“สุทธิพล” ระบุการประชุม WCIT-12 จบไม่สวย

ข่าวทั่วไป Wednesday December 19, 2012 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--กสทช. กลุ่มประเทศพัฒนาปะทะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ช่วงชิงความได้เปรียบในการกำหนดกติกาโทรคมนาคม สำหรับประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจต่อการเข้าร่วมเจรจาในเวทีโลก จากการที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุม World Conference on International Telecommunications 2012 (WCIT-12) พร้อมด้วยคณะได้เข้าร่วมการประชุม ณ เมืองดูไบ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม 2555 โดยมีประเด็นสำคัญที่เป็นที่จับตามองคือ การรวมเอา ICT และ internet เข้าไว้ในคำจำกัดความของโทรคมนาคมซึ่งหลายประเทศเช่น จีน รัสเซีย และกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลางผลักดัน ล่าสุดหลังจากที่มีการอภิปรายกันอย่างดุเดือด และมีการแบ่งกลุ่มย่อยล็อบบี้ ทำให้เกิดการประนีประนอมโดยเสนอทางเลือกที่จะนำเอาประเด็นเรื่อง ICT และอินเทอร์เน็ต บรรจุไว้ใน Resolution เพื่อให้มีการศึกษาต่อไป โดยยังไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ไว้ในข้อความตกลงใดๆ ด้วยเหตุนี้ประเด็นเรื่อง ICT และอินเทอร์เน็ตจึงสามารถยุติลงได้โดยนำประเด็นเรื่องนี้ใส่ไว้ใน Resolution ซึ่งเป็นเรื่องของข้อเสนอแนะและไม่มีผลผูกพันประเทศภาคี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของกลุ่มประเทศสมาชิก ITU รวมทั้งไทยที่แสดงท่าทีชัดเจนมาโดยตลอดว่าไม่ประสงค์จะขยายคำจำกัดความของโทรคมนาคมให้รวมถึงประเด็นเรื่อง ICT และอินเทอร์เน็ต จึงถือเป็นความสำเร็จของคณะผู้แทนไทยที่มีส่วนร่วมในการผลักดันในเรื่องนี้ ทำให้สามารถที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ นอกจากในเรื่องดังกล่าวแล้ว ล่าสุดยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเป็นเวลานาน กล่าวคือ การเพิ่มประเด็นการเคารพในหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปในอารัมภบท (Preamble Clause) ของร่าง International Telecommunications Regulations (ITRs) โดยที่ประชุมแบ่งเป็นสองฝ่าย ขณะที่ฝ่ายหนึ่งต้องการให้บรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ในอารัมภบท อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรใส่ไว้ หรือหากจะใส่ไว้ก็ควรใช้ถ้อยคำที่ยืดหยุ่น และไม่ผูกพันประเทศภาคี ต่อประเด็นนี้ ดร.สุทธิพล มีความเห็นว่า ปัจจุบันโทรคมนาคมมีบทบาทที่สำคัญต่อประชาชน ดังนั้น กฎ กติกา และการกำกับดูแลจึงจำเป็นต้องมีความชัดเจน และประชาชนในทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยจะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการใช้บริการโทรคมนาคม ควบคู่ไปกับการได้รับการปกป้องในสิทธิพื้นฐานของตน โดยประเทศไทยได้เคารพกติกาสากลขององค์การสหประชาชาติเรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด จึงควรสนับสนุนการบรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ในอารัมภบทฯ โดยที่ประชุมใหญ่ไม่สามารถตกลงกันได้โดยฉันทามติ ประเทศอิหร่านจึงเสนอให้มีการตัดสินด้วยการลงมติในประเด็นนี้ โดยที่ประชุมได้ลงคะแนนลับ โดยผลปรากฎว่าเสียงข้างมากจำนวน 77 เสียง เห็นชอบให้บรรจุเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้ในอารัมภบท ของ ITRs นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ ที่มีส่วนทำให้หลักเกณฑ์โทรคมนาคมระหว่างประเทศต้องคำนึงถึงหลักการพื้นฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามในอารัมภบทนี้ได้มีการเพิ่มข้อความในวรรคสาม ให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวยอมรับสิทธิในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมระหว่างประเทศของประเทศภาคี ซึ่งทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรปไม่พอใจ เนื่องจากไม่ต้องการให้มีข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ ด้วยเหตุนี้แม้ที่ประชุมส่วนใหญ่จะสามารถตกลงกันในร่าง ITRs ได้เป็นผลสำเร็จ แต่ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป ไม่พอใจและกล่าวว่าจะไม่ลงนามรับรองร่างความตกลงใหม่นี้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีหลายประเด็นที่ละเอียดอ่อนจำเป็นต้องนำไปศึกษาถึงผลกระทบและความสอดคล้องกับกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้อง หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวน โดยประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวนที่จะไม่ผูกพันตามร่าง ITRs นี้ หากมีประเด็นที่ขัดต่อกฎหมายภายในของประเทศไทย และสงวนสิทธิที่จะตั้งข้อสงวนเพิ่มเติมก่อนที่จะให้สัตยาบัน รวมทั้งสงวนสิทธิที่จะดำเนินการใดๆ หากประเทศภาคีอื่นไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่เป็นผลจากการเจรจานี้หรือมีการตีความที่ไม่เหมาะสม “เป็นที่น่าสังเกตว่าจากการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในกลุ่มยุโรปแสดงท่าทีที่จะไม่ลงนามรับรอง ขณะที่หลายประเทศตั้งข้อสงวนไว้หลายประการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปรับปรุง ITRs แม้จะเสร็จสิ้นลงไปแล้ว แต่ก็อาจมองว่ายังไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากขาดสภาพบังคับ โดยหากร่าง ITRs มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม จะมีกลไกในการเยียวยาอย่างไร และจะมีหน่วยงานใดเป็นผู้ตีความบทบัญญัตินี้ เรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่อไป และน่าจะเป็นสงครามรักษาผลประโยชน์ทางโทรคมนาคม ระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ในส่วนของประเทศไทย การเข้าร่วมเจรจาครั้งนี้มองจากแง่มุมผลประโยชน์ของประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ” ดร.สุทธิพล กล่าวในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ