ทส. เดินหน้าบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Thursday January 24, 2013 09:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--กรมควบคุมมลพิษ ปล่อยคาราวานตรวจสถานประกอบการที่มีระบบน้ำเสียทั่วประเทศวันที่ ๒๑ มกราคม กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดกิจกรรม D-Day บังคับใช้กฎหมายมาตรา ๘๐ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ พร้อมปล่อยคาราวานตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษทั้ง ๑๐ ประเภท เพื่อให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ และกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๘๐ ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษดังกล่าวจะต้องบันทึกสถิติข้อมูลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียประจำวันตามแบบ ทส. ๑ และจัดทำรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียตามแบบ ทส. ๒ ส่งให้กับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ในกิจกรรมดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย นายศักดา นพสิทธิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ได้เข้าร่วมพิธีความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้านการควบคุมมลพิษ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคผู้ประกอบการ สมาคมต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาลของรัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมโรงแรมไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมผู้ประกอบร้านอาหาร สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศ ต่างพร้อมใจให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม และประชาชน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการรักษาทรัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาความเสื่อมโทรมและลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับชุมชนข้างเคียงที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีสุข และได้ร่วมกันปล่อยขบวนรถคาราวานตรวจสอบสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดน้ำเสีย เพื่อเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนี้ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายการบังคับใช้กฎหมายให้กับเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษทั่วประเทศ โดยเน้นย้ำให้เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและจรรยา ความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้ ด้านนายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ขณะนี้ คพ. ได้เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ และจัดการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นและผู้ประกอบการไปแล้วทั่วประเทศ โดยมีสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคและสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเป็นกำลังสำคัญ แต่เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายยังขาดการรับรู้การปฏิบัติตนตามที่กฎกระทรวงกำหนด และบางรายรับรู้แต่ก็ยังเพิกเฉย ดังนั้น การปฏิบัติการตั้งแต่นี้ต่อไปจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้แหล่งกำเนิดทั้ง ๑๐ ประเภท ได้รับทราบว่ามีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมายเพื่อจะไม่ถูกลงโทษ และหากเจ้าหน้าที่ตรวจพบการละเว้นไม่ปฏิบัติจะถูกดำเนินการทางกฎหมายโดยมีโทษปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องหลักที่เกี่ยวข้องในกฎกระทรวงตามมาตรา ๘๐ นี้ มี ๓ ส่วน หลัก คือ ๑. เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม จำพวกที่ ๒ และจำพวกที่ ๓ และนิคมอุตสาหกรรม แหล่งกำเนิดน้ำเสียจากชุมชน ได้แก่ อาคารประเภท ก หรืออาคารขนาดใหญ่ประกอบด้วย อาคารชุด โรงแรม โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน อาคารที่ทำการ ห้างสรรพสินค้า ตลาด ร้านอาหาร โดยตั้งแต่วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ อาคารประเภท ข ซึ่งเป็นขนาดขนาดเล็กลงมีผลบังคับใช้ และเพิ่มเติมแหล่งกำเนิดประเภทสถานบริการ และหอพัก ที่ดินจัดสรร ตั้งแต่ ๑๐๐ แปลงขึ้นไป สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท ก และประเภท ข ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน การเลี้ยงสุกร ที่มีน้ำหนักหน่วยปศุสัตว์ตั้งแต่ ๖๐ หน่วยปศุสัตว์ขึ้นไป บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง พื้นที่ตั้งแต่ ๑๐ ไร่ขึ้นไป บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อยทุกขนาด และ ท่าเทียบเรือประมง สะพานปลา และกิจการแพปลาทุกขนาด และ ๒.เจ้าพนักงานท้องถิ่น ๓. เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ โดยผู้ที่ได้ประโยชน์จากกฎกระทรวงดังกล่าว คือ ท้องถิ่น ที่เป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง สอดคล้องกับการเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๙๐ นอกจากนี้ คพ. ยังจัดนิทรรศการให้ความรู้ ความเข้าใจ แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งด้านวิชาการ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแหล่งเงินกู้ในการจัดการมลพิษที่เกิดจากแหล่งกำเนิด รวมถึงรูปแบบแนวทางปฏิบัติงานและจรรยาของเจ้าพนักงาน พร้อมรับเรื่องราวร้องเรียนด้านมลพิษ รับแจ้งเบาะแสพฤติกรรมความไม่โปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ฝ่ายเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมควบคุมมลพิษ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๙๘ ๒๐๘๒ — ๔ โทรสาร ๐ ๒๒๙๘ ๒๐๘๕ www.pcd.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ