CEO Sentiment Survey

ข่าวทั่วไป Wednesday January 2, 2013 13:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--กรุงเทพธุรกิจ ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ทำการสำรวจความเห็นของผู้บริหารธุรกิจ เกี่ยวกับแนวโน้มทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และแนวทางในการปรับตัวในปี 2556 โดยมีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 251 ราย ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 20 ธันวาคม 2555 จากการสำรวจพบว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยในปี 2556 อยู่ที่ 4.6% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีค่า ต่ำสุด-สูงสุด อยู่ระหว่าง 1,178 ถึง 1,412 สำหรับประมาณการของกำไรที่คาดว่าจะได้ในปีหน้าโดยเฉลี่ยประมาณ 4.0 % และประเทศที่นักธุรกิจวางแผนจะไปลงทุนมากที่สุดในปีหน้า ได้แก่ ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และจีน เมื่อสอบถามถึงการคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจในปี 2556 เมื่อเทียบกับปี 2555 กลุ่มตัวอย่าง 3.7% เชื่อว่าจะดีขึ้นมาก 43.5% จะดีขึ้น 40.4% ใกล้เคียงกับปี 2555 11.2% แย่ลง และอีก 1.2% แย่ลงมาก จะเห็นได้ว่า นักธุรกิจเกือบครึ่งหนึ่งมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 มีแนวโน้มที่ดี และกว่าสี่ในห้าเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะไม่แย่ไปกว่าปี 2555 ด้านการจัดอันดับธุรกิจที่คาดว่าจะเป็นดาวรุ่ง 3 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ธุรกิจการเงิน ซึ่งการเติบโตของธุรกิจยานยนต์นั้น ปัจจัยหลักก็เนื่องมาจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลและการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ได้นำรถยนต์ขนาดเล็กออกมาทำตลาดมากขึ้น ส่วนการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น เป็นผลมาจากการนำระบบ 3G เข้ามาใช้ในปีหน้า ประกอบกับการขยายตัวของการพาณิชย์อิเลคทรอนิคส์หรืออีคอมเมิร์ซ ซึ่งทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ประมาณการไว้ว่าในปี 2556 อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะขยายตัวอีก 30% ธุรกิจการเงินยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับประโยชน์จากนโยบายรถคันแรก และการทำตลาดในเชิงรุก ยกตัวอย่างเช่น ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมาณการไว้ว่า มีการเปิดบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 9.6 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 8 แสนบัญชี ด้านการคาดการณ์ผลประกอบการในปี 2556 กลุ่มตัวอย่าง 46.8% คาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 8.3% กลุ่มตัวอย่างอีก 43.2% คาดว่าจะมีกำไรใกล้เคียงกับปี 2555 7.2% คาดว่าจะมีกำไรลดลง โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 3.0% และอีก 2.8% คาดว่าจะขาดทุน โดยเฉลี่ยแล้วจะขาดทุนประมาณ 3.2% ซึ่งผลที่ได้นี้สอดคล้องกับการที่กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2556 มีแนวโน้มที่ดีกว่าปี 2556 สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้มีกำไรเพิ่มขึ้น 45.3% ระบุว่า เกิดจากการขยายตัวของตลาดและความต้องการที่เพิ่มขึ้น 25.3% เกิดจากการลดต้นทุน 12.6% เกิดจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ 8.4% การนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการทำธุรกิจ และอีก 3.1% มาจากการเพิ่มราคาขาย 5.3% เป็นเกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การหาพันธมิตร นโยบายด้านภาษีและสิทธิประโยชน์ที่ได้จากนโยบายรัฐบาล เป็นต้น และอีก 3.1% มาจากการเพิ่มราคาขาย ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กำไรลดลงหรือขาดทุนนั้น กลุ่มตัวอย่าง 62.7% ระบุว่าเกิดจากต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น 18.7% สภาพตลาดในประเทศ 13.6% สภาพตลาดในต่างประเทศ 3.5% การแข่งขัน และอีก 1.5% เป็นปัจจัยอื่นๆ เช่น การเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ ปัญหาสภาพคล่องเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ เป็นต้น จากการสอบถามเพื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินว่าปัจจัยที่ระบุไว้ในแต่ละเรื่องมีอิทธิพลต่อผลประกอบการของธุรกิจในระดับใด โดยให้คะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 4 (มีผลน้อยที่สุด = 1 คะแนน มีผลมากที่สุด = 4 คะแนน) พบว่า ปัจจัยที่มีผลมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจของไทย ได้ 3.6 คะแนน ความต้องการของตลาดที่ลดลง ได้ 3.5 คะแนน การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ และการเมืองในประเทศ ได้ 3.4 คะแนนเท่ากัน และ ต้นทุนวัตถุดิบ ได้ 3.3 คะแนน สำหรับแนวทางในการบริหารค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ 7 ด้าน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 80.1% วางแผนจะเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 73.2% ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 67.2% ด้าน IT 64.9% ด้านการตลาด 61.0% ด้านการพัฒนาบุคลากร 52.7% ด้านสื่อโฆษณา และอีก 51.9% ด้านการทำ CSR ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีประมาณ 11.0% ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่า จะลดค่าใช้จ่าย มีอัตราการลดลงของค่าใช้จ่ายประมาณ 2.6% ที่น่าสังเกตก็คือ อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมีค่าสูงที่สุด โดยอยู่ที่ 15.9% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของธุรกิจในการปรับตัวรับมือกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและวัตถุดิบ เมื่อสอบถามว่ามีแผนการที่จะไปลงทุนในต่างประเทศหรือไม่ โดยจำแนกตามขนาดของสถานประกอบการ พบว่า 21.0% ของสถานประกอบการขนาดเล็ก มีแผนจะไปลงทุนในต่างประเทศ สำหรับสถานประกอบการขนาดย่อม สัดส่วนของผู้ที่วางแผนจะไปลงทุนในต่างประเทศคิดเป็น 34.2% สำหรับสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 42.9% และ 51.7% ตามลำดับ ประเทศที่นักธุรกิจวางแผนจะไปลงทุนมากที่สุดในปีหน้า ได้แก่ ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และจีน ผลจากการสำรวจครั้งนี้ สรุปได้ว่า ผู้ประกอบการยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะใกล้เคียงหรือดีขึ้นกว่าปี 2555 โดยธุรกิจที่คาดว่าจะเป็นดาวรุ่ง ได้แก่ ยานยนต์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ธุรกิจการเงิน อย่างไรก็ตาม การลดต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สะท้อนให้ถึงความพยายามที่จะลดต้นทุนเพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจที่สูงขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ปี 2556 จะเป็นปีแห่งการแสวงหาโอกาสและการปรับตัวของธุรกิจไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ