บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 5, 2013 16:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ จากผลการศึกษาสรุปว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตและบัตรเครดิตช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกถึง 983,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2551ถึง 2555 จากการศึกษาของวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล (Visa) ซึ่งดำเนินการโดย Moody’s Analytics ผู้เชี่ยวชาญด้านการคาดการณ์เศรษฐกิจชั้นนำระดับโลก พบว่า การเติบโตในส่วนของการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเครดิตและบัตรเดบิต ได้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศไทยถึง 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการศึกษาใน 56 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมี GDP รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93 ของทั่วโลก สรุปได้ว่า "การใช้จ่ายผ่านบัตรทำให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ” โดยรวมทั่วโลก การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่วยสร้างมูลค่าให้กับ GDP ของทั้ง 56 ประเทศรวมกว่า 983,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2551 ถึง 2555โดยในช่วงเวลาเดียวกันนี้ GDP ในประเทศเหล่านั้นมีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.8 "จากการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและสร้างมูลค่าให้กับ GDP ของไทยถึง1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดประโยชน์หลายประการ ทั้งยังมีความสำคัญในแง่ของการรักษาตลาดแบบเปิดให้ยังคงส่งเสริมการแข่งขันและนวัตกรรมภายในอุตสาหกรรมดังกล่าว เราจะเห็นได้จากข้อมูลว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมีผลโดยตรงจากการใช้จ่ายผ่านบัตร และประโยชน์มากมายที่มาพร้อมกับระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้แก่ ความปลอดภัยที่มากขึ้น ความสะดวกสบายในการใช้จ่ายโดยไม่ต้องพกเงินสดหรือเช็ค ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นในส่วนของการชำระสินค้าและการยับยั้งการเติบโตของเศรษฐกิจนอกระบบ (grey economy)” นายสมบูรณ์ ครบธีรนนท์ ผู้จัดการวีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศพม่าและไทยกล่าว "นอกจากนี้ ข้อมูลจากEuromonitor[1] เปิดเผยว่า กว่าร้อยละ 86.9ของการทำธุรกรรมทั้งหมดในปี 2555เป็นเงินสด นอกจากนี้ จากข้อมูลของธนาคารโลก[2] ระบุว่า ร้อยละ 27 ของคนไทยยังไม่มีบัญชีในสถาบันการเงินที่เป็นทางการ ลองนึกภาพประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจถ้าหากเราสามารถเชื่อมโยงคนกลุ่มนี้กับระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่นบริการโมบายแบงกิ้งแบบไม่ใช้สาขาธนาคาร (mobile branchless banking) นายสมบูรณ์กล่าวอีกว่า "เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นโอกาสเติบโตของระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยผ่านโซลูชั่นเชิงนวัตกรรมใหม่ๆ และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมงานกับธุรกิจต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆในประเทศ เพื่อขยายขอบข่ายการดำเนินงานและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นต่อไป" "แม้จะประสบกับภาวะทางเศรษฐกิจที่เป็นที่ท้าทายทั่วโลก การใช้จ่ายผ่านบัตรที่พุ่งสูงขึ้นช่วยเพิ่มการบริโภคของผู้บริโภค และโดยเฉลี่ยแล้วยังช่วยเพิ่มมูลค่า GDP อีกด้วย" มาร์ค แซนดิ ผู้อำนวยการฝ่ายพยากรณ์เศรษฐกิจของ Moody’s Analytics ตั้งข้อสังเกต "อัตราการเพิ่มขึ้นของการบริโภคเป็นแนวคู่ขนานกับความนิยมที่เพิ่มขึ้นและการเข้าถึงบริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในหมู่ผู้บริโภคทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ข้อมูลที่พบดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องออกนโยบายกระตุ้นให้เปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินเป็นการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากขึ้น" ข้อมูลที่น่าสนใจจากผลการศึกษา[3]: การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค: ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่วยเพิ่มมูลค่าของ GDPได้ตัวอย่างเช่นในประเทศจีน GDP เพิ่มขึ้นเกือบ 375พันล้านเหรียญสหรัฐ ในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในประเทศเกาหลีใต้ การใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้นได้สร้างมูลค่าให้กับ GDP ของประเทศถึง 23พันล้านเหรียญสหรัฐ - คุณค่าของระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์: การศึกษาครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของสินค้าและบริการ การถือกำเนิดขึ้นของบัตรเครดิตและบัตรเดบิตได้ช่วยเสริมขีดความสามารถของผู้บริโภคที่จะตัดสินใจบริโภคได้ง่ายขึ้น โดยช่วยให้พวกเขามีช่องทางเข้าถึงเงินฝากหรือวงเงินสินเชื่อทั้งหมดที่มีอยู่ได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วทันใจ ด้านร้านค้าก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีปริมาณเงินสดและเช็คน้อยลง ช่วยลดภาระและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเงินสดได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ การเติบโตแบบก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซ (eCommerce) และระบบชำระเงินผ่านมือถือ (mobile payment) จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก ซึ่งช่วยให้การโอนเงินและการยืนยันการชำระเงินแก่ร้านค้ามีความปลอดภัยและสะดวกง่ายดาย - สนับสนุนนโยบายของภาครัฐ:ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่วยยับยั้งการเติบโตของเศรษฐกิจนอกระบบ (gray economy) นั่นเท่ากับช่วยเพิ่มความโปร่งใสและสร้างรายได้จากภาษีที่จัดเก็บได้มากขึ้น - ผลกระทบจากอัตราการเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรในอนาคต:Moody Analytics พบว่า ร้อยละ 1 ของการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้นใน 56 ประเทศที่ทำการศึกษา จะส่งผลให้การบริโภคทั้งปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.056 และเมื่อคำนวณจากอัตราการเติบโตของการใช้บัตรในช่วงที่ผ่านมาและคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นกับ GDP ในอนาคต Moody’s Analyticsประเมินว่าการบริโภคจะขยายตัวร้อยละ 0.25 ขณะที่ GDP จะสูงขึ้นร้อยละ 0.16 - การเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ: ในช่วงปี 2551 ถึง 2555มูลค่า GDP ตามจริงทั่วโลกขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 ต่อปี หากไม่มีการใช้จ่ายผ่านบัตร GDP จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 การเข้าถึงบัตรและการใช้งานช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก โดยช่วยบรรเทาผลที่อาจเกิดจากการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าหลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก การสำรวจครั้งนี้[4]เป็นการทำซ้ำเป็นครั้งที่สอง หลังการศึกษาที่ดำเนินการโดย Moody’s Analytics ในช่วงปี 2003-2008 [1] Euromonitor, มกราคม 2012 [2] Financial Inclusion Data, ธนาคารโลก, 2011 [3] ผลสำรวจโดยMoody’s Analyticsเกี่ยวกับผลกระทบจากการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่ออัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โดยโครงสร้างดังกล่าวศึกษาผลกระทบจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจในภาพรวมใน 56 ประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี จาก 2551 ถึง 2555 [4] ผลสำรวจโดยMoody’s Analyticsเกี่ยวกับผลกระทบจากการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่ออัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โดยโครงสร้างดังกล่าวศึกษาผลกระทบจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจในภาพรวมใน 56 ประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี จาก 2551 ถึง 2555

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ