สธ. ตั้งเป้า โรคพิษสุนัขบ้าต้องหมดไปจากประเทศไทยภายในปี ค.ศ.2020

ข่าวทั่วไป Thursday February 21, 2013 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--กรมควบคุมโรค สธ. ตั้งเป้า โรคพิษสุนัขบ้าต้องหมดไปจากประเทศไทยภายในปี ค.ศ.2020ตามเป้าหมายการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขของประเทศกลุ่มอาเซียน สธ.เดินหน้าสร้าง “พื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าให้เต็มพื้นที่ของประเทศ”ส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขตามเป้าหมายของประเทศกลุ่มประชาคมอาเซียน ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี ค.ศ.2020 หวังสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า และภาพลักษณ์ด้านท่องเที่ยวรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า วันนี้ (21 ก.พ.56) นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า และมอบรางวัลโรคพิษสุนัขบ้าปี 2555 (MoPH MoAC Rabies Awards) ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯว่า การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี พ.ศ.2563 หรือปี ค.ศ.2020 ถือเป็นเป้าหมายของประเทศกลุ่มประชาคมอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข เพื่อการป้องกันควบคุมโรคและจัดการสิ่งแวดล้อมให้ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่มีความมั่นคงทางสังคม ได้รับการพัฒนาด้านต่างๆอย่างเหมาะสมและทั่วถึง โดยประเทศไทยได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า กลยุทธ์และกิจกรรมที่นำไปสู่การปฏิบัติด้วยการบูรณาการจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย รวมทั้งให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขและปศุสัตว์ในการดูแลพื้นที่เขตชนบทและเขตเมือง เพื่อดำเนินการตามนโยบายการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งเป้าที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี ค.ศ.2020 เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายของประเทศกลุ่มประชาคมอาเซียน “ การสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทยจะเป็นเครื่องวัดความเจริญ ทำให้ภาพพจน์ของประเทศดีขึ้น สร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า เป็นสิ่งหนึ่งที่จูงใจนักท่องเที่ยวให้ตัดสินใจอยากมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีในเรื่องอื่นๆ ตามมามากมาย ความสำเร็จดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการบูรณาการจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายพสิษฐ์กล่าว นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าถึงแม้ประเทศไทยยังพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าทุกปีแต่มีแนวโน้มลดลงมาก จากปี พ.ศ. 2533 ที่มีรายงานพบผู้เสียชีวิต 370 ราย มาในปี 2555 มีรายงานพบผู้เสียชีวิตเพียง 4 รายเท่านั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากสุนัขที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกัดหรือข่วนแล้วไม่ได้ไปหาหมอ เป็นเพราะคนเลี้ยงสุนัขยังขาดความรับผิดชอบ เลี้ยงสุนัขแล้วไม่นำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จึงยังพบโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในพื้นที่ที่การฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมต่ำ หรือเกิดซ้ำในพื้นที่ที่เคยมีประวัติการระบาดของโรคมาก่อน ซึ่งจะพบในภาคกลางสูงสุด รองลงมาเป็นภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตามลำดับ และบ่อยครั้งพบว่าเกิดจากการนำลูกสุนัขไปเลี้ยง แล้วไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเนื่องจากคิดว่าลูกสุนัขไม่เป็นโรค ทั้งนี้จากข้อมูลการมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าของผู้ถูกสุนัขกัดพบว่าแต่ละปีจะมีผู้มารับการฉีดวัคซีนมากถึงปีละประมาณ 5 แสนคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้ที่ถูกสุนัขกัดมีอายุตั้งแต่ 1-90 ปี แต่ที่พบมากที่สุดจะเป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และในจำนวนนี้ร้อยละ 82 พบว่าสัตว์ที่กัดเป็นสุนัข รองลงมาเป็นแมว ร้อยละ13 ส่วนใหญ่ร้อยละ 77 เป็นสัตว์มีเจ้าของ สำหรับแนวทางของประเทศไทยในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนภายในอีก 2 ปีข้างหน้านั้น นอกจากการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ยังมีการจัดทำคู่มือ/แนวทางเพื่อใช้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกรมควบคุมโรคจะเตรียมพร้อมเครือข่ายด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีปลอดภัยจากโรคติดต่อที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศ และจะมีการร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่าย One Health เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมและกำจัดโรค เตรียมพร้อมในกรณีที่มีการระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ตลอดจนการเพิ่มความปลอดภัยด้านอาหารที่ได้จากสัตว์ โดยจะมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาความรู้ของแพทย์และสัตวแพทย์ และมีการอบรม FETP ระดับนานาชาติด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังได้มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการสาธารณสุขในการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ท่องเที่ยวด้วย ขั้นต่ำจะต้องไม่มีคนและสัตว์เสียชีวิตในพื้นที่ท่องเที่ยวติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี พื้นที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าร้อยละ80 รวมทั้งมีการกำหนดมาตรฐานวัดส่งเสริมสุขภาพปลอดโรคให้การป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคหนึ่งซึ่งอยู่ในเกณฑ์ประเมินมาตรฐานที่วัดต้องดำเนินการ สุนัขและแมวทุกตัวในบริเวณวัดต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีการคุมกำเนิดสุนัข และมีการจัดพื้นที่หรือมีโรงเรือนสำหรับสุนัขพักพิงอย่างถูกสุขลักษณะ “ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการบูรณาการร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยสนับสนุนงานป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้เกิดความเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน สามารถรองรับความร่วมมือด้านงานสาธารณสุขและการจัดการสิ่งแวดล้อมตลอดจนการป้องกันควบคุมโรคได้ในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ