สธ. เดินหน้าโครงการกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับ ลดมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2556 หลังองค์การอนามัยโลกระบุ!!พยาธิใบไม้ตับ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี

ข่าวทั่วไป Friday April 5, 2013 16:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--กรมควบคุมโรค องค์การอนามัยโลกระบุการเป็นพยาธิใบไม้ตับเรื้อรังหรือมีการติดเชื้อซ้ำบ่อยๆเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี ในขณะที่ประเทศไทยพบพยาธิใบไม้ตับชุกที่สุดคือภาคอีสานและเหนือ ร้อยละ18.6 และร้อยละ10 และพบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีถึงปีละ 28,000 ราย เฉลี่ยวันละ 76 ราย หรือชั่วโมงละ 3 คน สธ.เดินหน้าโครงการมหกรรมการรณรงค์สัญจร “การกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับ ลดมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2556” เป็นยุทธศาสตร์กำจัดพยาธิใบไม้ตับ ลดมะเร็งท่อน้ำดี เตรียมเดินหน้าลงพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด อุดรธานี น่าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับและยอมรับว่าการเป็นพยาธิใบไม้ตับเรื้อรังหรือมีการติดเชื้อซ้ำบ่อยๆในระยะยาวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีและยังได้จัดอันดับให้พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็นโรคสำคัญและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องเร่งรัดแก้ไขโดยด่วน และจากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์ความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับ ประเทศไทยพบภาคอีสานมีอัตราความชุกของโรคสูงที่สุดถึงร้อยละ 18.6 ส่วนภาคเหนือพบในอัตราสูงเช่นกันคือร้อยละ10 และเมื่อแยกรายจังหวัดพบว่ามี 15 จังหวัดที่มีอัตราความชุกโรคพยาธิใบไม้ตับสูงกว่าร้อยละ 20 โดย 12 จังหวัด อยู่ในภาคอีสานได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ สกลนคร ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู ยโสธร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี ส่วนอีก 3 จังหวัดอยู่ในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัด ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ในขณะที่รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2548 พบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี ถึงปีละ 28,000ราย เฉลี่ยวันละ 76 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน และล่าสุดในปี 2554 พบมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีในตับ จำนวน 14,314 ราย มากที่สุดเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,593 ราย รองลงมาภาคเหนือ 2,638 ราย โรคนึ้จัดว่าเป็นปัญหาสำคัญและรุนแรงอย่างมาก ก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากผู้ป่วยมักอยู่ในช่วงอายุ 45-55 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องโรคพยาธิ การสุขาภิบาลอาหาร รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนสนใจตรวจอุจจาระหาโรคพยาธิอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างถาวร “โดยได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคจัดโครงการมหกรรมการรณรงค์สัญจร “การกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับ ลดมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2556” ขึ้น เพื่อเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะสร้างกระแสให้ชุมชน ประชาชน และเด็กนักเรียน ตระหนักถึงความสำคัญของอันตราย และความเชื่อมโยงของพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่พึ่งประสงค์ต่อการป้องกันและควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ และจะนำมาสู่การลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีต่อไป” นพ.ชลน่าน กล่าว ด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุของการป่วยเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับในคนไทยนั้น ส่วนใหญ่มาจากความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนในท้องถิ่นที่มีมายาวนาน เมื่อคนกินปลาปรุงดิบหรือไม่ได้ปรุงให้สุกด้วยความร้อน หรือปรุงดิบๆสุกๆ ตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับในปลาสามารถเจริญเป็นตัวเต็มวัยในคนได้ ซึ่งพบว่ามีประชาชนถึงร้อยละ 24 ที่ยังไม่เลิกกินปลาดิบ โดยให้เหตุผลว่า อร่อย เคยชิน กินตามบรรพบุรุษ เชื่อกันว่ากินดิบ หรือกินดิบๆสุกๆ เพื่อให้มีแรงทำงานและคิดว่าเป็นอาหารหลักประจำวัน และไม่ใช่แค่คนเท่านั้นที่เป็นโรคนี้ สัตว์อื่นๆ ได้แก่ แมว สุนัข หมู หนู สัตว์กินเนื้ออื่นๆ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ยังเป็นแหล่งรังโรคนี้ได้เช่นกัน ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับด้วยการผสมผสานและร่วมดำเนินงานกับการบริการสาธารณสุขระดับจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้มีการตรวจวินิจฉัยโรคและให้การรักษาเมื่อตรวจพบการติดโรคพยาธิใบไม้ตับ การเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพและป้องกันการติดโรครายใหม่หรือติดโรคซ้ำในชุมชน รวมทั้งการจัดกิจกรรมด้านสุขศึกษาประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับอย่างต่อเนื่อง “อย่างไรก็ตามการควบคุมและป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับให้ได้ผล วิธีที่ดีที่สุดคือประชาชนต้องตระหนักในการป้องกันตนเองด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ยึดหลักปฏิบัติ“กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” หลีกเลี่ยงหรือเลิกกินอาหารแบบสุกๆดิบๆ เพื่อลดเสี่ยงเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเป็นพยาธิที่มีอยู่ในปลาน้ำจืดและพบมากทางภาคอีสาน เช่น ปลาแม่สะแด้ง ปลาตะเพียน ปลาทราย ปลาสร้อยนกเขา ปลาสูด ปลากระมัง ฯลฯ หลายคนคิดว่า กินสุก ๆ ดิบ ๆ แล้วกินยาถ่ายพยาธิตามไป ร่างกายก็จะถ่ายพยาธิใบไม้ตับออกมาเอง ถือเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะพยาธิเมื่อเข้าไปในร่างกายเราแล้ว จะไปกัดทำลายทำให้ท่อน้ำดีอักเสบ คนที่ใช้ยาถ่ายพยาธิบ่อยครั้ง ในขณะที่ยังไม่หยุดกินปลาดิบ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น แม้จะรับประทานยาถ่ายพยาธิเข้าไป ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยจากโรคมะเร็ง นอกจากนี้ควรขับถ่ายในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ เพราะหากขับถ่ายผิดที่ เช่น ขับถ่ายของเสียลงในแม่น้ำลำคลอง ไข่ของพยาธิใบไม้ตับที่ไหลผ่านท่อน้ำดี เข้าสู่ลำไส้จะออกมาปะปนกับอุจจาระของคน สุนัขและแมว และแพร่กระจายเชื้อต่อไปได้ง่าย”อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า การจัดโครงการมหกรรมรณรงค์สัญจร “การกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับ ลดมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2556”ในครั้งนี้ จะดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดน่าน แม้ว่า 2 ใน 3 จังหวัดคือ อุดรธานี และน่าน จะมีอัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับเฉลี่ยทั้งจังหวัดน้อยกว่าร้อยละ 20 แต่เนื่องจากในปี 2554 จังหวัดอุดรธานีมีรายงานผลการตรวจอุจจาระประชาชนพบอัตราความชุกของไข่พยาธิใบไม้ตับสูงขึ้นจากปี 2552 (17.67 จาก 13.8) ส่วนจังหวัดน่าน ในปี 2555 ผลการตรวจอุจจาระประชาชนในอำเภอบ่อเกลือ พบมีไข่พยาธิ 2,614 คน และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ พบไข่พยาธิใบไม้ตับสูงที่สุดถึง 1,194 คน โดยภายในงานจะมีการจัดบูธนิทรรศการ การเสวนา การจัดกิจกรรมการเรียนรู้การป้องกันควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน การบริการตรวจและรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี การสาธิตการประกอบอาหารปลอดภัยจากพยาธิใบไม้ตับ ฯลฯ ซึ่งกำหนดการจัดงานในวันที่ 22 เมษายน ที่จังหวัดน่าน วันที่ 26เมษายน ที่จังหวัดอุดรธานี และวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด./ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ