TCELS ผนึกรามา-กรมวิทย์ฯ-เภสัชมหิดล-RIKEN ประชุมนานาชาติด้านเภสัชพันธุศาสตร์

ข่าวทั่วไป Monday January 14, 2013 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ TCELS ผนึก รามา-กรมวิทย์ฯ-เภสัชมหิดล-RIKEN จัดประชุมเครือข่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมตัวนักวิจัยระดับหัวกะทิ จาก สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย วางกรอบศึกษาพันธุกรรมในระดับจีโนมมุ่งรักษาเฉพาะบุคคล ลดตายจากการแพ้ยา ไม่มีงบวิจัย ยามีใช้จำกัด เผยเฉพาะสตีเวนส์จอนห์สันโรคเดียว เพียง 5 ปี คนไข้แพ้ยาพันกว่าราย รัฐสูญงบ 100 ล้าน ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานการแถลงข่าว การจัดงาน การประชุมนานาชาติด้านเภสัชพันธุศาสตร์ครั้งที่ 2 “2nd South East Asian Pharmacogenomics Research Network” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 มกราคม 2556 โดยความร่วมมือของ 4 หน่วยงานหลัก ประกอบไปด้วย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันวิจัยจีโนมริเก้น ประเทศญี่ปุ่น โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงวิทย์ฯ นักวิจัยจากโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง นายวรวัจน์ กล่าวว่า เภสัชพันธุศาสตร์ เป็นศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมมนุษย์ที่ส่งผลต่อยาที่ใช้แตกต่างกันในแต่ละบุคคลเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทางการแพทย์ในการปรับใช้ยาที่เหมาะสมต่อการรักษาเฉพาะบุคคล เนื่องจากยาชนิดหนึ่งใช้ได้ผลในบุคคลหนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้ผล หรืออาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงชีวิตในอีกบุคคลหนึ่งได้ การจัดการประชุมครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงเครือข่ายเภสัชพันธุศาสตร์ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะร่วมรับฟังความคืบหน้าและแบ่งปันประสบการณ์รวมถึงการวางกรอบการศึกษาเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลในกลุ่มยาที่เป็นปัญหาต่อไป ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 2 และเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญ แสดงถึงความต่อเนื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องนี้ ซึ่ง TCELS ตั้งใจจะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจนกว่าศาสตร์ด้านนี้จะแพร่หลายออกไปเกิดประโยชน์ต่อประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การแพทย์เฉพาะบุคคล คืออนาคตของวงการธุรกิจอุตสาหกรรมยา เป็นเรื่องที่วงการยาควรต้องให้ความสนใจและเริ่มลงทุนเสียแต่วันนี้ เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วด้วยองค์ความรู้ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมหาศาลเพราะเราสามารถเข้าถึงข้อมูลจีโนมของมนุษย์ทั่ว ๆ ไปได้แล้ว ในราคาที่ถูกลงมาก ทำให้มีโอกาสที่คนทั่วไปจะได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมนี้ได้มากขึ้น นั่นหมายถึงฐานของลูกค้าจะขยายกว้างขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีในอดีต และ TCELS พร้อมที่จะร่วมให้การสนับสนุนบริษัทไทยที่มีความสนใจลงทุนในธุรกิจด้านนี้ ด้าน ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ ผู้อำนวยการโครงการเภสัชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า พันธุกรรมระดับจีโนมทางการแพทย์และการรักษาเฉพาะบุคคล เป็นศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาระดับพันธุกรรมเพื่อหาจุดหรือตำแหน่งบนจีโนมที่เป็นต้นเหตุหรือเป็นปัจจัยร่วมที่ก่อให้เกิดโรคหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เพื่อใช้ตำแหน่งเหล่านั้นเป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงที่บุคคลนั้นจะเกิดโรค แพ้ยา หรือใช้ยาไม่ได้ผล ในอนาคตเพื่อหาทางป้องกัน รวมทั้งการพัฒนาชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ตรวจหาตำแหน่งดังกล่าวได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วก่อนอาการปรากฏ ทำให้สามารถคิดหาวิธีรักษา ได้ทันท่วงทีโดยมีเภสัชพันธุศาสตร์เป็นเครื่องมือพิเศษหนึ่งในหลายชนิดที่การแพทย์เฉพาะบุคคล ใช้ในการวิจัยสืบค้นเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทย ศ.ดร.วสันต์ กล่าวว่า ศูนย์ติดตามความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานเลขาธิการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลต่างๆถึงอาการไม่พึงประสงค์จากภาวะแพ้ยาในกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome: SJS)โดยผิวหนังและเยื่อเมือกบุอวัยวะภายในต่างๆจะถูกทำลายอย่างรุนแรงหลังการใช้ยา จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ จำนวน 1,192 ราย ในระยะเวลา 5 ปี การรักษาผู้ป่วย SJS แต่ละรายจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 100,000 บาท ทำให้ประเทศต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเป็นจำนวนถึง 119,200,000 บาท โดยข้อมูลที่กล่าวถึงเป็นเพียงบางส่วนจากอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากระบบการจัดเก็บและการรายงานผลข้างเคียงจากการใช้ยาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศยังมีข้อจำกัด นอกจากนี้ความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างเชื้อชาติยังอาจส่งผลต่อการตอบสนองต่อยาที่ต่างกันทำให้การตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ต่อยีนบางชนิดจะมีความจำเป็นเฉพาะกลุ่มประชากร ผู้อำนวยการโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ยอมรับว่า แม้ปัจจุบันหลายประเทศได้จัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อกำหนดว่ายาใดบ้างที่จำเป็นและควรกำหนดให้ประชาชนของประเทศสามารถเข้าถึงยาเหล่านั้นได้ อย่างไรก็ตามไม่ว่ายาจะมีราคาถูกหรือมีราคาแพง เป็นยาใหม่ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศหรือเป็นยาเก่าที่หมดสิทธิบัตรนำมาผลิตใช้ภายในประเทศได้ ก็ไม่มีหลักประกันว่าหากยานั้นใช้รักษาโรคได้ดีไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ในกลุ่มประชากรหนึ่งแล้วจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรักษาและไร้ซึ่งผลข้างเคียงต่อประชากรอีกกลุ่มหนึ่ง จากปัญหาดังกล่าวทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนา มีความจำเป็น ในการทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาวิจัยหาข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์ของกลุ่มยาที่มีความจำเป็นต้องใช้ในประชากรของประเทศนั้นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการคัดเลือกยาเข้าสู่บัญชียาหลัก ได้ถูกต้องสอดคล้องกับพันธุกรรมประชากรและเศรษฐานะ ของประเทศนั้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการประชุมจะนำเสนอแนวคิดที่จะใช้เภสัชพันธุศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วมประกอบการตัดสินใจในการกำหนดชนิดของยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมทั้งมีการนำเสนอศาสตร์ใหม่ด้านพันธุกรรมระดับจีโนมทางการแพทย์เพื่อการรักษาเฉพาะบุคคลโดยมุ่งเน้นที่ยีนก่อโรค ติดต่อ: www.tcels.or.th, 02-6445499

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ