เผยเตรียมตรวจคัดกรองเสี่ยงอัลไซเมอร์ด้วยสมาร์ทโฟนได้แล้ว

ข่าวทั่วไป Thursday February 7, 2013 15:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยพบสถิติผู้สูงอายุไทยป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมากถึง 1 ใน 10 คาดขณะนี้มีใกล้ 1 ล้านคน ย้ำเตือนคนไทยอย่าฝากความจำที่เทคโนโลยีแทนสมอง เช่นมือถือ เครื่องคิดเลข คาราโอเกะ โรคนี้อาจเยือนเร็วเพราะสมองขาดการใช้งานหรือพูดว่าสมองเป็นสนิม เร่งแก้ไขป้องกันเชิงรุก ร่วมกับมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ และศูนย์ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาชุดตรวจคัดกรองง่ายๆผ่านสมาร์ทโฟน ใช้ได้ในไอแพด แอนดรอยด์ ขนาดจอ 7 นิ้ว พร้อมเปิดตัววันที่ 15 กุมภาพันธ์ 56 เป็นของขวัญวันแห่งความรัก ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย และศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ กรรมการเลขานุการ ร่วมแถลงข่าวว่า ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ที่จะถึงนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทยและศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงาน“สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” ที่สวนสุขภาพ ในกระทรวงสาธารณสุข ฟรีตลอดงาน เพื่อรณรงค์กระตุ้นให้สังคมไทยรู้จักโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ และรู้จักโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากสมองฝ่อ พบในคนไทยร้อยละ 30 เพื่อร่วมมือกันแก้ไขป้องกันหรือชะลอการป่วยเป็นโรคนี้ เนื่องจากไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นในอนาคต นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกพบผู้สูงอายุเป็นโรคสมองเสื่อมไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน และอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคนต่อปี ซึ่งโรคนี้เป็นกลุ่มอาการที่เซลล์ประสาทเสื่อม สูญเสียหน้าที่การทำงานอย่างเรื้อรัง อายุยิ่งมากยิ่งพบมาก ทำให้ความจำเสื่อมและมีพฤติกรรมและบุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิม ผลการสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุไทยโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ล่าสุดในพ.ศ. 2551-2552 พบ ผู้สูงอายุไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมถึงร้อยละ 12 และข้อมูลจากสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) ได้ประมาณการณ์ว่าในปีพ.ศ. 2563 ไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของประเทศ โดยโรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบในเขตชนบทมากกว่าในเมือง สาเหตุใหญ่ในไทยพบว่าประมาณร้อยละ 60 สัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมอง เช่นหลอดเลือดแข็ง ตีบ ตัน ทำเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่วนที่เหลือนั้นมักเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่นๆ เช่นภาวะการทำงานของต่อมไธรอยด์ผิดปกติ เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาทั้งตัวของผู้สูงอายุและผู้ดูแล เพราะทำให้เกิดความเครียด ความกังวล คุณภาพชีวิตที่ลดลง และมีผลถึงสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย “ที่น่าเป็นห่วงคือ ในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่มีความเจริญของเครื่องมือเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างในชิ้นเดียว อาจทำให้เกิดผลเสียที่คาดไม่ถึงและไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยจำ ช่วยคิดแทนการใช้สมอง ที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน เช่นบันทึกเบอร์โทรศัพท์ในมือถือ ร้องเพลงตามคาราโอเกะ ใช้เครื่องคิดเลขในโทรศัพท์หรือเครื่องคิดเลขคิดแทนการใช้สมองคำนวณ โดยเฉพาะใช้ตั้งแต่วัยเด็ก มีผลทำให้สมองขาดการใช้งาน เซลล์ประสาทขาดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาเสื่อมตามมา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สมองเป็นสนิม อาจทำให้เกิดโรคความจำเสื่อมได้เร็วขึ้น จึงต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ถูกต้อง” นายแพทย์ชลน่านกล่าว นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อม แนะนำให้ประชาชนฝึกการใช้สมองบ่อยๆ ตั้งแต่เด็ก เช่นหัดท่องสูตรคูณ ท่องก.ไก่ อ่านหนังสือ ฝึกร้องเพลงโดยการฟังและจำ ในวัยทำงานอาจท่องบทสวดมนต์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ส่วนในผู้สูงอายุควรหมั่นคิดคำนวณเลขบ่อยๆ เพื่อใช้งานเซลล์สมองทำงาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3- 5 ปีนี้ จะเร่งลดอัตราการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมรายใหม่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60- 70 ปี ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 10 โดยมอบให้สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ พัฒนาระบบการดูแลและป้องกันอย่างครบวงจร และจะให้อสม.ที่มี 1 ล้านกว่าคน ตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม เพื่อนำเข้าสู่ระบบการฟื้นฟู และชะลอการเสื่อมให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยลดภาระให้ครอบครัว ทางด้านนายแพทย์ยุทธ โพธารามิก ประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุของโรคสมองเสื่อมเกิดจากเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองเกิดอาการตีบ ทำให้เซลล์สมองหมดประสิทธิภาพ ส่วนโรคอัลไซเมอร์เกิดจากเนื้อสมองเสื่อมหรือเซลล์สมองตาย เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อในสมอง ขาดสารอาหารจำพวกวิตามินบี พิษจากสุรา เนื้องอกในสมอง ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมักมีอาการก่อนอายุ 60 ปี แต่ยังปรากฏอาการไม่ชัดเจน อาการจะหลงลืมอย่างมาก จำคนใกล้ชิดไม่ได้ จำทางกลับบ้านไม่ได้ ดูแลตนเองไม่ได้ กลุ่มที่เสี่ยงจะเป็นโรคสมองเสื่อมและพบก่อนอายุ 60 ปี ได้แก่ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตกระฉับกระเฉง ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดิน จะทำให้หลอดเลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น เพิ่มความสามารถในการเผาผลาญออกซิเจนให้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย ทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ชะลอความชราได้ โดยเฉพาะผู้ที่ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง สามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคดังกล่าวได้ร้อยละ 60 ทางด้านศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ กรรมการเลขานุการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้มูลนิธิอัลไซเมอร์ฯ ได้ร่วมกับทีเซลส์ พัฒนาโปแกรมการคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ สามารถใช้ทดสอบผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนที่มีขนาดหน้าจอ 7 นิ้ว เช่นไอแพด (iPad) และระบบแอนดรอยด์ (Android) โดยตัวโปรแกรมสามารถใช้ได้ทั้งผู้ดูแลผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุเอง ให้ผลแม่นยำ ชุดตรวจนี้จะสามารถรู้ความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์เบื้องต้นได้ และยืนยันตรวจของสุขภาพโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้ง โดยจะเปิดตัวโปรแกรมในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 และจะให้บริการประชาชน สามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของทางมูลนิธิฯได้จาก www.alz.or.th และเว็บไซต์ของทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ www.tcels.or.th โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในงานวันอัลไซเมอร์ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การให้ความรู้เรื่องโรคอัลไซเมอร์ บริการตรวจคัดกรองความจำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การเล่นเกมส์ฝึกการใช้สมอง โปรแกรมคำนวณอายุสมอง นิทรรศการเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ทีมแพทย์ให้คำปรึกษา ตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเบื้องต้น กิจกรรมสอนทำยาหม่อง นอกจากนี้ยังมีสาธิตการเต้นป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ตลอดจนแบ่งกลุ่มเล่นกีฬาสี และบรรยายพิเศษให้ความรู้เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ผ่านภาพยนตร์ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียน สำรองที่นั่งได้ที่ คุณศุภจิต คงประชา 089-454 -8663 หรือ 02 644 5499 ต่อ 134 ติดต่อ: www.tcels.or.th , 02-6445499

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ