ต่างชาติจ้างคนไทยทำระบบทำความเย็นอุตสาหกรรมถนอมอาหาร

ข่าวทั่วไป Wednesday February 13, 2013 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์ ดร.อภิชิต ล้ำเลิศพงศ์พนา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีระบบทำความเย็นอุตสาหกรรมถนอมอาหารของไทย เปิดเผยว่า “ในปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food Processing) เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ว่าภายในประเทศหรือประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชีย สำหรับประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในการผลิตอาหาร และเป็น ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีโรงงานแปรรูปอาหารกว่า 10,000 ราย เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางการเกษตรและสัตว์น้ำที่ใช้ในการบริโภคดังนั้นการติดตั้งในเรื่องของระบบการทำความเย็นถนอมอาหารเพื่ออุตสาหกรรม อาหารแช่แข็ง จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ในการแปรรูปอาหารส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบในประเทศที่มีต้นทุนไม่สูงและมีผลผลิตปริมาณมาก ดังนั้นจึงต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงเพื่อใช้ในการทำความเย็นถนอมอาหารในอดีตประเทศไทยต้องพึ่งเทคโนโลยีและการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการทำความเย็นเกี่ยวกับการถนอมอาหารของไทยมีความรู้ความชำนาญ มากขึ้น ขณะเดียวกันสินค้าอุตสาหกรรมอาหารของไทยก็ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมการทำความเย็นเกี่ยวกับเครื่องจักรถนอมอาหารของไทยเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมอื่นๆอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดียวกันกับการขยายตัวของการส่งออกอาหารนอกจากนี้การที่ไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างในการค้าทำให้มีการใช้วัตถุดิบนำเข้าเพื่อแปรรูปของโรงงานในประเทศค่อนข้างมาก ทำให้หลายบริษัทสามารถผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกสู่ตลาดตลอดเวลา ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ผู้แปรรูปอาหารหันมาลงทุนผลิตสินค้าพร้อมรับประทานอาหารแช่แข็งเพิ่มมากขึ้น สินค้าประเภทกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งของไทยที่ยังคงมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดหรือเกือบแสนล้านบาท ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง ซึ่งถือว่ามีคุณภาพมาก และเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั่วโลก เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตอย่างจีน เวียดนาม อินเดีย หรืออินโดนีเซีย ที่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้ผลิตในประเทศไทยมีวิธีควบคุมคุณภาพที่ได้ตามมาตรฐานสากล สะอาด ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะความสด เมื่อนำมาละลายและรับประทานแล้ว คุณภาพยังคงใกล้เคียงกับของสดมาก อีกทั้งยังเป็นรายได้หลักของเกษตรกรและกลุ่มผู้ผลิตอาหารแปรรูปโดยตรงอีกด้วย ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของช่องทางกระจายสินค้าและการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคทำให้ธุรกิจผลิตอาหารแปรรูปพร้อมรับประทานและอาหารแช่แข็งขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้จากการที่ประเทศไทย มีรากฐานการผลิตที่เข้มแข็งกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เมื่อการผลิตขยายตัวมากขึ้นผู้ประกอบการมีความรู้ความชำนาญมากขึ้น จึงได้ประโยชน์จากการผลิตในปริมาณมาก และเกิดศักยภาพในการส่งออก การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารจึงเปลี่ยนทิศทางจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าไปสู่การผลิตเพื่อส่งออกและเป็นมูลค่าเพิ่มที่สามารถนำรายได้มาสู่ประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามเมื่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารในตลาดโลกสูงขึ้นเพราะมีประเทศผู้ผลิตรายใหม่ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานตํ่าและมีวัตถุดิบที่คล้ายคลึงกับไทยเข้าสู่ตลาดโลก อีกทั้งกฎเกณฑ์การค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาความสามารถทั้งในเรื่องเทคโนโลยี การผลิต การตลาด และการจัดการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพยายามผลิตสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งของไทยมียอดจำหน่ายรวมที่ประมาณหนึ่งแสนล้านบาท หรือคิดเป็นน้ำหนักประมาณหกแสนตัน สำหรับในปีที่ผ่านมานอกจากทางกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. ได้ดำเนินธุรกิจในการติดตั้งระบบทำความเย็นอุตสาหกรรมถนอมอาหารให้กับบริษัทอาหารแปรรูปของไทยแล้วยังได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และจีน ในการว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาด้าน การออกแบบและการผลิตโรงงานขนาดใหญ่ระดับสากลพร้อมทำการติดตั้งระบบทำความเย็น จึงถือได้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจัดเป็นประเทศผู้นำที่มีการพัฒนาในเรื่องการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบทำความเย็นสำหรับอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารแช่แข็งของภูมิภาคนี้ งานนี้จึงถือเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของคนไทยในวงการอุตสาหกรรมทำความเย็นระดับโลก ซึ่งนอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงแล้ว ยังเป็นการนำเงินตรากลับเข้ามาในประเทศอีกด้วย” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์ จำกัด (ที่ปรึกษาด้านงานประชาสัมพันธ์) โทร.02-2842662 แฟกซ์. 02-284-2287,2291 www.kanokratpr.com คุณกนกรัตน์ วีรานุวัตติ์ E-mail: [email protected]

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ