ปตท.โชว์แผน BCM มั่นใจภารกิจเดินหน้าต่อเนื่องในทุกวิกฤตพลังงาน ตอกย้ำความพร้อมรับวิกฤตไฟฟ้าเมษายนนี้ วอนประชาชนปลูกฝังจิตสำนึกประหยัดพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2013 17:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ปตท. บ่ายวันนี้ (1 เมษายน 2556) นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมการปฏิบัติการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องภายใต้ภาวะวิกฤต หรือ Business Continuity Management (BCM) ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ณ ชั้น 6 อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท. ซึ่งมีการเปิดห้องปฏิบัติการรองรับสภาวะฉุกเฉิน ให้เห็นถึงการหมุนเวียนประจำการของเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมงพร้อมทั้งระบบการรายงานเหตุและระงับเหตุ ระบบการสื่อสาร อาทิ วีดิโอทางไกลเชื่อมต่อโครงค่ายคลังปิโตรเลียม โรงแยกก๊าซฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบบการจัดส่งเชื้อเพลิง ระบบการดูแลผลกระทบชุมชน และระบบงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งนี้ เป็นแผนดำเนินงานเชิงรุกเพื่อรองรับทุกสภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงในด้านพลังงานและการจัดส่งพลังงานให้ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยในช่วงเวลาที่เกิดความเสี่ยงด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างวันที่ 5 - 14เมษายน 2556 ปตท.ก็จะเปิดดำเนินการภายใต้กรอบ BCM และมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันกับในช่วงวิกฤตมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 เป็นต้น ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยว่า การดำเนินการตามกรอบ BCM นั้นประกอบด้วยแผนงานย่อยมากมาย โดยทุกหน่วยสำคัญขององค์กรจะมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการควบคู่กับการประสานงานหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องรวมถึงกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ BCM ประกอบด้วย แผนการจัดการสภาวะวิกฤต แผนการกู้คืนระบบสารสนเทศ แผนการจัดเตรียมทรัพยากรบุคลากร แผนการจัดเตรียมสถานที่ปฏิบัติงานสำรอง และแผนการกู้คืนอาคารและสถานที่ เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ธุรกิจไม่หยุดชะงัก และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในทุกสถานการณ์ ดร.ไพรินทร์ กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการภาวะฉุกเฉิน ณ ชั้น 6 อาคารสำนักงานใหญ่ ปตท.นั้นมีการเชื่อมต่อสื่อสารโดยระบบวีดิโอคอนเฟอเรนส์กับ ศูนย์ปฏิบัติการของ ปตท. ในพื้นที่ต่างๆอาทิ ศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จ.ชลบุรี โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง และ คลังน้ำมันพระโขนง รวมถึงระบบเชื่อมต่อการสื่อสารกับหน่วยงานภายนอก อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น ดร.ไพรินทร์ กล่าวถึงตัวอย่างขั้นตอนการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานว่า ในกรณีตัวอย่างหากเกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ปตท.จะต้องแจ้งเหตุการณ์ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทราบทันทีเพื่อปรับลดปริมาณการใช้ก๊าซฯ หรือปรับเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นทดแทนให้ทันกับความสามารถในการจ่ายก๊าซฯในแต่ละกรณี และแจ้งให้หน่วยธุรกิจน้ำมัน ปตท.ทราบ เพื่อจัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไป ทั้งนี้ ได้มีการจัดระดับความรุนแรงแบ่งออกเป็น 5 ระดับ โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์กำหนด ได้แก่ สีขาว สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง ซึ่งแต่ละสีจะบ่งบอกถึงระดับที่แตกต่างกันในปริมาณการจ่ายก๊าซฯของผู้ผลิตก๊าซฯ ระดับปริมาณความต้องการใช้ ระดับการดำเนินการผลิตไฟฟ้าที่เป็นไปตามแผนหรือนอกเหนือจากแผนการผลิตปกติ และระดับผลที่อาจจะกระทบต่อผู้ใช้ เป็นต้น สำหรับกรณีการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับแหล่งยาดานาปิดซ่อมบำรุง ระหว่างวันที่ 5-14 เมษายน 2556 นั้น ปตท.ได้เตรียมน้ำมันเตา น้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สำรองให้เพียงพอ และมั่นใจไม่ส่งผลกระทบต่อภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง นอกจากนี้ ปตท. ได้เตรียมความพร้อม โดยแจ้งขอความร่วมมือผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งอื่นๆไม่ทำกิจกรรมใดๆที่มีความเสี่ยงต่อการผลิตก๊าซในช่วงเวลาดังกล่าว จัดเตรียมแผนการเรียกก๊าซธรรมชาติเต็มที่จากผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติบนบก และสำรองก๊าซธรรมชาติในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตกให้เต็มที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ