แฮปปี้ เผยปี 2004 พลาดก็มี ดีก็เยอะ ได้แนวทางปรับกลยุทธ์ปี 2005 เปิดตัว “ดีใจ” เอาใจทั้งคนขายและลูกค้า

ข่าวทั่วไป Thursday December 16, 2004 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--ดีแทค
แฮปปี้ จากดีแทค ทบทวนผลงานตลอดปี 2004 กล้าเปิดเผยทั้งความภูมิใจและปัญหา เพื่อปรับตัวเข้าสู่ปี 2005 ที่ยากลำบากขึ้น ส่งแคมเปญแบบไทย ๆ ชื่อ “ดีใจ” ลงสู้ศึกพรีเพดรับปีใหม่ ระยะแรกสร้างความดีใจในฝั่งคนขาย มั่นใจฐานข้อมูลการจำหน่ายที่แม่นยำช่วยพัฒนาผลตอบแทนให้ร้านค้าเต็มประสิทธิภาพ ระยะสองต้องให้ลูกค้าดีใจมากยิ่งขึ้น เตรียมวางระบบ CRM (Customer Relationship Management) แบบแหวกแนวตามเอกลักษณ์แฮปปี้ภายในไตรมาสแรก คาดความสำเร็จจะเชื่อมต่อวงจร “พอดี” “ใจดี” “ดีใจ” และ “พอใจ” ที่วางรากฐานไว้ให้ครบเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาอันใกล้
นายธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้อำนวยการกลุ่มแฮปปี้ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เปิดเผยว่า ปี 2004 แฮปปี้สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดได้ประมาณร้อยละ 30 และมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 เมื่อเทียบจากไตรมาส 3 ของปี 2003 กับไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยในปีที่ผ่านมาแฮปปี้ได้เปิดตัวแคมเปญต่อเนื่องกันถึง 2 แคมเปญใหญ่ คือ “พอดี” และ “ใจดี” สำหรับ “พอดี” นั้น แฮปปี้เป็นรายแรกของวงการที่ริเริ่มจำหน่ายซิมสำหรับกลุ่มคนโทรน้อย เน้นรับสาย เรียกว่าเบบี้ซิม หรือ ซิมรุ่นเล็ก และบัตรเติมเงิน 50 บาท ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินราคาต่ำสุดรายแรกสำหรับตลาดมหาชน และในครึ่งปีหลังได้ออกบริการ “ใจดีให้ยืม” และ “ใจดีให้แลก” ภายใต้แคมเปญ “ใจดี” ตามมา รวมทั้งบริการ แฮปปี้โกอินเตอร์ ที่ล้วนสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการ อย่างไรก็ตามการออกบริการเหล่านี้มีทั้งจุดที่ประสพความสำเร็จในการกระตุ้นให้ตลาดหันมาเดินตาม และจุดที่ก่อให้เกิดปัญหากับการให้บริการในบางเรื่อง เช่น การประเมินยอดผู้ใช้น้อยกว่าความเป็นจริงทำให้ระบบมีปัญหาในบางบริการ ปัญหาด้านการควบคุมราคา ฯลฯ
“สำหรับปี 2005 นั้นเป็นปีที่ยากขึ้นไปอีกสำหรับผู้ประกอบการ โดยคาดว่าร้อยละ 80 ของลูกค้าที่จะได้มาจะเป็นลูกค้าที่เปลี่ยนมาจากค่ายอื่น ทุกคนต้องแข่งขันกันบนพื้นฐานการให้บริการและเครือข่ายที่มีความแตกต่างกันน้อยลง และแทบไม่มีนวัตกรรมด้านราคาและโปรโมชั่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นเลย โดยจะเห็นว่าในปีหน้า ผู้ประกอบการทุกรายต่างพุ่งเป้าหมายมาที่ตลาดมหาชนเหมือนกันหมด กลยุทธ์ที่สำคัญของแฮปปี้สำหรับปี 2005 ก็คือการเดินหน้าสานเพื่อต่อแคมเปญที่จะตอกย้ำถึงอัตลักษณ์ของเราให้เด่นชัดยิ่งขึ้นนั่นก็คือ “ใจดี” พร้อมกับเปิดตัว “ดีใจ” ใน 2 รูปแบบคือ คนขายดีใจ เน้นการสร้างความแตกต่างทางช่องทางการจัดจำหน่าย (Distribution) และ ผู้ใช้ดีใจ ด้วยระบบ CRM ในแบบของแฮปปี้ที่จะเปิดตัวในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า รวมทั้งเรายังจะสานสัมพันธ์และมีโครงการต่อเนื่องกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ได้ร่วมมือกันอยู่แล้วในปีนี้ ได้แก่ เนสท์เล่ไอศกรีม สหพัฒน์ กิฟฟารีน อิออน เครือโรงภาพยนตร์เอสเอฟซิเนม่าซิตี้ เคทีซี SCB และพันธมิตรรายอื่น ๆ เพื่อขยายธุรกิจให้กว้างออกไป เราเชื่อว่าแนวทางของการตลาดแบบไทย ๆ จะทำให้เราเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เร็วกว่าและตรงกว่าในปีที่กำลังจะมาถึงนี้” นายธนากล่าว
นายศิริชัย ลาภมหานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่ม Sales & Distribution บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เปิดเผยถึงกลยุทธ์การสร้างคนขายดีใจหรือที่เรียกว่าโครงการ ”คนขายแฮปปี้” ที่นำระบบ Sales Tracking System (STS) มาใช้ว่า แฮปปี้ได้ลงทุนถึง 50 ล้านบาทและใช้เวลาถึง 6 เดือนเพื่อก่อตั้งระบบ STS ขึ้นเป็นรายแรกของเมืองไทย โดยเริ่มใช้แล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2547 ระบบ STS จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้แฮปปี้มีความได้เปรียบในด้านของ Sales และ Distribution ในปีหน้า เราได้นำร้านค้าย่อยกว่าหมื่นรายเข้ามาจดทะเบียนกับแฮปปี้โดยตรงและเปลี่ยนระบบการขายจากเดิมที่มีผู้ค้าส่ง (Wholesaler) ถึง 150-200 ราย ให้มีเพียงผู้แทนจำหน่าย (Distributor) ที่ได้รับการแต่งตั้งเพียง 60 กว่ารายเข้ามารับผิดชอบร้านค้าย่อยในแต่ละเขต ทุกครั้งที่สินค้าออกจากคลังหรือมีการซื้อขายจะมีการบันทึกผ่านการสแกนรหัสผู้ขาย รหัสสินค้า ทำให้เราได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการติดตามและสามารถดูแลผู้ขายทั้งรายใหญ่ และร้านค้าย่อยได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ เรายังพัฒนาหน่วยรถเคลื่อนที่ (Cash Van) ที่มีประสิทธิภาพเข้าเยี่ยมร้านค้าถึงในที่ห่างไกล ช่วยสร้างความสัมพันธ์และก่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น เป็นช่องทางที่จะเชื่อมโยงเราต่อไปถึงลูกค้าที่อยู่ในเขตห่างไกลให้ดีขึ้นด้วย
ดร.เกษชญง สกาวรัตนานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่ม Prepaid Activation บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กล่าวว่าระบบ STS เป็นการนำเอา Consumer Product Approach มาใช้ร่วมกับ Telecom Technology สร้างเป็นกระบวนการในรูปแบบใหม่ที่พลิกโฉมการจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายของประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาและบริหารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลที่เราได้บันทึกจากการซื้อขายแต่ละครั้งจะได้นำไปใช้ติดตามความเคลื่อนไหวช่วยให้เรารู้ข้อมูลการขายในระดับย่อยลงไปถึงตู้ขาย และนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาระบบผลตอบแทนที่เหมาะสมกับผู้จำหน่ายต่อไป โดย Distributor แต่ละรายจะทำหน้าที่บริหารจัดการร้านค้าย่อยแทนเราทั้งในรูปแบบของการให้ข้อมูลข่าวสารและการควบคุมให้ร้านอยู่ในกฎระเบียบที่กำหนด การจัดระเบียบใหม่นี้จะแก้ปัญหาความทับซ้อนของการจำหน่าย การจัดส่งสินค้าและปัญหาการตัดราคาระหว่างผู้ขายด้วยกัน ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มกำไรให้กับผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับซึ่งเราจะได้โอนเงินค่าตอบแทนให้กับผู้ขายแต่ละรายโดยตรง อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างเป็นธรรมกับลูกค้าซึ่งจะได้รับสินค้าและข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
[ลูกค้า
] DTAC Call Center โทรศัพท์ 02 202 7000 หรือ กด *1800 จากโทรศัพท์มือถือ
[สื่อมวลชน
] พรนานา อภิลักษณ์พาณิชย์ Media Relations สำนัก Corporate
Communications บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)
โทรศัพท์ 02 202 8000 (#31887) โทรสาร 02 202 8895, 02 202 8859
มือถือ 01 623 9895 หรือ e-mail: ponnanaa@dtac.co.th--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ