ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี คาดส่งออก CLMV ฉลุย อีก 3 ปีแซงหน้า EU รับอาเซียน ปี 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 13, 2012 12:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--TMB ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มอง CLMV เป็นตลาดศักยภาพสูงของส่งออกไทย แซงตลาดหลักเดิมอย่างยุโรปในปี 2558 ยึดครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกเป็นร้อยละ 9.0 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics วิเคราะห์ช่วงโค้งสุดท้ายของการส่งออกปี 2555 คงได้เห็นการส่งออกไตรมาสสุดท้ายเติบโตด้วยเลขสองหลักถึงร้อยละ 20.6 จากหดตัวร้อยละ 1.8 ในช่วงเก้าเดือนแรก และทำให้ภาพรวมส่งออกในปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 3.0 แต่ยังไม่สะท้อนถึงการฟื้นตัวแต่อย่างใดเพราะส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำจากมหาวิกฤตอุทกภัยในปลายปีที่แล้ว กอปรกับภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญยังคงมีทิศทางอ่อนแรง โดยเฉพาะยุโรปที่ปัญหาหนี้สาธารณะยังคงยืดเยื้อ และสหรัฐฯก็มีประเด็นหน้าผาการคลัง หรือ Fiscal Cliff ดังนั้น แนวโน้มส่งออกในปี 2556 จึงหนีไม่พ้นที่จะขับเคลื่อนด้วยการส่งออกไปยังประเทศฝั่งตะวันออกเป็นหลัก ได้แก่ ตลาดอาเซียนเดิม (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ) ตลาดอาเซียนใหม่(เขมร ลาว เมียนม่าร์และเวียดนาม หรือ CLMV) จีน และญี่ปุ่น ทำให้ขยายตัวได้มากขึ้นที่ร้อยละ 7.2 และตลาด CLMV ได้กลายเป็นหัวรถจักรที่สำคัญ หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา CLMV กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเพียงครึ่งหนึ่งของประเทศไทยกลับขึ้นแท่นเป็นตลาดส่งออกดาวรุ่งที่มีแนวโน้มสดใส โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 21 ในปี 2544-2554 โดดเด่นกว่าอาเซียนเดิม ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 13.4 และสำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ CLMV เป็นหนึ่งในไม่กี่ตลาดที่ยังโชว์ตัวเลขเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 11 ท่ามกลางการหดตัวของตลาดอื่นๆ ทั้ง อาเซียนเดิม ญี่ปุ่น และยุโรป CLMV จึงกลายเป็นตลาดที่พยุงการส่งออกในภาพรวมไม่ให้หดตัวไปมาก โดยประเมินว่าการส่งออกไป CLMV ในปีนี้ จะขยายตัวร้อยละ 10.9 ซึ่งหมายความว่าจากการขยายตัวของส่งออกรวมที่ร้อยละ 3.0 ในปีนี้ เป็นแรงขับเคลื่อนจากตลาด CLMV ถึงร้อยละ 0.78 สูงกว่าแรงหนุนรวมจากกลุ่มอาเซียนเดิม บวกกับจีน และญี่ปุ่นที่ร้อยละ 0.62 รวมกัน ขณะที่การส่งออกของไทยในภาพรวมต้องเผชิญกับแรงฉุดอย่างแรงจากตลาดสหรัฐฯ และยุโรปร้อยละ -0.81 เพราะโครงสร้างสินค้าส่งออกไป CLMV ส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำเร็จรูป (ประกอบด้วย น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์เคมี สิ่งทอ น้ำตาล ปูนซิเมนต์เครื่องดื่ม รถปิคอัพและรถบรรทุก กว่าร้อยละ 40) มากกว่าเป็น Re-export ทำให้ความต้องการมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน และทำให้ผลกระทบจากการชะลอของเศรษฐกิจโลกอยู่ในวงจำกัดเมื่อเทียบกับตลาดอื่น สำหรับแนวโน้มในระยะปานกลาง ตลาด CLMV จะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายปัจจัยหนุน ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงจากการเป็นแหล่งทรัพยากรที่ดึงดูดการลงทุนต่างชาติ การยอมรับในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าไทย รวมทั้งแผนการพัฒนาเส้นทางขนส่งร่วมกันเพื่อรองรับ AEC อาทิ เส้นทาง R1-R3 และเป้าหมายการลดภาษีนำเข้าของ CLMV เหลือร้อยละ 0 ในปี 2558 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีคาดว่าตลาด CLMV จะขยายตัวแข็งแกร่งเฉลี่ยร้อยละ 11.8 ในช่วงปี 2556-2558 สวนทางกับตลาดยุโรปที่มีบทบาทลดลง ทำให้สัดส่วนการส่งออกไป CLMV เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.7 ในปี 2555 ไต่สู่ระดับร้อยละ 9.0 ในปี 2558 แซงหน้ายุโรปที่คาดว่าจะลดบทบาทอยู่ที่ร้อยละ 8.8 และผลักดันให้ตลาด CLMV ขึ้นแท่นเป็นตลาดศักยภาพสูงของไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ