เปลี่ยนชื่อใหม่รับเปิด AEC “สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย” เตือนนายหน้าอสังหาฯรับมือต่างชาติบุกไทยชี้ราคาบ้าน-ที่ดินยังถูก

ข่าวอสังหา Monday January 21, 2013 12:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย นายหน้าเปลี่ยนชื่อองค์กรใหม่ “สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย” เผยเพื่อเป็นการระบุสัญชาติเมื่อต้องทำงานร่วมกับชาติอื่น ๆ หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เตือนนายหน้าเตรียมรับมือต่างชาติบุกตลาดอสังหาฯ ชี้ราคาบ้านและที่ดินในประเทศราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่น ๆ ในอาเซียน นายแพทย์สมศักดิ์ มุนีพีระกุล นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ มีมติเห็นชอบให้มีการเปลี่ยนชื่อสมาคมฯ โดยใช้ชื่อว่า “สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย” (Thai Real Estate Broker Association) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนายหน้าที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ที่ต้องไปทำงานในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ซึ่งจะสามารถชี้ชัดและระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นนายหน้าจากประเทศไทย เห็นได้จากมาเลเซียก็ได้ระบุชื่อประเทศไว้ในชื่อของสมาคมด้วย การเติมคำว่า “ไทย” ลงท้ายชื่อเดิมของสมาคมฯ เพราะเชื่อว่าอนาคตนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ของไทยจะต้องเดินทางไปทำงานร่วมกับชาติอื่น ๆ จะทำให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนทราบว่ากำลังใช้บริการกับนายหน้าสัญชาติใด เนื่องจากอีกไม่นานธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์จะเปิดกว้างสำหรับทุกคนในภูมิภาคนี้ “การเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่ได้มีส่วนช่วยนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ทำงานง่ายขึ้นหลังจากเปิด AEC แต่นายหน้าทุกคนจะต้องปรับกลยุทธ์การทำงานและพัฒนาความรู้เพื่อรับมือกับการแข่งขันของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต เนื่องจากจะมีนายหน้าสัญชาติต่าง ๆ ในอาเซียนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้จัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เช่น หลักสูตรวิชาการบริหารธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้การรับรอง เพื่อเพิ่มทักษะและศักยภาพของนายหน้าไทยให้สามารถทำงานท่ามกลางการแข่งขันของตลาดได้ ที่สำคัญจะต้องมีการเรียนภาษาต่างประเทศ ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นของประเทศที่เราจะไปทำงาน เนื่องจากที่ผ่านมานายหน้าของเวียดนาม มาเลเซียและสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาไทยมากขึ้น ดังนั้น นายหน้าไทยจะต้องเตรียมความพร้อมด้านภาษาสำหรับการสื่อสารด้วย” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว สำหรับจุดอ่อนและข้อเสียเปรียบของนายหน้าไทยนั้นนายแพทย์สมศักดิ์ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยยังไม่มีพ.ร.บ.ออกมาบังคับใช้ ในขณะที่ชาติอื่น ๆ ในอาเซียนได้ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวมานานแล้ว ดังนั้น หากนายหน้าไทยจะเดินทางไปทำงานที่มาเลเซียหรือสิงคโปร์จะต้องไปสอบเพื่อขอไลเซ่นส์จากประเทศนั้น ๆ ในขณะที่นายหน้าต่างชาติสามารถมาทำงานเมืองไทยได้เลยเนื่องจากมีไลเซ่นส์จากประเทศของเขาแล้ว ซึ่งจะทำให้นายหน้าไทยเสียเปรียบเพราะจะส่งผลถึงความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจจากผู้บริโภค ดังนั้น ภาครัฐบาลจะต้องเห็นความสำคัญของกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งสามารถสร้างงานและสามารถกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ “มั่นใจว่าหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีนายหน้าชาติอื่น ๆ เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางที่อยู่ในความสนใจจากประชาชนอาเซียน ที่สำคัญราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยยังถูกกว่าชาติอื่น ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ และนายหน้าอสังหาริมทรัพย์จากต่างชาติจะเข้ามาแข่งขันกับคนไทยมากขึ้น หากคนไทยไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้” นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยกล่าว สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจนายหน้าอสังหาริมทรัพย์จำนวน 300 ราย เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ พร้อมทั้งสนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิก แก้ไขอุปสรรค์ข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอก เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิก สอดส่องและติดตามความเคลื่อนไหวของการตลาดการค้าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่ออำนวยประโยชน์ แก่การประกอบธุรกิจการค้าอุตสาหกรรมการเงินหรือเศรษฐกิจ และให้ความอนุเคราะห์แก่สมาชิกในด้านสวัสดิการเท่าที่ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ คุณดรุณี รุ่งเรืองผล โทร. 081-625-6628, คุณมนัสวิน สิงหา 081-191-6779 หรือ 02-679-3255 (www.reba@reba.or.th)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ