“เลดี้ โซน” แนะเคล็ดลับหญิง ใช้ใบข่อย กลิ่น และ โยคะ แก้ปวดประจำเดือน

ข่าวทั่วไป Thursday November 11, 2004 13:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--กันตนา กรุ๊ป
เกิดเป็นผู้หญิงนั้นแสนยาก เพราะมักจะมีโรคภัยมารุมกวนใจไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะอาการ ปวดประจำเดือน ที่สาวๆ มักจะเป็นกันทุกเดือนจนดูเหมือนเป็นโรคประจำตัวกันไปแล้ว ซึ่งพอถึงวันนั้น ของเดือนเมื่อไหร่ สาวๆ หลายคนคงเบื่อหน่ายกับอาการปวดท้อง ปวดเมื่อย ไม่สบายตัว ปวดขา และหลายๆ อาการที่ทำให้หงุดหงิด รำคาญใจ จนไม่เป็นอันทำอะไรในวันนั้นเลย
หาก 1 เดือนเราต้องรู้สึกแย่ๆ อย่างนี้อยู่หลายวัน เพราะอาการปวดท้องหนักๆ และถ้าถึงกับต้องหยุดงานหรือหยุดเรียนทุกครั้งนั้น คงไม่ดีแน่ๆ เพราะนอกจากจะเสียงาน เสียการเรียนแล้ว ดีไม่ดีอาจทำให้สุขภาพจิตเสียได้ด้วย ดังนั้น ช่วงมีประจำเดือนจึงจำเป็นต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษหน่อย อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง และยังช่วยรักษาสุขภาพของตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
“ผู้หญิงเรามักจะมีอาการปวดประจำเดือนกันเกือบทุกคน ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากปากมดลูก ยังตึงแน่นอยู่ ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ค่อยดี เมื่อมีประจำเดือนจึงทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวมาก เราจึงรู้สึกปวดท้องมากน้อยต่างกันไป” คุณจันทิมา เกริกสุวรรณชัย” นักแปลและนักเขียนจากนิตยสาร Lisa ซึ่งดูเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง “ดูแลเรือนร่างและจิตใจ” กล่าวถึงสาเหตุของอาการปวดประจำเดือน ในรายการ “เลดี้ โซน” ทางช่องไอทีวี พร้อมบอกเล่าอาการที่สุภาพสตรีทั้งหลาย มักจะเป็นก่อนประจำเดือนมา และวิธีการดูแลตัวเอง ทั้งเรื่องอาหารการกิน รวมถึงวิธีลดอาการปวดท้องในช่วงที่มีประจำเดือนว่า
ช่วงก่อนมีประจำเดือนนั้นหลายคนจะรู้สึกอ่อนเพลีย เนื่องจากน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงทำให้มีอารมณ์ที่หงุดหงิดง่าย และช่วงนี้จะรู้สึกว่าอยากทานอาหารมากเป็นพิเศษ คือจะทานจุมากขึ้น และมักจะเป็นอาหารที่หวานๆ ทำให้น้ำหนักตัวขึ้น หน้าท้องจะบวม ซึ่งเป็นผลที่สาวๆ หลายคนกังวลมาก วิธีที่จะไม่ทำให้น้ำหนักขึ้น คือ เลือกทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อย่างข้าวกล้อง ธัญญาพืช ผัก และผลไม้ เพราะน้ำตาลที่อยู่ในอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะค่อยๆ เข้าไปในเลือด ซึ่งจะไม่พุ่งสูงพรวดทีเดียว ทำให้ไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย และในช่วงนี้ร่างกายจะสูญเสียแคลเซียม และธาตุเหล็กมากเป็นพิเศษ ดังนั้น เราจึงควรทานอาหารที่มีแคลเซียมและธาตุเหล็กมากๆ ด้วย เพื่อจะได้ไม่เป็นโรคกระดูกพรุนตอนแก่ ส่วนเรื่องของการห้ามทานน้ำแข็งที่เราได้ยินมานั้น เป็นเพราะว่าน้ำแข็งจะทำให้เลือดไปจับที่ไขสันหลัง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการปวดหลังได้
สำหรับการแก้อาการปวดประจำเดือนนั้นมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การแก้ปวดด้วยสมุนไพร ซึ่งมีทั้งสมุนไพรไทยและสมุนไพรจีน อย่างสมุนไพรไทย ก็มีใบข่อยที่ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ โดยนำใบข่อยประมาณ 1 กำมือ และข้าวเปลือกประมาณ 1 หยิบมือ มาต้มโดยใส่น้ำประมาณ 2-3 ถ้วย ใช้ดื่มเวลา ปวดท้อง หรืออาจจะนำใบข่อยมาคั่วให้หอมแล้วชงดื่มกับน้ำชาก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการบำบัดด้วยกลิ่น โดยใช้วิธีเหยาะลาเวนเดอร์ในน้ำอุ่นแล้วลงไปแช่ จะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จิตใจสงบ ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องแล้ว ยังแก้โรคนอนไม่หลับ ได้ด้วย แต่หากไม่มีเวลาแช่ในอ่าง เราสามารถแช่แค่เท้าก็ได้
การบำบัดด้วยกลิ่นมีอีกวิธีหนึ่งคือ การนำน้ำมันหอมระเหยหลายๆ กลิ่นเหยาะลงบนหมอน เพียงนิดหน่อย จะช่วยผ่อนคลายขณะนอนหลับได้ ส่วนการการช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ด้วยก้อนหินที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมานั้น เป็นความเชื่อของชาวยุโรป ซึ่งจะมีการนำอัญมณีหรือพลอย มาวางไว้ในตำแหน่งที่เราปวดท้องประมาณครึ่งชั่วโมง หรือจะนำมาแขวนคอก็ได้ ซึ่งอัญมณี เพชร หรือพลอยต่างๆ ที่นำมาใช้แล้วนั้น ควรชะล้างทุกครั้งก่อนนำมาใช้กับคนอื่นต่อ
การบรรเทาอาการปวดประจำเดือนอีกวิธีที่ดีและได้ผลไม่แพ้กันคือ การออกกำลังกายด้วยการ เล่นโยคะ “ท่าแมว” ซึ่งจะช่วยทำให้สบายตัวและช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้ โดยการยืนสี่ขา เหมือนท่ายืนของแมว แล้วให้โก่งตัวขึ้น จากนั้นหายใจเข้าลึกๆ แล้วหายใจออก ทำวันละประมาณครั้ง ถึงสามครั้ง และไม่ควรออกกำลังกายแบบหนักๆ และหักโหม เพราะจะทำให้มดลูกอักเสบได้ นอกจากนี้ระหว่างที่มีประจำเดือนก็ไม่ควรเล่นกีฬาว่ายน้ำ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อโรคได้
จากนี้ไป สุภาพสตรีทั้งหลายคงไม่ต้องหงุดหงิดกับอาการปวดประจำเดือนแล้ว เพราะคุณจันทิมา เกริกสุวรรณชัย มีสารพัดวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน พร้อมทั้งสาธิตท่าโยคะระงับอาการปวดให้ดู ผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ในรายการ “เลดี้ โซน” วันอังคารที่ 23 และวันพุธที่ 24 พฤศจิกายนนี้ เวลา 16.30 — 17.00 น. ทางช่องไอทีวี
ฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) : พยุงจิตร โกโสภา
โทรศัพท์ 0 2274 4961-2, 0 2691 6302-4
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ