมสารคาม อ.บ้านโพธิ์ และ อ.บางน้ำเปรี้ยว สุโขทัย ยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่ม พื้นที่การเกษตรของ อ.ศรีสำโรง และปราจีนบุรี มีน้ำท่วมขัง ใน อ.เมือง โดยระดับน้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรี สูงล้นตลิ่ง ท่วมขังที่ลุ่ม ใน ต.ท่างาม และ ต.บางบริบูรณ์ และ อ.กบินทร์บุรี บริเวณที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรี มีน้ำท่วมขัง ใน ต.วังดาล เทศบาล ต.กบินทร์ เพียงเล็กน้อย สำหรับด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันฯ ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เรือท้องแบน เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งนำอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ