ศูนย์นมแม่ฯ เติมเต็มความรู้ “Breast Feeding Sick Babies” “นมแม่” พลังที่มีคุณค่าในการเปลี่ยนแปลงสุขภาพ “เด็กป่วย”

ข่าวทั่วไป Tuesday February 5, 2013 18:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--ไอแอมพีอาร์ จากการสำรวจสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของกรมอนามัยในปี 2552 พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพิ่มขึ้นจากร้อยและ 16.3 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 29.6 ในปี 2552 ซึ่งเป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายของประเทศไทย เพราะยังมีแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญคือแม่ที่มีลูกป่วยเพราะในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กทารกแรกเกิดที่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวนมาก ทั้งทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่ป่วยต้องอยู่ในหออภิบาลทารก(NICU) ทารกที่ได้รับการผ่าตัด หรือเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสถูกแยกแม่-ลูก หรือถูกสั่งให้งดนมแม่ด้วยเหตุผลต่างๆ ทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับอาหารที่มีคุณค่าและมีความสำคัญที่สุดในชีวิต มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ และ สภาการพยาบาล โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดประชุมวิชาการ “Breast Feeding Sick Babies” เพื่อให้ความรู้กับบุคคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนของไทย และจากประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม กว่า 300 คน เพื่อให้ทารกที่ป่วยได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างถูกต้องทัดเทียมกับเด็กปกติ โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา Prof.Dr.Diane L. Spatz ได้มาถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ เทคนิคและทักษะในการทำให้เด็กป่วยได้รับนมแม่ พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของ “โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว” เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล “ปัจจัยสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเด็กป่วยให้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องทั้งภายในโรงพยาบาลและเมื่อกลับไปที่บ้านก็คือทัศนคติเกี่ยวกับนมแม่ของบุคคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ เพราะขั้นตอนต่างๆ ในการสนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเด็กป่วย จะเป็นการเพิ่มภาระงานและความยุ่งยากให้กับเจ้าหน้าที่ ดังนั้นการมีทัศนคติที่ดีต่อนมแม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ” พญ.ศิริพร กล่าว นายแพทย์อนันต์ เศรฐภักดี รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าการประชุมในครั้งนี้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่เน้นเรื่อง การดูแลสตรีและเด็กทุกคน (Every Woman Every Child) ซึ่งจะทำให้บุคคลากรด้านสาธารณสุขได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องให้เด็กทารกและเด็กที่เจ็บป่วยได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถูกต้องและต่อเนื่องเท่าเทียมกับเด็กปกติทั่วไป “การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบความสำเร็จจะต้องเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนว่า แม้ลูกจะเจ็บป่วยแม่ก็ยังสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ซึ่งบุคคลากรทางการแพทย์จะต้องมีความรู้และทักษะในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้แม่เลี้ยงลูกที่ป่วยด้วยนมแม่ จึงจะทำให้เด็กป่วยได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างถูกต้องทัดเทียมกับเด็กปกติ” นพ.อนันต์ กล่าว ในเวทีการประชุมดังกล่าว Prof.Dr.Diane L. Spatz ได้นำเสนอองค์ความรู้ “บันได 10 ขั้นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเด็กป่วย” และแนวคิดและทัศนคติในขับเคลื่อนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเด็กป่วย โดย Prof.Dr.Diane L. Spatz ได้เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือบุคลากรทางการแพทย์ต้องมีความรู้และทักษะที่ถูกต้องจึงจะสามารถช่วยสนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกที่ป่วยด้วยนมแม่ได้ประสบความสำเร็จ เพราะบุคคลที่สำคัญที่สุดสำหรับแม่ก็คือแพทย์และพยาบาลที่ให้การดูแลแม่และลูกนั่นเอง “มีงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นถึงพลังของนมแม่ ที่บ่งชี้ว่าน้ำนมแม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าต่อสุขภาพของทารกที่ป่วยอย่างดียิ่ง นมแม่เปรียบเสมือนการรักษา มีความสำคัญเหมือนกับเป็นเครื่องช่วยหายใจ มีความสามารถที่จะปกป้องเด็กทารกได้เมื่ออยู่ในห้อง NICU และจำเป็นอย่างยิ่งที่แพทย์และพยาบาลจะต้องให้เด็กที่ป่วยได้รับการเลี้ยงดูด้วยน้ำนมแม่ เพราะนมแม่สามารถลดการติดเชื้อในเด็กป่วย นมแม่เป็นทั้งยาและภูมิคุ้มกันที่นมผงไม่สามารถทดแทนได้ นมแม่ยังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาการด้านสมองรวมไประบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเด็กที่ป่วยหรือคลอดก่อนกำหนด และนมแม่ยังจะทำให้เด็กที่ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้เร็วกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการเลี้ยงด้วยนมแม่” Prof.Dr.Diane ระบุ สำหรับ “บันได 10 ขั้นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเด็กป่วย” ประกอบไปด้วย Step :1 Informed Decision หรือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับนมแม่อย่างละเอียดกับพ่อแม่และครอบครัวของเด็ก ว่านมแม่นั้นมีประโยชน์อย่างไรและมีความจำเป็นมากแค่ไหนที่แม่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ Step :2 Establishment and Maintenance of Milk Supply เป็นความรู้และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำนมแม่สำหรับให้กับเด็กป่วยในกรณีต่างๆ Step :3 Human Milk Management วิธีการเก็บและใช้น้ำนมแม่ในการเลี้ยงดูเด็กป่วยที่ถูกต้องและเหมาะสม Step :4 Oral Care เป็นขั้นตอนและวิธีการต่างๆ ในการให้นมแม่กับเด็กที่ป่วย Step :5 Skin to Skin Care เป็นการกระตุ้นให้แม่พร้อมที่จะมีน้ำนมและทำให้ลูกพร้อมที่จะรับนมแม่ด้วยการสัมผัสเนื้อแนบเนื้อตลอดระยะเวลาจากห้องคลองถึงหออภิบาลทารก Step :6 Nonnutritive Sucking at the Breast เป็นการกระตุ้นให้เด็กทารกมีความคุ้นเคยกับเต้านมแม่ เพราะจะทำให้สามารถปรับให้กินนมจากเต้าได้ในภายหลังออกจากห้องอภิบาลทารก Step :7 Transition to Breast and Technology to Support Breastfeeding เป็นเทคนิคและวิธีการที่จะปรับให้เด็กทารกให้สามารถดูดนมจากเต้าได้ Step :8 Measuring Milk Transfer เป็นวิธีการประเมินว่าเด็กป่วยได้รับน้ำนมแม่เพียงพอหรือไม่ Step :9 Preparation for Discharge หรือการเตรียมพร้อมสำหรับแม่และเด็กป่วยก่อนกลับบ้าน และ Step:10 Appropriate Follow-up ซึ่งจะต้องมีการคำแนะนำช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องเมื่อแม่และลูกกลับไปที่บ้าน เพื่อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ประสบความสำเร็จ “เด็กที่ป่วยทุกคนควรที่จะมีโอกาสได้รับนมแม่เช่นเดียวกันกับเด็กที่ไม่ได้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับจะต้องมีทัศนคติที่สำคัญโดยจะต้องเชื่อมั่นว่า นมแม่ดีที่สุดคือและเป็นที่สำคัญที่สุดสำหรับทารก โดยต้องตระหนักและเห็นความสำคัญว่า แม่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่วนลูกต้องได้รับการรักษาจากทีมแพทย์และพยาบาลไปควบคู่กัน” Prof.Dr.Diane กล่าวย้ำ ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ ในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้เด็กป่วยได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ที่ได้รับจากเวทีวิชาการในครั้งนี้ จะถูกนำไปใช้ในการบริหารจัดการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานบริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านให้ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีการออกนิเทศติดตามโรงพยาบาลที่สมัครใจภายหลังการประชุม เพื่อดูว่าจะสามารถนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติในระบบบริการของสถานบริการในบริบทของประเทศไทยได้หรือไม่ พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุว่าในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กทารกและเด็กแรกเกิดที่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวนมาก เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสถูกแยกแม่-ลูก หรือถูกสั่งให้งดนมแม่ด้วยเหตุผลต่างๆ ทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับน้ำนมแม่ซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณค่าและมีความสำคัญที่สุดในชีวิตของเด็กทารก “การดูแลส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับเด็กป่วยและเด็กคลอดก่อนกำหนด จะทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อแม่จะต้องพาลูกกลับบ้าน ก็จะช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ต่อเนื่องตามเป้าหมาย แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับน้ำนมแม่ทัดเทียมกับเด็กปกติ เพื่อให้เด็กทุกคนได้เติบโตขึ้นเป็นเด็กไทยที่มีคุณภาพ มีคุณสมบัติดียกกำลังสาม ตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุข และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ภาคีเครือข่ายนมแม่จะต้องร่วมกันสนับสนุน ผลักดัน และขับเคลื่อนให้องค์ความรู้และแนวทางการปฏิบัติในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเด็กป่วย ไปสู่การเป็นนโยบายทางด้านสาธารณสุขของประเทศ จะทำให้การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในเด็กที่ป่วยและไม่ป่วยของไทยประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น” พญ.ศิราภรณ์ สรุป นอกจากนี้ทาง มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ยังได้จัดการอบรม The Power of Lactation Massage Skill เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ ด้านเทคนิค และกระบวนการนวดเต้านมเพื่อกระตุ้นการมีน้ำนมและการแก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันอย่างถูกต้องเหมาะสมให้กับบุคลลากรทางด้านสาธารณสุข โดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟิลิปปินส์ที่ใช้วิธีการเหล่านี้ในช่วงภัยพิบัติในฟิลิปปินส์จนประสบความสำเร็จและมีการถ่ายทอดความรู้ไปทั้วฟิลิปินส์ ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น.
แท็ก กรมอนามัย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ