สหภาพยุโรปร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ตลาดสีเขียว มุ่งพัฒนา 100 โรงงานต้นแบบ

ข่าวทั่วไป Wednesday February 27, 2013 17:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--GIZ เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้านนโยบายสนับสนุน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐบาลไทย ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “การปรับตัวภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับตลาดสีเขียว” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและแนวคิดเรื่องอุตสาหกรรมสีเขียวสู่ตลาดสีเขียวแก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “อุตสาหกรรมสีเขียวช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้พยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการและโรงงานต่างๆ พัฒนาไปสู่ระดับความเป็นเครือข่ายสีเขียว ซึ่งเป็นการขยายเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ร่วมดำเนินโครงการการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้านนโยบายสนับสนุน โดยตั้งเป้าเชิญชวนโรงงาน 100 แห่ง เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ อาทิ ด้านประสิทธิภาพการผลิตและการใช้ทรัพยากร การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เป็นต้น เพื่อยกระดับเป็นเครือข่ายสีเขียวต้นแบบ สำหรับขยายผลไปสู่โรงงานอื่นๆ อีกประมาณ 70,000 แห่ง” นายสุรชัย ลีวัฒนานุกูล ผู้ประสานงานโครงการการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้านนโยบายสนับสนุน กล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวสู่ตลาดสินค้าสีเขียวคือความร่วมมือ และแบ่งปัน ความรู้และข้อมูล หรือการสร้างความฉลาดเชิงกลุ่มขึ้นระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน หน่วยงานภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดทั้งวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อร่วมกันสร้างระบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายโดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยโครงการฯ จะช่วยจัดเวทีความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สนับสนุนบุคลากรในการให้ข้อมูล ฝึกอบรม ตรวจประเมินให้คำปรึกษา รวมทั้งการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจ และความตระหนักให้กับผู้บริโภค” โครงการการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้านนโยบายสนับสนุนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการเลือก ปรับใช้ และดำเนินการตามเครื่องมือเชิงนโยบาย เช่น กฎระเบียบ และเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสม ในการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนของประเทศไทยในระยะยาว โดยมีผู้ดำเนินการหลักฝ่ายไทยได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และ Wuppertal Institute Collaborating Center on Sustainable Consumption and Production (CSCP) ทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาโครงการ และมีคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ (Project Steering Committee) ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2554 — กันยายน 2557 ในภาพ (จากซ้าย) ดร.เดชา พิมพิสุทธิ รักษาการนักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ กรมโรงงานอุตสาหกรรม นายมงคล พฤกษ์วัฒนา ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม นายนีลส์ จูล บุช หัวหน้าโครงการ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน นายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ รองอธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม นางสุทธิยา จันทวรางกูร ผู้แทนจากสหภาพยุโรป ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ดร.ศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ทำหน้าที่แทนผู้อำนวยการส่วนมลพิษอากาศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในงานสัมมนาเรื่อง “การปรับตัวภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับตลาดสีเขียว” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยโครงการการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ด้านนโยบายสนับสนุน ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐบาลไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการและแนวคิดเรื่องอุตสาหกรรมสีเขียวสู่ตลาดสีเขียวแก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ