เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประกาศ 9 วาระ เดินหน้าปฏิรูปสุขภาวะคนไทยทุกมิติ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 26, 2012 17:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สช. เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบผลักดัน 9 นโยบายห่วงใยสุขภาพ เตรียมเสนอครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ พบประสบความสำเร็จทุกมิติ ผู้เข้าร่วมประชุมทุกภาคีเครือข่ายเข้าร่วมมากสุดเป็นประวัติการณ์ และองค์การระดับโลกยกย่องกระบวนการมีส่วนร่วมนโยบายสาธารณะ พร้อมเดินหน้าสู่ปี 2556 การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 วันที่ 18-20 ธ.ค. 2555 ภายใต้แนวคิด "ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ" ณ ไบเทค บางนา เห็นชอบการผลักดันนโยบายจำนวน 9 วาระ พร้อมติดตามมติที่ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว 4 ครั้งที่ผ่านมา เพื่อขับเคลื่อนสู่ภาคปฏิบัติ โดยเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติต่อไป ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) กล่าวว่า การประชุมในปีนี้มีภาคีเครือข่ายและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมารวมถึง 2,551 คน โดยสามารผลักดันมติออกมาได้ 10 เรื่อง ที่เป็นผลจากการทำงานด้านวิชาการเป็นเวลาถึง 1 ปี หลังจากนี้จะมีการติดตามนโยบายที่นำไปสู่ภาคปฏิบัติ ดร.ไชยยศ บุญญากิจ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 1 และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุมคณะที่ 2 ร่วมกันแถลงถึงวาระที่ภาคีเครือข่ายให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย การปฏิรูปการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) พบว่า หากไม่ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยทันเหตุการณ์ จะขยายความขัดแย้งระหว่างภาครัฐหรือเจ้าของกิจการ กับชุมชน ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยภาคีเครือข่ายเสนอให้มีการแก้ไขกฏหมาย อาทิ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535เพื่อปฏิรูปโครงสร้างและระบบการวิเคราะห์ผบกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การจัดทำ EIA และ EHIA ผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อย่างเร่งด่วน การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยให้เสนอครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาศักยภาพในการรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาพรวมของจังหวัด เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาและอนุญาตโครงการแต่ละพื้นที่ พร้อมปรับปรุงมาตรฐานการใช้ประโยชน์ที่ดินผังเมือง ปรับปรุงบัญชีประเภทอุตสาหกรรมประเภทกิจการไฟฟ้า ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นหน่วยงานหลักทบทวนปรังปรุงเงื่อนไขในการออกใบอนุญาต รวมทั้งกำหนดที่ตั้ง ระยะห่างที่เหมาะสมกับชุมชน พร้อมเพิ่มบทลงโทษทางแพ่งและอาญาแก่ผู้ขาดคุณสมบัติ สร้างการมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในระดับชุมชน ( Community Health Impact Assessment : CHIA) การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลต่อสุขภาพ สนับสนุนภาคประชาชนและองค์กรชุมชนในการแก้ไขปัญหาไฟ่าและหมอกควัน ทั้งการสร้างจิตสำนึก ความรู้ และศูนย์เรียนรู้เพื่อขยายผล ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)จัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นด้านจัดการว่าด้วยไฟป่าและหมอกควัน ความปลอดภัยด้านอาหาร การแก้ปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ให้ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) และเกษตรอินทรีย์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการผลิตอาหารให้ผู้บริโภค ทบทวนการอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในกระบวนการผลิตภาคเกษตร รวมถึงปรับปรุงวิธีการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตราย การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ที่ประชุมเห็นชอบ การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ภายในปี 2557 เพื่อเสนอต่อภาครัฐ โดยให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เป็นแกนหลัก พร้อมเสนอให้กระทรวงการคลังใช้มาตรการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้น และ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมปรับปรุงมาตรฐานจักรยานให้มีคุณภาพ การจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมง : กรณีเด็กกับไอที ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เห็นร่วมกันถึงความห่วงใยปัญหาเด็กไทยใช้เวลากับไอทีมากเกินไป จนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและพัฒนาการและปัญหาการติดเกม อินเตอร์เน็ตของเด็กไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จึงสนับสนุนการดำเนินงานของ “คณะกรรมการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ” ขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี สร้างภูมิคุ้มกัน การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อควบคุมการเล่นเกมส์ของเด็ก ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควบคุมดูแลร้านเกมออนไลน์และอินเตอร์เน็ต พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ พบว่า จากข้อมูลการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก พฤติกรรมบริโภคที่เสี่ยงต่อสุขภาพ จึงควรดูแลอาหาร และให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการของสถานบริการสาธารณสุขเพื่อเอื้อให้พระสงฆ์เข้าถึงบริการ พร้อมจัดการขึ้นทะเบียนพระสงฆ์ และทำระบบฐานข้อมูลทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ด้านสิทธิและสวัสดิการ การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาหลักสูตรหรือปรับระบบการเรียนการสอนต้องเชื่อมโยงกับพลวัตของระบบสุขภาพ พร้อมจัดทำยุทธศาสตร์ผลิตกำลังคน และปฏิรูปการศึกษาภายใน 1ปี โดยมุ่งเน้นการสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้บริการด้วยหัวใจและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหาร” ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหาร ซึ่งจะมีปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น จากการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยเรียกร้องมีนโยบายและแผนให้ชัดเจนเพื่อเตรียมความพร้อม ขณะที่ภาครัฐควรเพิ่มการลงทุนด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ห้องปฏิบัติการและเครื่องมือเพื่อการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารและการควบคุมโรค ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับมติขับเคลื่อนที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 9 วาระ จะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี 3 วาระ ประกอบด้วย เรื่องการป้องกันและลดผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล , การจัดการปัญหาหมอกควัน และการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ส่วนอีก 6 วาระจะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันไปสู่ภาคปฏิบัติต่อไป และจะมีการเดินหน้าจัดประชุมครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม 2556 โดยมีดร.ศิรินา เป็นประธาน คจ.สช.อีกวาระ “การผลักดันเรื่องการพัฒนาสุขภาวะยังต้องเดินหน้าอีกมาก การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ซึ่งเราพยายามเชื่อมโยงกับสังคมมากขึ้น มีการให้กำลังใจพื้นที่หรือจังหวัดที่นำเอาเครื่องมือไปใช้ทดลองปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีการมอบรางวัลสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจำนวน 3 รางวัล และยังมีเครือข่ายจากองค์การอนามัยโลกมาเยี่ยมดูกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้วย" นพ.อำพลกล่าว
แท็ก ครม.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ