กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--วช. “ออกซิเจน” เป็นก๊าซที่มีความสำคัญมากต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ในวงการแพทย์การหาความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดของคนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหากค่าออกซิเจนต่ำเกินไปก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับในวงการอุตสาหกรรมความเข้มข้นของออกซิเจนในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ กัน จะมีผลดีต่อการทำงาน เช่น ในระบบเผาไหม้ของเครื่องยนต์หากมีออกซิเจนน้อยจะทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ การวัดหาปริมาณของออกซิเจนในสภาพต่าง ๆ จึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น ดังนั้น หากสามารถประดิษฐ์หัววัดออกซิเจนใช้ได้เองในประเทศ นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าหัววัดออกซิเจนจากต่างประเทศแล้วยังมีความเหมาะสมต่อการใช้งาน รวมทั้งสามารถซ่อมแซมได้เองอีกด้วย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย — ญี่ปุ่น ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ นายสมศักดิ์ ปัญญาแก้ว และคณะ จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวิจัยเรื่อง “การประดิษฐ์หัวออกซิเจนและการประยุกต์” เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาหัววัดออกซิเจนที่สามารถวัดปริมาณออกซิเจนได้ถูกต้อง มีอายุการใช้งานที่นาน เหมาะสมกับการประยุกต์ในงานที่เป็นเป้าหมาย โดยใช้เทคนิคการระเหยไอโลหะด้วยเครื่องระเหยแบบใช้ลำอิเล็กตรอนเพื่อสร้างหัววัดออกซิเจนในลักษณะฟิล์มบาง ผลการวิจัยพบว่า สามารถประดิษฐ์หัววัดออกซิเจนแบบฟิล์มบางได้คราวละ 500 ตัว ซึ่งหัววัดฯ ที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้มีราคาถูก (ต่ำกว่า 1,000 บาท) สามารถนำไปใช้งานลักษณะ “ใช้แล้วทิ้ง” จึงทำให้สะดวกเพราะไม่ต้องดูแลบำรุงรักษา สามารถตอบสนองต่อความเข้มข้นของออกซิเจนที่ละสายในน้ำได้ในช่วง 0 — 20 มก. / 1 (0 — 100 %) โดยการนำเทคโนโลยีการระเหยโลหะที่มีความดันต่ำแบบลำอิเล็กตรอนมาใช้ วัตถุดิบ คือ ทองคำขาวที่แม้จะมีราคาแพงแต่สามารถประดิษฐ์หัววัดออกซิเจนได้ครั้งละจำนวนมาก และใช้งานได้ทั้งในวงการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากเป็นวัสดุที่ใช้อยู่ในรูปลักษณะฟิล์มบาง ซึ่งนับเป็นหัววัดออกซิเจนที่มีราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ--จบ--