วช. เผยผลวิจัยครูใต้มีส่วนร่วมการเมืองมาก

ข่าวทั่วไป Wednesday October 27, 2004 10:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--วช.
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ก่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยในสายเลือดโดยเฉพาะครู — อาจารย์ นับเป็นบุคคลสำคัญของท้องถิ่นในอันจะสนับสนุนหรือเป็นแบบอย่างให้ประชาชนเข้ามา
มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาระบบการเมืองของประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ นางสาววรรณะ บรรจง จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทำการวิจัยเรื่อง “ปัจจัยทางจิตสังคมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของครูในภาคใต้” เพื่อศึกษาพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของครูในภาคใต้ โดยใช้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งรวมทั้งพฤติกรรมสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองของครู โดยใช้กลุ่มครู อายุ 30 ปีขึ้นไป จำนวน 985 คน ที่สอนในโรงเรียนมัธยมศึกษาของกรมสามัญศึกษาใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลาและปัตตานี เป็นกลุ่มตัวอย่าง ทั้งนี้ มีแบบวัดตัวแปร 6 อย่าง ได้แก่ แบบวัดการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง แบบวัดทัศนคติต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง แบบวัดค่านิยมทางการเมือง แบบวัดเอกลักษณ์แห่งอีโก้ทางการเมืองและแบบวัดการรับข่าวสารทางการเมือง
ผลการวิจัยพบว่า ครูที่รับรู้ข่าวสารทางการเมือง ได้รับการสนับสนุนจากสังคม ตลอดจนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง มีค่านิยมด้านการเมืองในทางที่ดี มีจริยธรรม มีความยึดมั่นในตนเอง เป็นผู้มีพฤติกรรมในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งตลอดมา นับว่าเป็นผู้มีทัศนคติที่ดีต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองมาก ซึ่งหากจะพัฒนาพฤติกรรมให้ครูมีส่วนร่วมในทางการเมืองก็จะต้องมีองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการเมือง
ร่วมมือกันพัฒนาจิตลักษณะของการมีส่วนร่วม สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ควรจัดรายการวิเคราะห์ข่าวสารทางการเมืองให้มากกว่าเดิม สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นอิสระ ทำบทสรุปวิเคราะห์ข่าวสารทางการเมือง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ก็จะเป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ