กรมการแพทย์จัด “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด” เผยสถิติผู้ติดยาเสพติดไทย ระบุปี 56 รุกเข้ม 5 มาตรการติดยารักษาได้

ข่าวทั่วไป Wednesday December 19, 2012 14:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์จัด “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด” เผยสถิติผู้ติดยาเสพติดไทยระบุปี 56 รุกเข้ม 5 มาตรการติดยารักษาได้ วอนสื่อช่วยป้องกันภัยใหม่แพร่ระบาด กรมการแพทย์ร่วมกับสถาบันธัญญารักษ์ ดันยุทธศาสตร์จัดการปัญหายาเสพติดเชิงรุก จัดโครงการสัมมนา "พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด" หวังให้สื่อมวลชนเป็นตัวกลางเผยแพร่ข่าวสารยาเสพติด พฤติกรรมคนติดสารเสพติด และองค์ความรู้ด้านการรักษาผู้ติดยาเสพติดที่ถูกต้องแบบทันเหตุการณ์ หลังพบตัวเลขคนไทยยุ่งเกี่ยวกับยานรกสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 2 ล้านคน และเป้าหมายใหม่ยังเป็นกลุ่มเยาวชน ที่มีแนวโน้มขยับขึ้นเป็นกลุ่มผู้ติดยาอันดับ 2 ของประเทศ ส่วนยาเสพติดยอดฮิตที่ต้องเร่งปราบปรามอย่างจริงจัง ได้แก่ ยาบ้าและยาไอซ์ นั้นเริ่มแปรรูปและกระจายตัวใหม่แพร่ระบาดในกลุ่มคนทำงานมากขึ้นด้วย ระบุปี 56 เข้ม 5 มาตรการ 1.สร้างชุมชนเข้มแข็ง 2.บำบัดฟื้นฟู 3.ป้องกันกลุ่มเสี่ยง 4.ปราบปราม และ 5.สกัดกั้น เพื่อนำผู้ติดยาเสพติดในฐานะผู้ป่วยที่รักษาให้หายขาดได้ กลับคืนสู่สังคมและดำรงตนอยู่ได้อย่างปกติสุข ไม่กลับไปติดยาซ้ำ ที่อาคารปาร์คเวนเจอร์ เพลิตจิต กทม. วันที่ 19 ธ.ค. 2555 แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดงานอบรมสัมมนาวิชาการ "พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด" สำหรับสื่อมวลชนไทย เพื่อขจัดและบรรเทาปัญหายาเสพที่ระบาดหนักในข้างต้นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องตระหนักและให้ความใส่ใจถึงอันตรายของยาเสพติดอย่างแท้จริง ดั่งที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ว่า ต้องการให้ยาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วนจนกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น กรมการแพทย์และสถาบันธัญญารักษ์จึงกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายในเรื่องนี้ร่วมกัน ให้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการรวมพลังทุกภาคส่วนเป็นพลังแผ่นดินร่วมต่อสู้กับภัยยาเสพติด ในแบบยึดหลักเมตตาธรรม นำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาฟื้นฟู และใช้หลักควบคุมเพื่อลดปัจจัยลบในกลุ่มเสี่ยง ร่วมกับการใช้หลักนิติธรรมและมาตรการทางกฎหมายในการปราบปราม พญ.วิลาวัณย์ กล่าวต่อถึงสิ่งที่จะเร่งมือทำในปีหน้าด้วยว่า แผนยุทธศาสตร์ในปี 2556 สิ่งที่ตั้งใจลงมือทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ มีอยู่ด้วยกัน 5 ประการ ได้แก่ 1. สร้างหมู่บ้านหรือชุมชนเข้มแข็งจำนวน 84,320 แห่ง 2. บำบัดฟื้นฟูด้วยการสร้าง 1 อำเภอ 1 ศูนย์จำแนกคัดกรอง พร้อมนำผู้เสพและผู้ติดยาเข้ารับการบำบัดทุกระบบจำนวน 300,000 คน และติดตามผู้ผ่านการบำบัดให้ได้จำนวน 700,000 คน โดยต้องมีมาตรการให้ผู้ผ่านการบำบัดไม่กลับไปเสพติดซ้ำอย่างน้อย 80% 3. ป้องกันกลุ่มเสี่ยง ด้วยการให้ความรู้นักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายจำนวน 1.5 ล้านคน และผู้เสพซึ่งมีสถานะเป็นผู้ติดรายใหม่จำนวน 20% ของจำนวนผู้เสพหน้าใหม่ทั้งหมด 4. การปราบปราม ตั้งเป้าจับกุมผู้กระทำความผิดในข้อหาคดีสำคัญด้านยาเสพติดให้ได้ 40,000 ราย พร้อมยึดทรัพย์สินจากการกระทำผิดให้ได้ 2,000 ล้านบาท และ 5. การสกัดกั้น จะพยายามให้สัดส่วนการสกัดกั้น พื้นที่ชายแดนต่อพื้นที่ภายในเป็นไปในแบบ 70:30 "ทั้งนี้สิ่งที่เรามุ่งหวังให้เกิดจริงและพร้อมลงมือปฏิบัติเลยก็คือ การปรับปรุงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยา ด้วยการคัดกรอง จำแนก และติดตามผลเชิงคุณภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนต้องพึ่งพิงอาศัยเจ้าหน้าที่ที่มีคุณภาพในการทำงานสูง จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรเพิ่มเติม พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบการบำบัด จากนั้นจึงจัดให้มีระบบการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดทั่วประเทศ" อธิบดีกรมการแพทย์ สธ.แจงเพิ่มและกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หวังว่าสื่อมวลในฐานะพิราบอาสา ที่มีความสำคัญในด้านจิตวิทยาที่สามารถชี้นำผู้คนในสังคมได้ จะช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์และเกิดประโยชน์ต่อมวลชนโดยรวม จากนโยบายมาสู่สถิติที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ความรุนแรงที่นับวันจะยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้น นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ สธ. เผยถึงข้อมูลในเรื่องนี้ไว้ว่า จากการศึกษาประมาณการได้ว่าผู้เสพผู้ติดยาเสพติด คาดว่าจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั่วประเทศในปี 2556 ประมาณ 1.9 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (2554-5) เกือบหนึ่งเท่าตัว แต่ผู้เสพและผู้ติดเข้าบำบัดรักษาเพียง 1.2 ล้านคน ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องเข้ารับการบำบัดเพียง 5.6 แสนคน และเมื่อศึกษาผลการดำเนินงานการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ของสถาบันธัญญารักษ์ทั่วประเทศภายในปีเดียวกันพบว่า กลุ่มที่ติดยาเสพติดมากที่สุดคือกลุ่มรับจ้าง 41.71% รองลงมาเป็นกลุ่มคนที่ว่างงาน 17.41% การเกษตร 16.81% ท้ายสุดเป็นกลุ่มเยาวชน 9.12 % ที่พบได้ตั้งแต่อายุ 18-29 ปี โดยในกลุ่มหลังนี้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และอาจมีจำนวนแซงหน้ากลุ่มว่างงานในไม่ช้านี้ นพ.จิโรจ กล่าวต่อในเรื่องสัดส่วนของกลุ่มเยาวชนที่ใช้ยาเสพติดและเข้ารับการรักษา เป็นการเพิ่มขึ้นที่น่าตกใจ เพราะเมื่อสำรวจการบำบัดทั่วประเทศตามปีงบประมาณ 2553-2555 เยาวชนในกลุ่มอายุ 18-24 ปี มีสถิติเข้ารับการบำบัดสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และมีจำนวนมากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ เกือบ 1 เท่าตัว ส่วนช่วงอายุ 12-17 ตามมาเป็นอันดับที่ 4 จาก 7 กลุ่มช่วงอายุ และในกลุ่ม 7-11 ปี ก็ติดโผสถิติเข้ารับการบำบัดอาการติดยาเสพติดด้วยเช่นกัน เพียงแต่รั้งท้ายเป็นอันดับที่ 7 ด้วยสถิติเฉลี่ย 0.016% ข้อมูลที่สำคัญอีกประการก็คือ เมื่อจำแนกตามกลุ่มผู้เสพรายเก่ารายใหม่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) ปรากฏว่าผู้เสพรายเก่าและรายใหม่ที่หมายถึงผู้ที่เพิ่งเข้ารับการบำบัดครั้งแรกมีสูงถึงเกือบ 80% ขณะที่รายใหม่จริงที่หมายถึงผู้ที่เพิ่งเข้ารับการบำบัดครั้งแรกและมีประวัติระบุว่าเริ่มใช้ยาเสพติดไม่เกิน 1 ปี มีอยู่ราวเกือบ 10% ซึ่งในปี 2555 มีผู้เสพรายใหม่จริงสูงถึง 13,363 คน ส่วนรายเก่าและรายใหม่รวมกันสูงที่สุดมากกว่าปีอื่น ๆ 234,984 คน พ่วงด้วยกราฟแสดงจำนวนผู้ติดยาที่เข้ารักษาตามความรุนแรงของการเสพติดประจำปี 2555 จำนวน 3 แสนคน ซึ่งมีจำนวนสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มผู้เสพเข้ารับการรักษามากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ติด ส่วนผู้ติดตาเสพติดรุนแรงเข้ารับการรักษาเพียงหลักพันคน นพ.จิโรจยังกล่าวด้วยว่า เมื่อสำรวจผู้เข้ารับการบำบัดตามปีงบประมาณ 2555 ก็พบด้วยว่ายาเสพติดประเภทยาบ้าและยาไอซ์มีผู้เข้ารับการบำบัดสูงที่สุด โดยเป็นยาบ้าอันดับ 1 จำนวน 77,653 คน และยาไอซ์รองลงมาเป็นอันดับ 2 จำนวน 5,412 คน ซึ่งในส่วนของยาไอซ์มีสัดส่วนผู้เสพเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ มากที่สุด 1.7% นอกนั้นจะเป็น กัญชา กระท่อม สารระเหย ฝิ่น เฮโรอีน เมธาโดน ยาอี ยาเลิฟ มอร์ฟีน โคเคน และอื่น ๆ จำพวกสุรา เหล้าแห้ง ยาลดความอ้วน เอ็กซ์ตาซี่ แวเลี่ยม ตามลำดับ ด้าน นายแพทย์อังกูร ภัทรากร จากสถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ สธ. กล่าวต่อถึงวิธีในการบำบัดรักษาผู้ติดตาเสพติดของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่า ก่อนไปถึงกระบวนการบำบัดควรเรียนรู้ถึงธรรมชาติของการติดยาเสพติดหรือที่ทางการเรียกกันว่าสมองติดยา ซึ่งหากคิดเป็น 100% การลองเสพจะอยู่ที่ 100 คน ถัดมาจะเป็นการหาโอกาสเสพต่ออีก 70 คน และกลายเป็นกลุ่มเสพประจำ 30 คน จนกระทั่งเหลือกลุ่มเสพตลอดเวลาราว 5-10 คน โดยวงจรนี้ส่วนใหญ่เริ่มจากการเสพสนุก เสพเอามัน เหตุที่ให้คนติดยาเสพติดมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะหลงผิดไม่รู้เท่าทันว่าทุกครั้งที่เสพยาเสพติดไปทำลายสมอง คิดแต่ว่าทำให้คึกทำงานได้เยอะ หรือไม่ก็ถูกโฆษณาชวนเชื่อหลอกว่าเสพแล้วจะผิวขาว รูปร่างผอมหุ่นดี เป็นต้น ก่อนเข้าขั้นเสพเอาเป็นเอาตายแบบเสพติด ผลที่เกิดแก่ผู้เสพจึงกลายเป็นผู้มีโรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน ก่อนเปลี่ยนเป็นโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง และเสียชีวิตในที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสพยาวนานถึง 20 ปี เพราะมีโรคร่วมที่เกิดจากยาเสพติดเกิดขึ้นหลายโรค เช่น บุคลิกภาพผิดปกติ สมาธิสั้น ซึมเศร้า วิตกกังวล โรคจิต หวาดระแวง หลงผิด สมองเสื่อม สมรรถภาพทางเพศเสื่อม นอนไม่หลับ เป็นต้น "ในกลุ่มของผู้ติดยาเสพติดเรื้อรังกว่า 80% ที่เข้ารับการบำบัดในช่วง 3-10 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าครึ่งหนึ่งนั้นหยุดและเลิกได้ ส่วนอีก 40% เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน อุบัติเหตุ ถูกฆ่าตาย ฯลฯ และอีก 10% กลายเป็นคนบ้าคนจรจัดอยู่ตามถนน" นพ.อังกูร อธิบายเพิ่ม แพทย์จากสถาบันธัญญารักษ์คนเดิมบอกด้วยว่า เกณฑ์วินิจการติดยาเสพติดหากคุณหรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรม 3 ใน 7 ข้อนี้ 1.มีอาการขาดยาเมื่อไม่ได้เสพ 2.ต้องเพิ่มปริมาณการเสพมากขึ้น 3.ควบคุมปริมาณและระยะเวลาที่เสพไม่ได้ 4.หมกมุ่นกับการเสพและการหาสารมาเสพ 5.พยายามเลิกเสพหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ 6.เสพจนมีผลกระทบต่อสังคมและการงาน 7.คงเสพแม้เกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้ติดยาเสพติดแล้ว นอกจากนี้ แพทย์หญิงวรางคณา รักษ์งาน สถาบันธัญญารักษ์ ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการบำบัดผู้ติดสารเสพติดว่า "การรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดของสถาบันธัญญารักษ์นั้น แบ่งเป็นการการรักษาโดยสมัครใจ บังคับบำบัด และต้องโทษบำบัด โดยมีแนวทางการรักษาคือเตรียมความพร้อม ถอนพิษยา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และติดตามผล โดยขั้นแรกต้องประเมินภาวะทางร่างกาย ระดับความรุนแรง แรงจูงใจ โรคร่วม สังคมและครอบครัวของผู้ป่วย จากนั้นให้การรักษาด้วยยาและฟื้นฟูสมรรถภาพโดยแบ่งเป็นผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน สุดท้ายจบที่การส่งต่อและติดตามผล ซึ่งทางสถาบันจะส่งต่อผู้ป่วยให้กับสถานบำบัดใกล้บ้านและติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆ" อย่างไรก็ดี พญ.วรางคณา ยังให้ความรู้เพิ่มเติมถึงความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยยาเสพติดไว้ด้วยว่า ความเชื่อที่ว่าคนติดยาเป็นคนนิสัยแย่ ติดยาแล้วไม่มีทางรักษาหาย หรือต้องรักษาด้วยการเข้าค่ายเท่านั้น ตนเรียนว่าในความเป็นจริง ยาเสพติดทำให้สมองเปลี่ยนแปลงไปเพราะเกิดจากอาการสมองติดยา ส่วนที่บอกว่าเป็นโรคเรื้อรังเลิกแล้วก็กลับไปเสพอีกนั้น แท้จริงแล้วรักษาให้หายขาดได้เพียงแต่ต้องใช้เวลาและความเข้าใจในการรักษา ส่วนวิธีการรักษาไม่จำเป็นต้องเข้าค่ายอย่างเดียว แต่สามารถให้ความรู้ด้านกาย จิต สังคม ทานยารักษาต่อเนื่อง และครอบครัวผู้ติดยาให้ความรักความอบอุ่นก็สามารถหายขาดได้ "อยากขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ออกไป เพื่อให้คนไทยตระหนักว่าผลของการติดยาเสพติดนั้นมีโทษต่อร่างกายผู้เสพทันที โดยไม่ต้องรอถูกจับกุม แต่ถ้าผู้เสพรู้ตัวและยินยอมเข้ารับการรักษาการติดยาเสพติดหรือโรคสมองติดยานั้น แม้จะเป็นโรคเรื้อรังแต่ก็รักษาให้หายได้ เรามีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องมือช่วยตรวจสอบการทำงานของสมองให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากพอและสามารถใช้ได้กับทุกคน และการเชื่อมโยงความร่วมมือแบบบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นในการประสานความร่วมมือรอบด้าน ทั้งนี้ หากเริ่มรักษาผู้ติดยาเสพติดได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อผู้ติดยามากเท่านั้น และหากได้รับการบำบัดนานเท่าไหร่ โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จก็มีมากขึ้นตามเช่นกัน สุดท้ายขอให้เข้าใจว่าการเสพติดซ้ำ เป็นธรรมชาติของโรคสมองติดยา ไม่ใช่การรักษาที่ล้มเหลวแต่อย่างใด ญาติและสังคมผู้ใกล้ชิดจึงต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องและให้โอกาสด้วย" พญ. วิลาวัณย์กล่าวย้ำ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ