พม.พร้อมบูรณาการภาคีเครือข่าย เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรง

ข่าวทั่วไป Thursday January 31, 2013 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--พม. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผย หลังการประชุมเรื่อง การจัดทำร่างแนวทางบูรณาการระหว่างหน่วงยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและสตรี ที่ถูกกระทำความรุนแรง ครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ ว่า สืบเนื่องจากการประชุมเรื่องปัญหาเด็กและสตรี ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๖ โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เป็นประธานการประชุม และได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กและสตรี ๔ ประเด็น ดังนี้ ๑. การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัว ๒. การใช้ความรุนแรงทางเพศและการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (คุณแม่วัยใส) ๓. การใช้แรงงานเด็ก และ ๔. การค้ามนุษย์ ในประเด็นการแก้ปัญหาดังกล่าวมีหน่วยงาน/องค์กร ที่ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายมีจำนวนมาก หลายสังกัด ยังไม่มีระบบการดำเนินงานร่วมกันอย่างแท้จริง ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์ส่วนตัวไม่มีระบบที่ชัดเจน รวมทั้งระบบการประสานส่งต่อ จึงส่งผลให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาไม่ครบวงจร ขึ้นอยู่กับลักษณะและความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน อีกทั้งขาดการติดตามและประเมินผลการให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จึงมีบัญชาเรื่องการแก้ไขปัญหาเด็กและสตรีที่ถูกกระทำใน ๔ ประเด็นดังกล่าว โดยให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯเป็นผู้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจฯ(สศช.) และสำนักงบประมาณ มาร่วมกันพิจารณาแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำ แบ่งเป็น ๒ ระยะ ได้แก่ แนวทางระยะสั้น คือ การตั้งศูนย์ให้บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service Center : OSSC) เพื่อเน้นการบูรณาการให้ความช่วยเหลือและการประสานส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ และแนวทางระยะยาว คือ เน้นการป้องกันปัญหา ได้แก่ การสร้างครอบครัวอบอุ่น, การสรรสร้งความเท่าเทียมระหว่างเพศและการลดความรุนแรง และกองทุนต่างๆที่กระจายตามหน่วยงานและตามกฎหมายต่างๆ ในฐานะที่กระทรวงฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานหลัก จึงจัดการประชุมการจัดทำร่างแนวทางบูรณาการระหว่างหน่วงยงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรง ครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ ขึ้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคีเครือข่าย ได้แก่ ๑) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๒) กระทรวงศึกษาธิการ ๓) กระทรวงแรงงาน ๔) กระทรวงสาธารณสุข ๕) กระทรวงมหาดไทย ๖) กระทรวงยุติธรรม และสำนักงบประมาณ โดยมีแนวปฎิบัติบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนผู้มารับบริการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ