ม.อ.ติดอันดับ 37 ด้านผู้นำวิทยาศาสตร์การเกษตรภูมิภาคเอเชีย ผลพวงมุ่งพัฒนาบัณฑิต-หนุนงานวิจัย ยกระดับอุตฯ อาหารทะเลไทย

ข่าวทั่วไป Friday December 14, 2012 15:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ มอ.ติดอันดับ 37 ของเอเชียด้านผู้นำวิทยาศาสตร์การเกษตร และอยู่ในระดับ 193 จาก 300 แรกของโลก จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยแห่งชาติของไต้หวัน หลังมีการตีพิมพ์ผลงานและวารสารทางวิชาการต่างๆ ในด้านเทคโนโลยีอาหาร ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเข้มแข็ง รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ฑีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยยอดเยี่ยมประจำปี 2012 ที่จัดขึ้นโดย Nation Taiwan University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติของไต้หวัน ที่มีชื่อเสียงด้านค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และได้รับการยกย่องว่า เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ได้ทำการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 193 จาก 300 ลำดับแรกของโลก และอยู่ในลำดับที่ 37 ของเอเชีย ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในด้านนี้ ทั้งนี้ การจัดลำดับดังกล่าว ได้พิจารณาจากผลงานตีพิมพ์และวารสารทางวิชาการต่างๆ ทั้งในด้านภาพรวมและการแบ่งออกเป็นสาขาวิชาต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้นำเสนอผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีอาหาร ของศาสตราจารย์ ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร ที่มีผลงานฟิล์มเจลาตินจากหนังปลา ซึ่งเป็นการแปรรูปเศษหนังปลาเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ไม่มีค่า มาทำเป็นถุงวัสดุละลายน้ำสำหรับบรรจุน้ำมันและถุงปรุงรส ให้สามารถรับประทานได้ทันทีโดยไม่ต้องฉีกซอง เพื่อใช้กับผลิตภัณฑ์บะหมี่สำเร็จรูป ซึ่งถือเป็นผลงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ให้แก่อุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยได้เป็นอย่างดี “การได้รับการจัดอันดับในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในด้านวิชาการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การเกษตร ที่ ม.อ. มีการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ และคณะในวิทยาเขตต่างๆ ที่เปิดสอนเพื่อป้อนแรงงานเข้าสู่ตลาด รวมถึงผลิตผลงานด้านวิชาการที่เป็นสากล สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวผลิตภัณฑ์และเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโดยรวม” รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ