มจธ. ขานรับนโยบายรัฐฯ เปิดให้บริการ “รถบัส ED95” หนุนใช้เอทานอลกับรถโดยสาร

ข่าวทั่วไป Tuesday April 9, 2013 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากสถานการณ์การใช้พลังงานของไทย พบว่า มีการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงดีเซลในสัดส่วนที่มากกว่าเบนซินถึง 2 ใน 3 ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทั้งหมด โดยมีปริมาณการใช้ดีเซลทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ จึงจำเป็นที่ภาครัฐส่งเสริมให้มีการลดการใช้ดีเซลลง โดยในปี 2553 กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ได้ริเริ่ม “โครงการสาธิตการใช้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง” ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ประกอบกับในปี 2555 กระทรวงพลังงานยังได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ภายใน 10 ปี (2555-2564) และส่วนหนึ่งของนโยบายได้ส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงใหม่ เพื่อลดการใช้น้ำมันดีเซล โดยมีเป้าหมายให้ลดการนำเข้าดีเซลให้ได้ 25 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2564 และเอทานอล ED95 ถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มเชื้อเพลิงใหม่เพื่อนำมาทดแทนดีเซล เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่มีความเป็นไปได้สูงในเชิงพาณิชย์และสามารถลดปริมาณการใช้ดีเซลที่มีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้มีพิธีเปิดให้บริการรถบัส ED95 ในโครงการรถโดยสารสาธารณะที่ใช้เชื้อเพลิงเอทานอล ED95 ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเดินทางโดยรถสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี - มจธ.บางมด เพื่อลดการใช้รถยนต์ในการเดินทางเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานทดแทนจากเอทานอล โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษา อาจารย์ และประชาชนทั่วไปได้ใช้บริการ โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ H.E. Mr. Klas Molin เอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน ณ สำนักหอสมุด มจธ. เมื่อวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดโครงการ “รถโดยสารสาธารณะที่ใช้เชื้อเพลิงเอทานอล ED95”ว่า ปัจจุบันปริมาณการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก สำหรับประเทศไทยการใช้พลังงานในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมมีอัตราใกล้เคียงกันมาตลอด โดยมีสัดส่วนการใช้พลังงานของแต่ละภาคอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานทั้งหมด เมื่อพิจารณาการใช้พลังงานในภาคขนส่งตามชนิดของเชื้อเพลิง พบว่า การใช้เชื้อเพลิงกลุ่มน้ำมันเบนซินมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 33 ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทั้งหมดหรือประมาณ 20 ล้านลิตรต่อวัน และการใช้เชื้อเพลิงดีเซล มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 65 ของการใช้เชื้อเพลิงในภาคขนส่งทั้งหมดหรือประมาณ 50 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน “ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ริเริ่มส่งเสริมการใช้เอทานอลผสมกับเบนซินหรือที่รู้จักกันดีว่า แก๊สโซฮอล์ E10, E20 และ E85 มาทดแทนในกลุ่มเชื้อเพลิงเบนซิน อย่างไรก็ตามการลดการใช้ดีเซลเอง ก็ต้องส่งเสริมควบคู่กันไป ดังนั้น ในโอกาสที่มจธ.ได้จัดให้มีโครงการเดินรถโดยสารสาธารณะเอทานอลED95 ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเดินทางโดยรถสาธารณะจากการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี และมหาวิทยาลัย เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง เพิ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพครั้งนี้ ถือเป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้เอทานอลเป็นพลังงานทดแทนซึ่งเป็นผลิตผลทางเกษตรกรรมและสามารถผลิตขึ้นเองได้ภายในประเทศ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล , การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพราะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)ได้ในปริมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ70 ถึงร้อยละ 80 และเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงจากการเพาะปลูก และเพิ่มโอกาสทางการตลาดทำให้สามารถขายพืชผลทางการเกษตรในอนาคตได้มากขึ้น” รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า จากภาวะวิกฤติด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงและกังวลต่อสถานการณ์การใช้พลังงานภายในประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะมหาวิทยาลัยสีเขียว ที่มีนโยบายชัดเจนในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า มุ่งส่งเสริมการวิจัยด้านพลังงาน และจัดกิจกรรมเพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ มจธ.ยังเล็งเห็นความสำคัญของการลดการใช้พลังงานและลดมลภาวะในภาคขนส่ง โดยดำเนินกิจกรรมหลายรูปแบบ เช่น Walk and Bike Society และนำรถโดยสารสาธารณะที่ใช้เชื้อเพลิงเอทานอล ED95 มาทดลองให้บริการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี ถึง มจธ.วิทยาเขต บางมดในระหว่าง 18 เม.ย. — 19 มิ.ย. ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการเดินทางโดยใช้ระบบสาธารณะ ที่สำคัญใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกบสิ่งแวดล้อม และคาดหวังว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ จะมีส่วนช่วยผลักดันทั้งในเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว และสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับสังคมในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือในการตระหนัก เข้าใจ และร่วมแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงาน นำไปสู่การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนให้เกิดขึ้นต่อไป ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยฯ ยังได้จัดเสวนา KMUTT Energy Forum ครั้งที่ 6 ขึ้น ในหัวข้อ “รถโดยสารประจำทางของไทย ควรใช้พลังงานทดแทนอย่างไร?” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางที่จะนำเอาพลังงานทดแทนมาใช้กับรถโดยสารสาธารณะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและประเทศชาติ โดยได้รับเกียรติจาก นายอำนวย ทองสถิต อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เข้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด, บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด , บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ด้าน ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ในฐานะหัวหน้าโครงการเดินรถโดยสารสาธารณะ ED95 (Ethanol Bus) ของมจธ. กล่าวถึงการพัฒนาโครงการดังกล่าวว่า ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเอกชน เช่น รถโดยสารจากบริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด และเชื้อเพลิงเอทานอล จากบริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด ซึ่งจากการทดลองใช้จริงบนท้องถนน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมาได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยการ ศึกษาวิจัยพบว่า อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไม่แตกต่างจากผลการศึกษาในต่างประเทศ ลดมลพิษและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต อีกทั้งผลสำรวจทัศนคติของผู้ใช้บริการยังพบว่าประชาชนทั่วไปให้ความสนใจและสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงเอทานอล ED95 เนื่องจากความเหมาะสมที่จะเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่สำคัญสำหรับประเทศไทย “ หากวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ พบว่า โดยภาพรวมแล้วหากมีการใช้เอทานอลทดแทนน้ำมนดีเซลและNGV จะช่วยประเทศลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าพลังงานถึง 87,000 ล้านบาท และ 47,000 ล้านบาทได้ตามลำดับ ช่วยให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงาน อีกทั้งยังส่งผลในเชิงสังคมโดยช่วยเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังอย่างมั่นคง ลดมลพิษในอากาศโดยเฉพาะในเมืองใหญ่เช่น กรุงเทพมหานคร มั่นใจว่า เชื้อเพลิง ED95 นั้นมีศักยภาพที่เหมาะสมจะเป็นพลังงานทดแทนชนิดใหม่ของไทย และสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ที่ต้องการให้มีการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก 25% และลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลลง 25 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2556 ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมอย่างจริงจัง จำเป็นเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมที่สอดคล้องจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรการสนับสนุนเรื่องของราคา เพื่อให้ต้นทุนการผลิต ED95 สามารถแข่งขันได้ในตลาด เนื่องจาก ED95 มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าดีเซลและNGV โดยพัฒนาสารเติมแต่งให้ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูง ต้องกำหนดมาตรฐานการผลิตเอทานนอลที่มีความบริสุทธิ์ 95% ของประเทศไทยวันนี้มีเพียงเอทานอล 99.5 และข้อกฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมหรือรองรับการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงในการขนส่ง รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยสารเติมแต่งอื่นๆขึ้นเองในประเทศ หัวหน้าโครงการฯ ให้ข้อเสนอแนะว่า การส่งเสริมการใช้ ED95 นั้น ควรมุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้ในรถโยสารขนาดใหญ่หรือรถบรรทุก ที่มีเส้นทางหรือระยะทางวิ่งที่แน่นอน ซึ่งจะช่วยลดการใช้ดีเซลและNGVในอนาคตได้ และไม่จำเป็นต้อนมีสถานีเชื้อเพลิงทั่วไป โดยสร้างสถานีเชื้อเพลิงที่ต้นทางและปลายทาง “ การสนับสนุนให้ใช้เอทานอล ED95 กับรถโดยสารดังกล่าว เพื่อต้องการรักษาสมดุลการใช้เชื้อเพลิงในประเทศ เป็นการช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น ดีเซล และ NGV นอกจากต้องนำเข้าและมีราคาที่แพงขึ้นแล้ว ยังมีโอกาสเกิดความผันผวนได้ตลอดเวลา ขณะที่เอทานอล ED95 นั้น สามารถผลิตขึ้นเองในประเทศ ทดแทนการใช้น้ำมันในกลุ่มดีเซล” สำหรับโครงการเดินรถบัส ED95 จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. - 19 มิ.ย. 2556 ( เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ ) ไป-กลับวันละ 3 รอบ เส้นทางระหว่าง BTS กรุงธนบุรี ถึง มจธ.บางมด โดยมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 78 กม.ต่อวัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ