การประชุมระดมความคิดเพื่อเสนอผลงานวิจัย “การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย”

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday March 15, 2005 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ
นายกำจัด มงคลกุล อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตามที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดทำแผนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 10 ปี (2547-2556) นั้น มีกลยุทธ์หลักอยู่ 5 เรื่อง มีอยู่กลยุทธ์หนึ่งซึ่งยังไม่มีการดำเนินการมาก่อนอย่างจริงจัง ตั้งแต่ตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มา 25 ปีเศษ ก็คือ กลยุทธ์การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาสมรรถภาพด้านนี้ของประเทศไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรวิทยาศาสตร์จึงเป็นตัวถ่วงในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งไทยทำได้ดีในมิติอื่นส่วนใหญ่
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษาวิจัยแนวทางการดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กระทำอยู่ในประเทศต่างๆ และเสนอวิธีการที่ประเทศไทยควรดำเนินการในแผนกลยุทธ์ 10 ปีข้างหน้า บัดนี้การวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว มีส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 เกี่ยวกับคำจำกัดความ เป้าหมายและจำนวนประชากรในแต่ละเป้าหมาย ที่จะสร้างความตระหนักดังกล่าว เพื่อความเข้าใจตรงกันและสร้างกลยุทธ์ได้ตรงเป้าหมาย ส่วนที่ 2 กิจกรรมหลัก 10 ประเภท ที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว และส่วนที่ 3 เป็นข้อเสนอในการดำเนินการตามกลยุทธ์ดังกล่าวใน 10 ปีข้างหน้า
ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมวิจารณ์ผลงานวิจัย ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต กรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ , ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุพรรณบุรี , รศ.ดร.ประสาท สืบค้า คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะกรรมการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
คณะผู้วิจัยจะจัดประชุมในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2548 นี้ เวลา 09.00-12.30 น. ณ โรงแรมสยามซิตี้ เพื่อเสนอผลการวิจัยดังกล่าวต่อผู้ทรงคุณวุฒิ คือ คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 34 ท่าน ผู้แทนกรรมาธิการด้านวิทยาศาสตร์ฯ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา 4 ท่าน คณะอนุกรรมการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 13 ท่านโดยมี ผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังและร่วมอภิปราย ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลการวิจัย หน่วยงานและองค์กรด้านวิจัย ผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ฯลฯ ผู้บริหารรวมทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย สมาคมด้านวิทยาศาสตร์และนิเทศศาสตร์และผู้แทนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อผู้รับผิดชอบในการดำเนินแผนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติต่อไป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ