กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--ศศินทร์
ศศินทร์เผยไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ และติด 1 ใน 10 ของประเทศที่ได้รับความนิยมจัดประชุมและนิทรรศการ เนื่องจากมีความได้เปรียบเทียบด้านการท่องเที่ยวและสถานที่จัดงานในระดับสากล จับมือสสปน.เร่งพัฒนาบุคลากรรองรับตลาด ย้ำเป็นธุรกิจที่สร้างงานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ผศ.ดร.ชัยพงษ์ พงษ์พานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไมซ์มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว หากเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ในโลกเห็นได้อย่างชัดเจนว่าธุรกิจไมซ์ในเอเชียมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมีมีความได้เปรียบในด้านสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม รวมทั้งโรงแรมที่มีคุณภาพระดับสากล และมีบริการที่ดีในราคาที่คุ้มค่า โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีศักยภาพในการดึงดูดให้มีการจัดงานไมซ์ในรูปแบบใหม่ ๆ ในประเทศมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานและสามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ธุรกิจดังกล่าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ คือเรื่องมาตรฐานการจัดงานที่เป็นที่ยอมรับและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ (สสปน.) เป็นแรงผลักดันสำคัญในการสร้างและปรับใช้มาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดงาน เช่น มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในการจัดงานไมซ์ (MSMS: MICE Security Management System) มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร (ISO 22000: Food safety)รวมถึงการผลักดันการจัดงานไมซ์แบบสีเขียว โดยการยึดหลักมาตรฐานสากลในการจัดงานประชุมสีเขียว (ISO 50001 Green Meeting Standard)
ผศ.ดร.ชัยพงษ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากการสร้างมาตรฐานเพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว สสปน.ยังเป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจัดงานไมซ์ ผ่านศูนย์รวมข้อมูลและศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงาน ทั้งยังเป็นหน่วยงานหลักที่ประชาสัมพันธ์ความพร้อมของประเทศไทยที่จะรองรับการจัดงานไมซ์ที่มีคุณภาพ นอกจากนี้แล้วประเทศไทยเองยังมีความพร้อมหลาย ๆ ด้านที่สามารถดึงดูดให้ทั่วโลกเข้ามาจัดงานไมซ์ เช่น ความพร้อมเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ แปลกตา การบริการที่มีคุณภาพ นอกจากนี้แล้วยังมีสถานที่จัดประชุมและนิทรรศการขนาดใหญ่หลายแห่งที่ได้มาตรฐานระดับสากล และสามารถรองรับการจัดงานได้หลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้มีความเป็นมืออาชีพที่สามารถรองรับความต้องการของตลาดได้ ทำให้จำนวนการจัดงานประชุมและนิทรรศการที่ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ประเทศไทยอยู่ใน 10 อันดับแรกที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของธุรกิจดังกล่าวที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรสำหรับรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ที่คาดว่าจะเติบโตและมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในอนาคต ผศ.ดร.ชัยพงษ์ กล่าวว่า ศศินทร์ได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน)หรือ(สสปน.) เพื่อพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนสำหรับการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ ( MICE ) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการอบรมเตรียมความพร้อมให้แก่คณาจารย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหาจะครอบคลุมตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรม ลักษณะการจัดงานไมซ์แต่ละประเภท วิธีการบริหารจัดงานไมซ์ การบริหารจัดการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า บริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ รวมถึงจรรยาบรรณของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์