เปิดสถิติความรุนแรงชายแดนใต้มีหญิงหม้ายกว่า 3 พันราย เด็กกำพร้ากว่า 5 พันคน ภาคประชาสังคมยื่นข้อเสนอดันผู้หญิงมีบทบาทหลักแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่

ข่าวทั่วไป Friday December 21, 2012 17:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย มูลนิธิอ๊อกแฟมร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และองค์กรภาคีเครือข่ายจัดงานเสวนาสิทธิและบทบาทในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ เผยมีผู้หญิงหม้ายเกิดขึ้นมากกว่า 3,000 รายในสถานการณ์ความรุนแรงและมีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 5,000 คน พร้อมยื่นข้อเสนอหลักในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ โดยพัฒนาระบบกลไกให้เปิดโอกาสกับผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ มียุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการ พร้อมงบประมาณสนับสนุนที่ชัดเจน วันที่ 18 ธันวาคม ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม เพื่อสันติภาพและความมั่นคงในชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์สื่อ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสหภาพยุโรป จัดเวทีเสวนา “เวทีผู้หญิง:สิทธิและบทบาทในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้” เนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ และผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ นายเชอเรียน แมททิว รองผู้อำนวยการ องค์การอ็อกแฟม ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ผู้หญิงมีบทบาทมากในการสร้างสันติสุขทั่วโลก เรียกได้ว่า หากไม่มีสตรี ก็คงไม่มีสันติสุข โดยผู้หญิงมีบทบาททั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเรื่องคุณภาพชีวิต มีบทบาทในเรื่องสิทธิมนุษชน ทั้งนี้ในช่วงความขัดแย้งที่เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับผู้หญิง ทำให้ต้องเป็นกลายเป็นผู้สูญเสีย แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เราเห็นถึงความเข้มแข็งอย่างมาก ทำให้เราเห็นบทบาทผู้หญิงที่กลายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่ประชาสังคม ดังนั้นวันนี้เราจึงควรส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การเปิดโอกาส แต่ต้องทำให้เป็นบรรทัดฐานของการสร้างสันติสุข เพราะบางครั้งการเข้าไปมีบทบาทยังมีปัญหาข้อติดขัดทั้งในเรื่องวัฒนธรรม ที่ส่งผลให้การเข้าไปมีบทบาทของสตรีไม่สามารถแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งท้าทายที่จะต้องแก้ปัญหาร่วมกันในทุกภาคส่วนต่อไป นางโซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม และผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ที่เกิดมาตั้งแต่ปี 2547 ว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 5,000 คน บาดเจ็บกว่า 9,000 คน มีผู้ถูกควบคุมตัวไปกว่า 5,000 คน มีหญิงหม้ายกว่า 3,000 คน เด็กกำพร้ากว่า 5,000 คน และระยะหลังยังพบว่าผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งผู้หญิงและเด็กกลายเป็นเหยื่อโดยตรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้วัตถุระเบิดในการก่อเหตุเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์โดนลูกหลง นอกจากผลกระทบ ที่เป็นความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สุขภาพ คุณภาพชีวิตและการพัฒนาในพื้นที่ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมฯ จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันขึ้นเพื่อต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในชายแดนใต้ รวมทั้งได้สร้างเครือข่ายให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ โดยเรารวมตัวกันตั้งแต่ก่อนที่จะมีระบบการเยียวยาจากภาครัฐ ดำเนินการในรูปแบบการสงเคราะห์ช่วยเหลือ มีการจัดตั้งกองทุนการศึกษาให้กับเด็กก่อนที่รัฐจะเข้ามาช่วยเหลือ มีการตั้งกลุ่มบำบัดของผู้ได้รับกระทบ จากนั้นเมื่อเข็มแข็งมากขึ้นก็พัฒนาไปสู่การเยียวยาช่วยเหลือกันเอง ปกป้องสิทธิผู้ได้รับผลกระทบ และนำมาสู่การพัฒนาแกนนำสตรีที่มีความเข้มแข็ง พัฒนาบทบาทของการเป็นคนกลางในการเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชน ซึ่งทำให้ผู้หญิงเป็นคนกลางคลี่คลายความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี “อยากเรียกร้องต่อทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาภาคใต้ร่วมกัน ดังนี้ ทุกภาคส่วนต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันผู้หญิงไมใช่เหยื่อที่รอการเยียวยาเพียงเท่านั้น แต่เราสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้นในฐานะที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ขณะนี้เรามีเครือข่ายผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องผ่านการสื่อสารสาธารณะ และการรณรงค์ เพื่อให้ยุติการใช้ความรุนแรง รวมทั้งความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ต้องให้ผู้หญิงเข้าไปอยู่ในกลไกการแก้ปัญหาและการสร้างสันติภาพทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติที่มีอยู่ ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นและเหมาะสม โดยเฉพาะในระดับของการตัดสินใจ รวมทั้งต้องสนับสนุนและพัฒนาให้เป็นกลไกที่มีความเข้มแข็ง สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้ผู้หญิงในพื้นที่จัดทำแผนและยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของสตรีเพื่อสร้างสันติภาพที่ชัดเจน รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ให้เกิดการขับเคลื่อนได้จริงจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีการทำงานที่สอดประสานกันทั้งในระดับพื้นที่ และชาติ หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม กล่าวต่อว่า กลไกสำคัญที่เกิดขึ้นในขณะนี้เพื่อทำให้เกิดสันติภาพในชายแดนใต้ คือ มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงปลอดภัย ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งหน่วยงานความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันการศึกษา UN WOMEN ภาคประชาสังคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีอนุกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเป็นกลไกระดับชาติ ที่ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญต้องมีการเชื่อมโยงกับกลไกในระดับพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะตามแผนแม่บทการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ปี 2555-2557ในเรื่องการรักษาความปลอดภัย ที่จำเป็นที่สุดจะต้องมีการวางแผนร่วมกัน และต้องอยู่บทพื้นฐานการมีส่วนร่วมของนในชุมชน นางสุนทรี แรงกุศล ผู้อำนวยการองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสตรีเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากในสถานการณ์เดียวกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้ง ผู้หญิงประสบปัญหา หรือมีมุมมองต่อปัญหาและหนทางแก้ไขที่แตกต่างจากผู้ชาย เช่น การดูแลบุตรหลาน การต้องปรับตัวดูแลเศรษฐกิจของครอบครัวแทนสามี ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และที่สำคัญประสบการณ์จากต่างประเทศพบว่า ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังเช่นในมินดาเนาว์ ประเทศฟิลิปปินส์ นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานอาวุโสมูลนิธิเอเชีย กล่าวว่า นโยบายการบริหารยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาชายแดนใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ใช้เป็นกรอบในการส่งเสริมสิทธิและบทบาทของผู้หญิงได้ ซึ่งจำเป็นต้องทำก่อนมีการเจรจาในเรื่องสันติภาพ ปัญหาเชิงโครงสร้างในชายแดนใต้ ที่ไม่มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง มีการคอรัปชั่น การกดขี่ข่มเหง การเลือกปฏิบัติ ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ขาดธรรมาภิบาล เป็นเรื่องที่สำคัญมากไม่แพ้เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องกระจายอำนาจการบริหารชายแดนใต้ให้ชุมชน โดยเฉพาะผู้หญิงได้มีส่วนร่วม รัฐจะต้องกระตุ้นและสร้างโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในทางการบริหารท้องถิ่นให้มากขึ้น อาจพิจารณาใช้รูปแบบมาตรการพิเศษ อาทิ มีการกำหนดให้ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้หญิงครึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดมุมมองที่ความสมดุลย์ระหว่างหญิง-ชาย คณะกรรมการต่างๆ ควรจัดที่นั่งให้ผู้หญิงอย่างน้อย หนึ่งในสาม และให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมเรื่องการรักษาความปลอดภัย นางเรืองรวี กล่าวอีกว่า ในการสร้างความเสมอภาคในโอกาส ซึ่งบางครั้งฝ่ายรัฐอาจละเลยประเด็นวัฒนธรรม เช่นการที่เครื่องแบบไม่อนุญาตให้คลุมฮิญาบในการปฏิบัติหน้าที่บางตำแหน่ง เช่น ทหาร ตำรวจ ทำให้ผู้หญิงชายแดนใต้ที่นับถือศาสนาอิสลามหลายคน พลาดโอกาสในการรับใช้ประชาชนในบ้านเกิดตน ในส่วนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวนั้นส่วนมากจะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้นำทางศาสนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงไม่ว่าจากครอบครัวหรือจากการถูกละเมิดทางเพศเกิดความลำบากใจในการที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่แท้จริง ดังนั้น กลไกทั้งของรัฐและศาสนาต้องมีช่องทางพิเศษ หรือหน่วยงานพิเศษที่เอื้อและเป็นมิตรให้ผู้หญิงเข้าถึงการบริการ หรือขอคำปรึกษา จึงจำเป็นต้องจัดให้มีขึ้น “รวมทั้ง ขอเรียกร้องให้คู่ความขัดแย้งที่ใช้กำลัง เคารพกฎการปะทะสากล ที่ห้ามการใช้อาวุธกับผู้หญิงและเด็กเด็ดขาด นอกจากนี้นโยบายเรื่องความปลอดภัยควรปรึกษาสอบถามคนในชุมชนว่าต้องการรูปแบบการรักษาความปลอดภัยลักษณะใด ส่วนใหญ่ชุมชนอยากมีส่วนในการจัดการความปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่มากกว่าเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียว เหมือนที่ผ่านมา” ผู้ประสานงานอาวุโสมูลนิธิเอเชียกล่าว ด้านน.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิงกล่าวว่า ปัจจุบัน รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในคณะกรรมการต่างๆ รวมถึงการจัดทำระเบียบในเรื่องการเยียวยา เราจะเห็นว่า ครอบครัวผู้สูญเสีย แม้แต่จากเหตุการณ์ ๒๘ เมษา ก็ได้รับการเยียวยาด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่เครือข่ายต่างๆ รณรงค์เรียกร้องเรื่อยมา สอดคล้องกับมติที่ ๑๓๒๕ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลควรดำเนินการให้เป็นระบบรวมถึงการให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติความขัดแย้ง ในการรักษาและในการสร้างสันติภาพ และจะต้องคำนึงถึงสิทธิผู้หญิงในด้านต่างๆ ที่อาจะได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ ตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติในอนุสัญญาผู้หญิง หรือ Committee on the Elimination of Discrimination against Women (CEDAW) ตามมติ ๑๘๒๐ รัฐจำเป็นต้องพัฒนากลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ความคุ้มครองแก่หญิงและเด็กจากความรุนแรงในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ซึ่งจากสถิติปัจจุบันอาจจะมีผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงทางเพศในชุมชนแจ้งเหตุหรือมาขอความคุ้มครองในจำนวนที่น้อยมาก เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้ง ทำให้ยังขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงได้และมีความละเอียดอ่อนต่อปัญหามากพอ ขณะที่ น.ส.ศันสนีย์ นาคพงษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาเรื่องความรุนแรงในภาคใต้เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ในการกำกับการการแก้ปัญหาด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้รัฐบาลก็ตระหนักดีว่าปัญหาดังกล่าวมีความซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้หญิงเป็นที่ได้รับผลกระทบทั้งตรงและทางอ้อม ต้องสูญเสียครอบครัว หรือต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นภาระใหญ่หลวงของผู้หญิงที่จะต้องมาสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งรัฐบาลก็จะเข้ามาดูแลตรงนี้ ส่วนหนึ่งคือการตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพผู้หญิงในทุกมิติ ด้าน นางพรสม เปาปราโมทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี กล่าวถึงการแก้ปัญหาในภาครัฐว่า ปัจจุบันเราได้ให้เงินอุดหนุนการทำงานในพื้นที่ จัดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เพราะจากสถานการณ์เรามีความห่วงใยผู้หญิงที่ต้องอยู่ในสถาการณ์ความขัดแย้ง ส่วนการทำงานในรูปของอนุกรรมการฯ ที่มีการผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยมาก เพราะจะทำให้เกิดทำงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ควรเพิ่มการสร้างเครือข่ายข้ามจังหวัด มีคณะทำงานในพื้นที่ รวมถึงต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนในพื้นที่ด้วยโดยเฉพาะในเรื่องเพศ เพื่อให้ผู้หญิงได้เข้ามามีตำแหน่ง มีอำนาจในการตัดสินใจได้มากขึ้น
แท็ก สันติภาพ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ