ชัดเจนด้วยเป้าหมาย ท้าทายด้วยภารกิจ นเรศ ดำรงชัย ผอ.ป้ายแดง TCELS

ข่าวทั่วไป Monday March 11, 2013 17:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ชั่วชีวิตคนเรา มีสักกี่คนที่มีสิทธิเลือกที่จะ เรียน ทำงาน การใช้ชีวิตคู่ และกำหนดอนาคตตัวเอง บางคนมีสิทธิเพียงแค่ 1 อย่าง บางคนได้สิทธิ 2 อย่าง แต่เชื่อเถอะ เกินครึ่งที่ไม่ได้สิทธิที่จะเลือกได้ทั้งหมด แต่สำหรับ นเรศ ดำรงชัย หรือ แป๋ง เป็นคนกลุ่มน้อยที่เลือกได้ทั้งหมด เพราะเขากล้าที่จะทำ และเดินตามฝันอย่างแน่วแน่ โดยความชอบส่วนตัว นเรศสนใจวิทยาศาสตร์ทุกสาขามาตั้งแต่เด็ก ๆ เขามักเพียรค้นคว้าและเรียนรู้สิ่งใหม่ ตลอดเวลา จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เลิกเรียนรู้ และนั่นจึงเป็นที่มาของการเลือกเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์สาขาชีวภาพ เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ในยุคสมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หลังจากจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และสามารถสอบเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนมัธยมเบอร์หนึ่งของประเทศคือ เตรียมอุดมศึกษา แต่เรียนได้แค่ปีเดียวก็ตัดสินใจบินลัดฟ้าไปศึกษาต่อยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อเดินตามฝันที่อยากเรียนวิทยาศาสตร์แนวใหม่อย่างที่กล่าวข้างต้น ด้วยวัยเพียง 15 ปี ทำให้นเรศ ต้องปรับตัวอย่างหนัก ทั้งเรื่องของภาษา อาหารการกิน รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างอย่างมากจากสังคมไทย แต่ก็ถือเป็นสุดยอดประสบการณ์ของเขา ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และการทำงานในเวลาต่อมา นเรศ เริ่มต้นระดับไฮสคูลที่ Tokyo Gagkugei University High School และจบปริญญาตรี โท และ เอก จากสถาบันเทคโนโลยีโตเกียว สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ แถมพ่วงด้วยปริญญาโทอีก 1 ใบ จากมหาวิทยาลัยท็อปเทนของโลก อย่าง เคมบิรดจ์ ทางด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยี (แผนที่เทคโนโลยี - Technology Roadmap) ในระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น นเรศ พยายามทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งเป็น ผู้ประกาศข่าวสถานีวิทยุ NHK กรุงโตเกียว ล่ามภาษาไทย-ญี่ปุ่นในงานประชุมระหว่างประเทศ เป็นบรรณาธิการนิตยสารของคนไทยในประเทศญี่ปุ่น เป็นนักดนตรี นักร้อง และเป็นคนงานก่อสร้าง ในคราวที่ต้องหาค่าเครื่องบินกลับเมืองไทย หลังจากอยู่ญี่นานถึง 15 ปี ก็ตัดสินใจกลับมาเริ่มทำงานวิจัยที่ประเทศไทย มุ่งสร้างผิวหนังเพื่อปลูกถ่ายให้กับคนที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกโดยร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลนพรัตน์ และโรงพยาบาลยะลา ต่อมาชีวิตผันผวนให้กลายพันธุ์มาเป็นนักวิจัยนโยบาย เริ่มศึกษานโยบายเทคโนโลยีชีวภาพ มาถึงศาสตร์ของการศึกษาอนาคต (future study) โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้ชายคา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จนมาถึง ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค ในตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ก่อนจะข้ามห้วยไปเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสมัครเข้าเป็น ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ หรือ TCELS จนได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับตำแหน่ง จนถึงวันนี้ 6 เดือนเต็มกับภารกิจอันหนักอึ้ง ที่มุ่งสร้างองค์กรให้เป็นหน่วยงานหลักที่สร้างธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ให้เติบโตเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ นำประเทศไทยสู่ระดับแนวหน้าของภูมิภาค ตามวิสัยทัศน์ขององค์กร นเรศ มักใช้เวลาว่างเพียงน้อยนิด เป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสาร Way Magazine และบางครั้งใช้นามปากกา "ศร แมนสรวง" ในการเขียนนวนิยาย ชื่นชอบงานเขียนของไอแซค อาซิมอฟ, ฟรีแมน ไดสัน, เจฟฟรีย์ อาร์เชอร์ และชินอิจิ ฟุกุดะ ถ้านักเขียนไทยชอบยาขอบ ชาติ กอบจิตติ วาณิช จรุงกิจอนันต์ บินหลา สันกาลาคีรี และนิธิ เอียวศรีวงศ์ ชอบฟังดนตรียุคคลาสสิคและโรแมนติก เรื่อยไปถึงแรกไทม์ บีบ๊อบ และโปรเกรซสีฟร็อค นอกจากนี้เขายังสนใจศึกษาเรื่องศาสนา ไม่เพียงแต่พุทธศาสนาเท่านั้น แต่เขาสนใจศึกษาทุกศาสนา และชอบที่จะดีเบท ในมุมทางวิทยาศาสตร์ สำหรับนเรศ นั้น พื้นเพเป็นคน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี พ่อแม่เป็นข้าราชการ คุณยายของเขา เป็นญาติกับ ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ คุณตาเป็นครูโรงเรียนนเรศวรวิทยาลัย คุณตาได้มีโอกาสไปอยู่ที่บ้านของ ท่านปรีดี พนมยงค์ ในช่วงที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงคราม และได้มีโอกาสช่วยขบวนการเสรีไทยทำงานสำคัญให้ประเทศชาติ จากนั้นคุณตาก็ได้เป็นผู้แทนสุพรรณในสมัยรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม นเรศ สมรส กับผู้หญิงที่เขาเลือกคือ วชิสา บูรณะบุรี โดยท่านผู้หญิงพูนศุข ให้เกียรติเป็ประธานในพิธีมงคลสมรส จากนั้นก็ได้ติดต่อไปมาหาสู่กับ ท่านผู้หญิงพูนศุข ที่บ้านสวนพลู จนถึงวันท่านสิ้นบุญ สำหรับชีวิตส่วนใหญ่ของนเรศนั้น นอกจากภาระงานที่หนักหน่วงแล้ว เขาก็ยังแบ่งเวลาเป็นคุณพ่อที่น่ารักของลูกสาวสองคน ซึ่งยังอยู่ในวัยไร้เดียงสา ในอนาคต นเรศ หวังว่า เขาจะสามารถช่วยเหลือประเทศชาติ ในภารกิจของนักวิชาการ นักบริหาร นักคาดการณ์อนาคต จนถึงวัยเกษียณหรือถึงเกณฑ์ที่เขาให้หยุดและก่อนถึงวันนั้น ก็คงต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทางดีให้มากที่สุด สิ่งที่เขาใฝ่ฝันอยากทำคือ สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ในบ้านเรามีวัฒนธรรมการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยต้องเริ่มตั้งแต่เยาวชนเพราะคนรุ่นเก่าคงเปลี่ยนยาก แต่ก็อดไม่ได้ที่จะกังวลว่า ต่อไปถ้าช่องว่างระหว่างวัยห่างกันมากกว่านี้ อาจทำได้ไม่ง่าย ทุกวันนี้เขาจึงต้องหาแนวร่วมที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักธุรกิจ ตลอดจนถึงศิลปินที่เป็นคนรุ่นใหม่เป็นพวกไว้เยอะ จะได้เรียนรู้ จากพวกเขาตลอดเวลา ไม่ใช่เอาสิ่งที่เราคิด หรือวิธีการสื่อสารที่เราถนัด ไปยัดเยียดให้คนอื่นอย่างเดียว เราควรต้องสื่อสารในภาษาและสำเนียง (หรือสัญลักษณ์) ให้คนที่เป็นเป้าหมายเข้าใจ ประทับใจ หรือมีความรู้สึกร่วมด้วย จึงจะทำได้สำเร็จ แต่ถ้าถามว่าอยากทำอะไรที่สุด เขาตอบทันทีว่า อยากอยู่กับครอบครัว ดื่มด่ำกับธรรมชาติและเสียงดนตรี ติดต่อ: www.tcels.or.th, 02-6445499

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ