เศรษฐกิจแคนาดาเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ผลพวงวิกฤติทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป รู้จักใช้เงินโดยคำนึงถึงคุณภาพมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday January 14, 2013 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจแคนาดาเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่ผลพวงวิกฤติทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป รู้จักใช้เงินโดยคำนึงถึงคุณภาพมากขึ้น ชี้กลุ่มเบบี้บูม-คนต่างด้าวมีโอกาสที่ดีในการบุกตลาดนิชมาร์เก็ตอาหารเพื่อสุขภาพ-Ethnic Food นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา รายงานว่าวิกฤติการเงินสหรัฐฯตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นโยบายรัดเข็มขัดทางการเงินของรัฐบาลส่งผลกระทบโดยตรงต่อแคนาดา ทำให้ประชากรลดการจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจที่พักอาศัยชะลอตัว แต่นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่า แคนาดาได้ผ่านพ้นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดมาแล้ว แม้ว่าตลอดปี 2555 เมื่อพิจารณาผลกระทบของวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปที่เริ่มส่งสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นต้นมา เศรษฐกิจของแคนาดาทั้งในด้านการเงิน การค้า และราคาหุ้นที่ตกลง ยังจัดได้ว่า ไม่มีผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากแคนาดามีระบบการเงินที่มั่นคง โดยในปี 2555 จีพีดีอยู่ที่ระดับ 2.1% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม 2.0% แต่ควันหลงจากพิษเศรษฐกิจยังคงส่งผลด้านจิตวิทยาบางส่วน เนื่องจากชาวแคนาดายังเป็นกังวลเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปที่มีต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าในปี 2556 - 2557 จีดีพี จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.4 - 2.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ เริ่มมีการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมถึงการประเมินสถานการณ์ด้านบวกเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม ความคิด และทัศนคติผู้บริโภคแคนาดา อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนแคนาดาใช้จ่ายเงินโดยคำนึงถึง "ความจำเป็น" มากกว่า "ความต้องการ" คนส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมจากการรับประทานอาหารนอกบ้านมาเป็นการรับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้น เน้น "คุณค่า คุณภาพ,ราคาที่เหมาะสมและ บริการที่ดี” กลายเป็นหัวใจของการเลือกซื้อสินค้า-บริการ ในขณะที่ไม่ได้เลือก เพราะเป็นเพียงสินค้าลดราคาเหมือนในอดีต ผู้บริโภคแคนาดา ให้ความสำคัญกับการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตสูง ส่งผลต่อพฤติกรรมในการบริโภคสินค้าอาหารที่คำนึงถึงสุขภาพและประโยชน์ที่ได้รับ นอกเหนือจากประโยชน์ตามโภชนาการทั่วไป การเปลี่ยนแปลงจากความนิยมในการบริโภคอาหารแปรรูปสู่อาหารที่ สด เป็นธรรมชาติ และปลอดสารพิษ มากขึ้น การนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ หรือ "ความยั่งยืน" ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบต่างๆ ก็เป็นส่วนสำคัญเพื่อช่วยให้ลูกค้าได้มีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้ามากขึ้น นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคมองหาอาหารที่มาจากต่างประเทศและมีความพิเศษ หรือมีส่วนผสมอาหารใหม่ๆ ที่มีความเป็นออเทนทิค (อาหารต้นตำรับดั้งเดิมที่แสดงถึงความเป็นไทย) จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ดังนั้น สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ สินค้าออร์แกนิกส์ อาหารออเทนทิค และสินค้าประเภทรักษาสิ่งแวดล้อมใน ลักษณะ "ความยั่งยืน" จะกลายเป็นแนวโน้มการเลือกซื้อสินค้าที่สำคัญในอนาคต ทั้งนี้ ความยั่งยืนไม่ใช่เป็นเพียงแค่เป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจเลือกซื้อเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญของบริษัทต่างๆ อีกด้วย นางนิศาบุษป์ วีรบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา กล่าวว่า ปัจจุบัน ครอบครัวชาวแคนาดามีขนาดเล็กลงเหลือ 1 - 2 คน ต่อครอบครัว ดังนั้นขนาดสินค้าที่เหมาะสำหรับการบริโภค 1 คนต่อมื้อ จะเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความต้องการบริโภคสินค้าอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารประเภทสะดวกบริโภคก็มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มผู้บริโภคที่น่าจับตามองมี 2 กลุ่มคือ 1. ประชากรกลุ่มเบบี้บูมที่เข้าสู่วันเกษียณ คาดว่าในปี 2574 แคนาดาจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 23 % ของประชากร ซึ่งคนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ สินค้าที่เหมาะสมสำหรับคนกลุ่มนี้ คือสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 2. ความหลากหลายของชาติพันธุ์ประชากร ที่มีกลุ่มคนต่างด้าวอพยพมาตั้งรกรากในแคนาดาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถึง 200 เชื้อชาติ และคาดว่าในปี 2560 จะมีสัดส่วนของชนกลุ่มน้อยถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ และกึ่งหนึ่งของชนกลุ่มน้อยมาจากเอเชีย (รวมเอเชียใต้) ทำให้แนวโน้มการบริโภคสินค้าอาหารท้องถิ่นตามวัฒนธรรม และส่งผลให้ผู้บริโภคแคนาดาเกิดความคุ้นเคยในการบริโภคอาหารหลากหลายวัฒนธรรมมากขึ้น สินค้าที่เหมาะสำหรับคนกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภท อาหารประจำชาติ (Ethnic Food) ที่มีความเป็นออเทนทิค ไม่ว่าจะเป็น อาหารแบบพร้อมรับประทาน อาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรสประเภทต่างๆ ที่ช่วยย่นเวลาในการประกอบอาหาร หรือแม้แต่ผลไม้สด ที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ในระยะหนึ่งโดยไม่เน่าเสีย เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด ฯลฯ จะกลายเป็นแนวโน้มการบริโภคที่สำคัญในอนาคต สอบข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์ อีเมล์: ttcvan@telus.net สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร.(02) 507-7932-34

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ