พม.จัดประชุมเชิงปฎิบัติการ “สื่อสารแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีพิการ” ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๙) ครั้งที่ ๑

ข่าวทั่วไป Friday March 8, 2013 19:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการแห่งชาติ (พก.) จัดประชุมเชิงปฎิบัติการ “สื่อสารแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีพิการ” ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๙) ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๕ — ๖ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ โดยมี นางนภา เศษฐกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมฯ นางนภา เศษฐกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรีพิการ จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีพิการ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๙) โดยมีกระบวนการระดมความคิด การวิเคราะห์สถานการณ์ จากกลุ่มสตรีพิการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน รวมถึงแนวทางที่มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) และแผนพัฒนาสตรี ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙) มีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “สตรีพิการ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มั่นคงปลอดภัย เข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม” และมียุทธศาสตร์ ๖ ด้าน ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและการเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาค และขจัดการเลือกปฎิบัติ การกระทำความรุนแรงต่อสตรีพิการและเด็กหญิงพิการ การพัฒนาสุขภาพคุณภาพชีวิต การเสริมพลังบทบาทสตรีพิการอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมในสังคม การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพกลไก และองค์กรสตรีทุกระดับ และเสริมสร้างเจตคติในเชิงสร้างสรรค์ของสังคมต่อสตรีพิการ ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีพิการ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เรียบร้อยแล้ว นางนภา กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดประชุมเชิงปฎิบัติการ “สื่อสารแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีพิการ” ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๙) ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๕ — ๖ มีนาคม ๒๕๕๖ เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนแผนฯ ไปสู่การปฎิบัติ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายองค์กรสตรีพิการในระดับพื้นที่ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) และองค์กรเครือข่ายสตรีพิการ กลุ่มภาคเหนือ รวมทั้งสิ้นกว่า ๘๐ คน ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรสตรีพิการ ได้ร่วมดำเนินการบรรยาย อภิปราย และจัดให้มีกระบวนการกลุ่มเครือข่ายสตรีพิการในระดับพื้นที่ด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ