เคล็ด (ไม่) ลับ “ฟัง” อย่างไรให้เข้าใจ “ลูก” กุญแจสำคัญสู่การพัฒนา “อีคิว” เด็กไทย

ข่าวทั่วไป Thursday February 28, 2013 15:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--ไอแอมพีอาร์ เพราะการ “รับฟัง” คือจุดเริ่มต้นของการป้องกันและการแก้ปัญหาเด็กที่ดีที่สุด การรับฟังที่ดีที่สุดก็ คือ การ “ฟังให้ลงลึกเข้าไปถึงความต้องการที่แท้จริงของเด็ก” ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมยังขาดความเข้าใจในการฟังที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการ “ฟัง” ในสิ่งที่บุตรหลานหรือคนที่มีอายุน้อยกว่าต้องการสื่อ จากธรรมเนียมปฏิบัติและค่านิยมของคนไทยที่มีความเชื่อว่า “เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่” หรือ “เพราะผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ทำให้พ่อแม่มักจะใช้เรื่องของความอาวุโสมาเป็นตัวกำหนดความคิดและการกระทำของบุตรหลาน โดยไม่ได้ “รับฟัง” ในสิ่งที่เด็กต้องการอย่างแท้จริง การใช้ประสบการณ์ในอดีต การปิดกั้นความคิด การใช้อารมณ์ตัดสินถูก-ผิด ต่อความคิดหรือพฤติกรรมของเด็ก เพียงเพราะพ่อแม่หรือผู้ปกครองเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามความคิดเห็นของตนเอง หรือไม่เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อพัฒนาการด้าน “อีคิว” ของเด็ก ทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าแสดงออก รู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่สามารถเป็นที่พึ่ง หรือเป็นที่ปรึกษาได้ จากปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “Parenting Skills เคล็ด (ไม่) ลับในการเลี้ยงลูก” ครั้งที่ 1 หัวข้อ ฟังอย่างไร...ให้ “ใจ” รับรู้ โดยนักจิตบำบัดผู้มากประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกา นางสาวอัจฉรา บุนนาค ร่วมด้วย นางสาวทัศยา เรืองศรี นักจิตวิทยาคลินิก เพื่อให้พ่อและแม่หรือผู้ปกครองยุคใหม่ ได้เข้าใจความรู้สึก ความคิด ความต้องการที่แท้จริงของลูก ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยเรื่องพัฒนาการด้าน ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ในระยะยาว นางสาวอัจฉรา บุนนาค นักจิตบำบัดของโรงพยาบาลมนารมย์ เปิดเผยว่า การฟังอย่างไรให้ใจรับรู้ เป็นแนวคิดแบบตะวันตกที่คนไทยยังไม่เข้าใจมากนัก ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Empathy หมายถึง การฟังอย่างเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริง ฟังให้เข้าใจเหมือนกับว่าเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับผู้พูด มองปัญหาจากมุมมองเดียวกับผู้พูดซึ่งเป็นการเทคนิคการฟังที่สำคัญมากสำหรับพ่อแม่ “อยากให้พ่อแม่ลองนึกถึงตัวเองในวัยเด็กว่า เวลาที่เราต้องการบอกสิ่งใดกับพ่อแม่ แต่พ่อแม่ไม่เข้าใจเราเลย และมักคิดว่าเราเถียง มองว่าเรายังเด็ก ทำให้พูดสวนกันไปมาและไม่เกิดความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งการที่เด็กพูดอะไรก็ตาม ถ้าจะให้เกิดบรรยากาศที่ดีในครอบครัว เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาในตัวเด็ก พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ควรรู้จักวิธีฟังเขาอย่างเข้าใจ” น.ส.อัจฉรา กล่าว ปัจจัยสำคัญในการจะฟังลูกให้เข้าใจได้นั้น พ่อแม่จะต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติ ปรับวิธีคิด หรือมุมมองที่มีต่อลูก เพราะการเป็นพ่อแม่สมัยใหม่ต้องเข้าใจว่าสังคมและสภาพแวดล้อม ปัจจุบันแตกต่างจากสมัยที่พ่อแม่ยังเป็นเด็ก วิธีมอง วิธีคิด วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมอาจไม่เหมาะหรือเข้าได้กับสภาพปัจจุบัน ขั้นตอนการฟังให้ลึกถึงจิตใจของลูกนั้นนักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญท่านเดิมกล่าวว่า สิ่งแรกคือต้องเปิดใจรับฟังและคิดตามเหมือนกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกนั้นเกิดขึ้นกับตัวเรา แต่การเข้าใจไม่ได้หมายถึงการเห็นด้วยหรือต้องเข้าข้างลูกเสมอไป โดยพ่อและแม่ต้องไม่คิดแทนลูก แต่ต้องคิดอย่างลูก มองโลกผ่านสายตาของลูก และต้องไม่คิดในลักษณะกล่าวหา หรือตำหนิ พ่อและแม่ต้องสัมผัสถึงความรู้สึกของลูก เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน เมื่อเด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ยอมรับและเข้าใจ ก็จะรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกมั่นใจและโอกาสเปิดรับคำแนะนำจากพ่อแม่ก็จะมีมากขึ้น “คนเราเมื่อได้กระทำความผิดหรือทำในสิ่งที่ไม่ดีและต้องถูกลงโทษไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม เขาก็ยังอยากให้มีคนเข้าใจว่าที่เขาทำลงไปนั้นเป็นเพราะสาเหตุใด เพราะมนุษย์ทุกคนทุกวัยล้วนต้องการความเข้าใจ ดังนั้นการฟังลูกอย่างเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้ว่าสิ่งที่ทำไปมันจะไม่ดี เราก็ควรที่จะต้องฟังด้วยใจเป็นกลาง ไม่ได้เริ่มต้นการฟังด้วยการถือโทษหรือตำหนิติเตียน” น.ส.อัจฉรา อธิบาย ผลดีของการ “ฟัง” อย่าง “เข้าใจ” จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับเด็ก เป็นการปูทางสร้างจิตสำนึก การกล้าแสดงออก การมีความรับผิดชอบ มีความเข้าใจและยอมรับในกฎระเบียบของสังคมได้ “แค่เราตั้งใจฟังก็เป็นกระบวนการส่งเสริมพัฒนาการด้านความมั่นคงทางอารมณ์ให้กับลูก เพราะเมื่อพ่อแม่มีการฟังลึกเข้าไปถึงความต้องการที่แท้จริงของลูก ก็จะเข้าใจเหตุและผลของลูก และเมื่อลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจในสิ่งที่เขาทำ ยอมรับเขา เขาก็จะเชื่อมั่นและยอมรับในคำแนะนำหรือเหตุและผลต่างๆ จากพ่อแม่ โอกาสของการพัฒนาให้เกิดบุคลิกภาพที่มั่นคงในอนาคตก็จะเกิดขึ้น” น.ส.อัจฉรา สรุป การอบรม “Parenting Skills เคล็ด (ไม่) ลับในการเลี้ยงลูก”ครั้งที่ 1 หัวข้อ ฟังอย่างไร... ให้ “ใจ” รับรู้ จัดเป็นคอร์สๆ ละ 4 ครั้ง สำหรับคอร์สที่จะถึงนี้กำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 7, 14, 21 และ 28 มีนาคม 2556 เวลา 10.30 — 12.00 น. พ่อ แม่ และผู้ปกครองที่ต้องการเรียนรู้เชิงลึกในกระบวนสร้างเสริม EQ ให้กับบุตรหลานผ่านการรับฟังอย่างเข้าใจ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลมนารมย์ โทร.02-725-9595 หรือ www.manarom.com ค่าใช้จ่ายท่านละ 5,000 บาท.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ