อาร์บีเอส ชี้เศรษฐกิจไทยปี 2556 เติบโตสดใส

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 25, 2013 15:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ ธนาคารเดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ หรืออาร์บีเอส แถลงมุมมองเชิงบวกที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดย มร. ซานเจย์ มาธัวร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียของอาร์บีเอส คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของไทยจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 5 ในปี 2556 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ควบคู่ไปกับการขยายตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investments: FDI) และภาวะการเงินที่เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ มร. ซานเจย์ มาธัวร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) ธนาคารเดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ เปิดเผยว่า “นโยบายการคลังของไทยซึ่งมุ่งเพิ่มการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ นับเป็นหนึ่งในนโยบายการคลังที่ผ่อนคลายมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อผนวกกับการขยายตัวของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จึงนับว่าท่าทีของรัฐบาลไทยด้านนโยบายการคลังมีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจระดับโลกในปัจจุบัน และมีผลช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นในช่วงที่ผ่านมา” นโยบายที่มุ่งเน้นการใช้จ่ายของรัฐบาลไทย หมายรวมถึง 5 มาตรการหลัก ได้แก่ โครงการฟื้นฟูหลังภาวะอุทกภัย นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล มาตรการแทรกแซงราคาข้าว และนโยบายรถยนต์คันแรกซึ่งจบโครงการไป ทั้งนี้ การเพิ่มการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทั้งทางรถไฟและถนน จะช่วยรองรับอุปสงค์ภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อผนวกกับการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนตัวลง อาร์บีเอสจึงคาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับทรงตัว อย่างไรก็ดี สินเชื่อธนาคารและเครดิตครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ได้สะท้อนถึงอุปสงค์ที่ผู้บริโภคมีต่อสินเชื่อรูปแบบต่างๆ และการฟื้นฟูหลังภาวะอุทกภัย โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า สินเชื่อธนาคารมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 15 ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan to Deposit Ratio: LDR) เติบโตขึ้นร้อยละ 22 ทั้งนี้ สินเชื่อภายในประเทศ ที่ไม่นับสาขาในต่างประเทศของธนาคารไทย มีอัตราการเติบโตรวมร้อยละ 15.4 ซึ่งเป็นระดับอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดมหาอุทกภัยในไตรมาส 4/2554 ขณะที่การอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวกว่า 3 เท่า หรือเติบโตสูงถึงร้อยละ 21.6 ในไตรมาส 4/2555 จากเดิมที่ระดับร้อยละ 7.6 ในไตรมาส 3/2552 มร. มาธัวร์ เน้นย้ำว่า การควบคุมอุปสงค์ผู้บริโภค อาจต้องใช้มาตรฐานการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มงวดมากขึ้น ไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยประเภทใดจะถูกกดให้ต่ำลงก็ตาม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมากขึ้นในระยะหลายเดือนนี้ สำหรับคำถามที่ว่าธนาคารกลางจะสามารถดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของเงินบาทซึ่งเกิดจากการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนได้เป็นผลสำเร็จหรือไม่ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไป “ในภาพรวม อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะทรงตัวถ้าหากธนาคารกลางสามารถดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินของเงินบาทออกจากระบบได้เป็นผลสำเร็จ และอัตราดอกเบี้ยอาจลดลงหากมีการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินได้เพียงบางส่วน ซึ่งหมายความว่า อัตราส่วนผลตอบแทนต่อความเสี่ยง (Risk/Reward) ของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทจัดอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีการคาดคะเนว่า ในปีนี้จะมีการออกตราสารหนี้ระยะยาวน้อยลง” ทิศทางค่าเงินบาทไทย อาร์บีเอส ประเมินว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของเงินบาทไทยได้แข็งค่าขึ้นราวร้อยละ 3 ขณะที่การส่งออกที่เคยพุ่งทะยานหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวจากภาวะอุทกภัยกลับชะลอตัวลงนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยที่หลายภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ได้ออกมาเรียกร้องให้มีมาตรการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทไทยในช่วงที่ผ่านมา อาร์บีเอสเชื่อว่า ผู้กำหนดนโยบายจะเริ่มคิดหาแนวทางสกัดค่าเงินบาทมิให้แข็งค่าเร็วเกินไป หรือเกินพื้นฐาน โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มธุรกิจส่งออกกำลังได้รับผลกระทบ “การสกัดค่าเงินบาทจะยิ่งส่งผลดีต่อตราสารหนี้สกุลเงินบาทให้มีอนาคตที่สดใสมากขึ้น อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย โดยที่เงินทุนเคลื่อนย้ายจะเป็นตัวควบคุมผลตอบแทนที่กำลังเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ ค่าเงินบาท ณ เวลานี้ จัดว่ามีราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ การคำนวณราคาดังกล่าวมิได้พิจารณาถึงการปรับขึ้นค่าจ้างที่แท้จริง อาร์บีเอส คาดการณ์ว่า นับจากนี้ต่อไปเงินบาทไทยจะแข็งค่าขึ้นเพียงเล็กน้อย จัดอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน โดยยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อเงินบาทไทย และมองว่าภายในสิ้นปี 2556 เงินบาทไทยจะแข็งค่าขึ้นและทรงตัวอยู่ที่ 28.25 บาท ต่อเหรียญสหรัฐ” มร. มาธัวร์ กล่าวทิ้งท้าย อาร์บีเอส มาร์เก็ตส์ แอนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล แบงกิ้ง (เอ็มแอนด์ไอบี) อาร์บีเอส มาร์เก็ตส์ แอนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล แบงกิ้ง (เอ็มแอนด์ไอบี) เป็นพันธมิตรด้านการธนาคารชั้นนำขององค์กรธุรกิจ สถาบันการเงิน และลูกค้าภาครัฐทั่วโลก มีผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลายประเภท ได้แก่ บริการเงินทุนในรูปของการกู้ยืม (Debt Financing) ตลาดการเงินทั่วโลก การบริหารความเสี่ยง ผลิตภัณฑ์การลงทุน บริการที่ปรึกษาทางการเงินและธุรกรรมการเงิน นอกจากนี้ เอ็มแอนด์ไอบียังมุ่งสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว และเสริมสร้างความเป็นเลิศทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วโลก ตลอดจนมีการพัฒนาองค์ความรู้ระดับท้องถิ่น และระบบ การธนาคารอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับภาวะตลาดและระเบียบข้อบังคับต่างๆ เอ็มแอนด์ไอบีมุ่งให้บริการแก่ลูกค้าทั่วโลกผ่านสำนักงานสาขาใน 38 ประเทศทั่วโลก โดยมีสำนักงานใน 11 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ กรุ๊ป (อาร์บีเอส) เดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ กรุ๊ป หรืออาร์บีเอส กรุ๊ป คือ ผู้ให้บริการการธนาคารและการเงินรายใหญ่ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองเอดินเบอะระ มีการดำเนินงานในสหราชอาณาจักร และในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกา และเอเชีย เพื่อให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 30 ล้านรายทั่วโลก อาร์บีเอส กรุ๊ป มีผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลายประเภท เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าส่วนบุคคล ระดับองค์กรและสถาบัน ผ่านบริษัทในเครือ 2 ราย ได้แก่ เดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ และแน็ทเวสต์ (NatWest) และสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ได้แก่ ซิตี้เซ็นส์ (Citizens), ชาร์เตอร์ วัน, อัลสเตอร์แบงก์ (Ulster Bank), เคาท์ส (Coutts) และไดเร็คไลน์ (Direct Line) ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน โปรดติดต่อ: บริษัท อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ จำกัด สุภาวดี ศรีโรจนภิญโญ โทร 0 2252 9871 x 585 อีเมล์ supawadee.s@abm.co.th สาธิดา ศรีธัญญาธรณ์ โทร 0 2252 9871 อีเมล์ satida.s@abm.co.th
แท็ก เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ