ซีพีเอฟ แนะวิธีเลี้ยงสัตว์หน้าหนาว ลดเสี่ยงเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Friday January 11, 2013 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ม.ค.--ซีพีเอฟ น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ผู้ชำนาญการด้านสุขภาพสัตว์ แนะนำวิธีการเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันที่หลายพื้นที่มีอุณหภูมิลดต่ำลงในช่วงเช้าและค่ำ สลับกับอากาศร้อนในช่วงกลางวัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงทำให้เกิดความเครียด และภูมิคุ้มกันโรคของสัตว์ลดลง สัตว์จึงเจ็บป่วยง่ายขึ้น โดยมีคำแนะนำดังนี้ เกษตรกรพึงระวังโรคปากและเท้าเปื่อย ที่เกิดได้บ่อยในสัตว์กีบ เช่น โค-กระบือ และสุกร โดยเฉพาะเขตภาคเหนือและภาคกลางตอนบน นอกจากนี้แล้วในสุกรต้องระวังการเกิดโรค PRRS ที่พบว่ามีการระบาดได้ง่ายในภาวะอากาศดังกล่าว โดยเป็นโรคที่พบในสุกรและไม่มีการติดต่อถึงคน แต่เชื้อสามารถแพร่ระบาดในฝูงสุกรได้อย่างรวดเร็ว สำหรับสุกรที่ติดเชื้อจะแสดงอาการหอบ ไอ มีไข้ ผิวหนังเป็นปื้นแดง กินอาหารน้อย หมดแรง ในสุกรท้องแก่จะพบอาการแท้ง หรือลูกตายแรกคลอด ลูกที่รอดจะอ่อนแอ โตช้า ทั้งนี้ เกษตรกรต้องเข้มงวดในการป้องกันโรคทั้งในฝูงเดิม และสุกรทดแทนที่ต้องมีการแยกเลี้ยงก่อนนำเข้ารวมฝูงอย่างน้อย 1 เดือน ขณะเดียวกัน ยานพาหนะและคนบุคลากรที่จะเข้าภายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต้องผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดมาด้วย และหากมีการระบาดของโรคในพื้นที่ใด ควรงดนำสุกรฝูงใหม่เข้าเลี้ยง พร้อมทั้งติดต่อขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด ส่วนการเลี้ยงไก่ไข่นั้น น.สพ.นรินทร์ ฝากถึงเกษตรกรว่า ต้องดูแลสภาพภายในโรงเรือนให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่เปียกชื้น เพราะจะยิ่งทำให้อุณหภูมิภายในลดต่ำลง ในกรณีที่อุณหภูมิต่ำมากอาจต้องเพิ่มผ้าม่านกั้นแนวลมที่จะเข้าโรงเรือน และเพิ่มหลอดไฟกก เพื่อทำให้อุณหภูมิไม่ต่ำจนเกินไป นอกจากนี้ ยังต้องควบคุมการให้อาหารให้เหมาะสม อาจต้องให้อาหารบ่อยครั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นการกินอาหาร ทั้งนี้ สามารถเพิ่มวิตามินละลายน้ำให้แม่ไก่ได้ตามสมควร ด้านนายอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจสัตว์น้ำของซีพีเอฟ แนะนำวิธีการเลี้ยงปลาในช่วงฤดูหนาวซึ่งมักจะเกิดภาวะอุณหภูมิน้ำลดต่ำลง ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพของสัตว์น้ำ เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็นจึงมีอุณหภูมิร่างกายเท่ากับสภาพแวดล้อม ทำให้ระบบเมตาบอลิซึ่มในร่างกายของปลามีความผิดปกติรวมถึงระบบภูมิคุ้มกันที่จะลดต่ำลงด้วย ปลาจึงกินอาหารลดลงมีความอ่อนแอลง ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังควรวางแผนการเลี้ยงอย่างรอบคอบ ไม่เลี้ยงปลาหนาแน่นจนเกินไป และปล่อยลูกปลาที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและควรสังเกตการกินอาหารที่อาจลดลงเนื่องจากอุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยควรยึดหลักการณ์ให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง กล่าวคือ ควรแบ่งจำนวนมื้ออาหารมากขึ้นเป็นวันละ 5-6 มื้อ ซึ่งในแต่ละครั้งจะต้องให้ทีละน้อยเท่าที่ปลากินหมด เพื่อกระตุ้นการกินของปลาให้มากขึ้น หลีกเลี่ยงการให้อาหารในช่วงเช้าที่มีอุณหภูมิต่ำ เพราะปลาจะกินอาหารได้น้อย เกษตรกรจึงควรผสมวิตามินซีและสารกระตุ้นภูมิต้านทานในอาหารให้ปลากินสัปดาห์ละ3ครั้งเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานด้วย สำหรับการเลี้ยงในรูปแบบบ่อดินที่การควบคุมอุณหภูมิน้ำง่ายกว่า และอาจนำเอานวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบ “โปร—ไบโอติก” (Pro-Biotic Farming) เข้ามาใช้ร่วมด้วย โดยการใช้แบคทีเรียที่เป็นมิตรกับปลาและสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยปรับสมดุลสิ่งแวดล้อมในบ่อ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือสารปฏิชีวนะใดๆ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยควบคุมคุณภาพน้ำทำให้ปลาที่เลี้ยงมีสุขภาพดี ได้ผลผลิตปลาเนื้อคุณภาพ และยังสามารถทำแนวบังลมในทิศทางที่ลมหนาวพัดมาคือทิศเหนือ/ตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อลดการกระทบกันของลมเย็นที่กระทำต่อพื้นผิวของน้ำในบ่อ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ