เครื่องสำอางไทยตีตลาดญี่ปุ่น อาเซียน 10 เดือนแรกขยายตัวกว่า 6% ชี้แนวโน้มตลาดนิยมสมุนไพร-ธรรมชาติ เล็งเจาะตลาดฮาลาลกำลังซื้อสูง เผยเร่งลดปัญหาภาษีนำเข้า-ขึ้นทะเบียนเวชสำอาง

ข่าวทั่วไป Monday December 24, 2012 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยการส่งออกสินค้าเครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิวว่า ในช่วง 10 เดือนของปีนี้(มกราคม — ตุลาคม )ส่งออกเพิ่มขึ้น 6.6% หรือ มีมูลค่า 2,257 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นสินค้าสิ่งปรุงแต่งสำหรับใช้กับผม วัตถุดิบเพื่อใช้ทำเครื่องสำอาง สิ่งปรุงแต่งที่ใช้แต่งหน้า หรือบำรุงผิว สิ่งปรุงแต่งเพื่ออนามัยในช่องปากและฟัน สบู่ สิ่งปรุงแต่งที่ใช้โกนหนวด อาบน้ำและดับกลิ่นตัว และหัวน้ำหอมและน้ำหอม คาดว่าการส่งออกปีนี้จะเพิ่มขึ้น 15% หรือ คิดเป็นมูลค่า 2,880 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา โดยญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้น 27% และอินโดนีเซียขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% ทั้งนี้แนวโน้มของตลาดที่น่าสนใจ คือ ฮาลาล เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมาก ดังนั้นผู้ประกอบการควรพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานฮาลาล เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนและนอกกลุ่มอาเซียน เช่น กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ตลาดญี่ปุ่นมีความนิยมและให้ความสนใจผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากสมุนไพร/ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น สบู่สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้กับเส้นผม เครื่องสำอางสมุนไพรใช้ดับกลิ่นตัว เป็นต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรเป็นที่รู้จักทั่วโลกทั้งคุณภาพมาตรฐาน และมีแนวโน้มการส่งออกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่ ลิเบีย 313% เอธิโอเปีย 139% และนอร์เวย์ 119% โดยไทยมีจุดแข็งในเรื่องของ ราคาถูก (ค่าแรงที่ถูกกว่า) เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ความประณีตและการบริการที่มีความหลากหลายด้านวัตถุดิบในการผลิต มีสถาบันรองรับและมาตรฐานการผลิตที่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก หากไทยสามารถลดปัญหาในด้านภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าและต้นทุนการบรรจุภัณฑ์ของไทยที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น จีนและมาเลเซีย ปรับปรุงแบบและคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ยังเสียเปรียบคู่แข่ง เช่น จีนและเกาหลีใต้ กฎระเบียบการขอขึ้นทะเบียนฉลากสรรพคุณเกี่ยวกับเวชสำอางยังไม่ชัดเจน รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การขาดการวิจัยและการพัฒนาคุณภาพสินค้านำเข้าของจีนค่อนข้างเข้มงวดและกีดกัน จะทำให้การส่งออกเพิ่มสูงขึ้น นางศรีรัตน์ กล่าวถึงกลยุทธ์ทางการตลาดว่า กรมฯจะสนับสนุนการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาทางด้านการผลิตวัตถุดิบอย่างจริงจัง ช่วยเหลือผู้ประกอบการทำการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ดีและมีประสิทธิภาพทัดเทียมต่างประเทศ การลดกำแพงภาษีนำเข้าวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ในการผลิต เร่งแก้ไขกฎหมายและปรับปรุงประสิทธิภาพการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับประมาณคำขอ จัดสัมมนาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขยายการส่งออกในตลาดหลักและตลาดที่มีศักยภาพ โดยเน้นการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ