แรงกดดันเงินเฟ้ออาจขยับขึ้นต้นปี 2556 ... ตามทิศทางต้นทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 2, 2013 18:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธ.ค. 2555 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.63 (YoY) เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.74 (YoY) ในเดือนพ.ย. 2555 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 0.39 (MoM) ตามการขยับขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารสด โดยเฉพาะผัก/ผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร และราคาน้ำมันในประเทศ และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.02 ใกล้เคียงกับประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย และสำหรับในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า แนวโน้มเงินเฟ้อของไทยยังคงมีโอกาสขยับสูงขึ้นตามแรงผลักดันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ - สำหรับทิศทางเงินเฟ้อในช่วงต้นปี 2556 นั้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า แม้จะมีความเป็นไปได้ที่ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงเดือนม.ค. 2556 อาจขยับสูงขึ้นจากระดับในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตามแรงผลักดันด้านอุปทาน ทั้งจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ ตลอดจนการปรับค่าไฟฟ้า Ft (4.04 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2556) และราคาพลังงานในประเทศ อย่างไรก็ดี ผลสุทธิต่อแรงกดดันเงินเฟ้อของไทย อาจเป็นลักษณะทยอยปรับขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนม.ค. 2556 อาจไต่ระดับขึ้นไม่เกินร้อยละ 0.5 (MoM) จากเดือนธ.ค. 2555 เพราะกระบวนการส่งผ่านภาระต้นทุนของภาคธุรกิจมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภคหลายประเภทน่าจะต้องมีขั้นตอนการอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ - แนวโน้มเงินเฟ้อปี 2556 มีโอกาสขยับสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 2555 ท่ามกลางแรงหนุนจากฝั่งอุปทาน (Cost-Push Inflation) ตามทิศทางของต้นทุนการผลิตที่จ่อขยับขึ้นหลายด้าน (ค่าจ้าง วัตถุดิบ ราคาน้ำมันและก๊าซ LPG ในประเทศ) อย่างไรก็ดี สถานการณ์การบริโภคในปี 2556 ที่ขาดแรงผลักดันใหม่เมื่อเทียบกับในปี 2555 ที่ผ่านมา อาจเป็นปัจจัยที่จำกัดการส่งผ่านภาระต้นทุนของภาคธุรกิจมายังราคาสินค้าผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ทั้งนี้ แม้ว่าแรงกดันเงินเฟ้อในเดือนธ.ค. 2555 ล่าสุดจะสูงกว่าที่คาด แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองต่อตัวแปรที่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อในปี 2556 เช่นเดิม ด้วยเหตุนี้ จึงยังคงประมาณการสำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 ไว้ที่ร้อยละ 3.0-3.6 (มีค่ากลางที่ร้อยละ 3.3 สูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยร้อยละ 3.02 ในปี 2555) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีค่าเฉลี่ยอยู่ในกรอบร้อยละ 2.2-2.8 (มีค่ากลางที่ร้อยละ 2.4 ขยับขึ้นจากร้อยละ 2.09 ในปี 2555) ทั้งนี้ แม้แรงกดดันเงินเฟ้อไทยอาจทยอยขยับขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่ก็ยังไม่น่าจะเพิ่มน้ำหนักให้กับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพราคาสำหรับการพิจารณานโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น เครือธนาคารกสิกรไทย จึงคาดว่า ธปท.น่าจะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบแรกของปีในวันที่ 9 ม.ค. 2556 นี้ ไว้ที่ร้อยละ 2.75 ตามเดิม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ