ยิ้มสดใสของผู้สูงอายุในโครงการ ''ฟันเทียมพระราชทาน และการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก''

ข่าวทั่วไป Thursday April 25, 2013 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--กรมอนามัย ยิ้มสดใสของผู้สูงอายุในโครงการ ''ฟันเทียมพระราชทาน และการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก''.... ด้วยความห่วงใย จากกรมอนามัย เราเคยนึกสงสัยมั้ยว่า ทำไมต้องมีโครงการฟันเทียมพระราชทาน หรือการที่ผู้สูงอายุไม่มีฟัน จะมีผลเสียร้ายแรงหรือไม่อย่างไร เพราะยังทานอาหารอ่อน หรืออาหารเหลวได้ สาเหตุที่ฟันมีความสำคัญก็เพราะฟันเป็นอวัยวะที่ช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร อันนี้ทุกคนคงทราบดี การใช้ฟันในการบดเคี้ยวอาหารทำให้เพิ่มความสุขในการรับประทานอาหารค่ะ และที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ การมีฟันใช้เคี้ยวอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่ใช่กินได้แค่อาหารอ่อน นิ่ม มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับวัยสูงอายุ ที่สุขภาพร่างกายเริ่มมีแต่ความความเสื่อมถอย น.พ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และกระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาแผนงาน โครงการต่าง ๆ เพื่อให้คนไทยมีอายุอย่างน้อย 80 ปี ปัจจุบัน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคทางระบบร่วมกับความเสื่อมของสภาพร่างกาย ส่งผลให้งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงควรเตรียมการดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงการดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งสัมพันธ์กับโรคทางระบบโดยการมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน ทำให้การดูแลสุขภาพช่องปากมีความยากและซับซ้อนกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ และยังส่งผลสุขภาพรวมทั้งคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จากจุดเริ่มต้น กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนเมษายน 2547 ความว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” ทำให้กรมอนามัยให้ความสำคัญกับสุขภาพช่องปากมากยิ่งขึ้น เพื่อสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และด้วยความห่วงใยสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่ส่วนหนึ่งไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร กับอีกส่วนหนึ่งมีฟันแต่หรือฟันที่มีเหลืออยู่มีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นตลอดเวลาจากฟันผุ รากฟันผุ โรคปริทันต์ หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัด โครงการฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการสูญเสียฟัน ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสภาพช่องปาก ซึ่งจะลดปริมาณโรคและการสูญเสียฟัน รวมทั้งคงสภาพการใช้งาน (Function) ของอวัยวะในช่องปากหลังเกิดโรคและการสูญเสียฟัน ตลอดจนสนับสนุนให้ภาคประชาชน ท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในปี 2556 ได้ประสานการจัดกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรมเพื่อสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ดังนี้ 1. การจัดบริการใส่ฟันเทียมพระราชทานแก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศ 40,000 ราย โดยมีเงื่อนไขว่าให้ความสำคัญกับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปก่อน และเป็นการใส่ฟันเทียมทั้งปากหรือเกือบทั้งปากฐานพลาสติก ที่ยังไม่เคยรับบริการที่ไหนมาก่อนในช่วง 5 ปี ผู้ที่ใช้สิทธิ์บัตรทองทางโรงพยาบาลจะเป็นผู้ส่งเบิกค่าใช้จ่ายจากสปสช. ส่วนข้าราชการขอให้ชำระเงินก่อนและนำใบเสร็จรับเงินไปเบิกจากต้นสังกัด ซึ่งตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา หน่วยบริการทั่วประเทศสามารถใส่ฟันเทียมทั้งปากหรือเกือบทั้งปากให้กับผู้สูงอายุได้ประมาณ 275,000 คน และในปีนี้ พบว่า ความจำเป็นในการรับบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากในพื้นที่ภาคใต้สูงกว่าภาคอื่น ๆ จึงได้ประสานหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ศอ.บต. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาล เพื่อจัดบริการเฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ 3,000 ราย 2. การส่งเสริมสุขภาพช่องปากโดยชมรมผู้สูงอายุ กรมอนามัยเห็นศักยภาพ ความพร้อม ความเสียสละเพื่อสังคมของผู้สูงอายุ แกนนำชมรมผู้สูงอายุ อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ อาสาสมัครสาธารณสุข จึงสนับสนุนให้อาสาสมัครภาคประชาชนเหล่านี้ มีบทบาทในการสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพในช่องปากด้วยตนเอง แก่สมาชิกชมรม ปัจจุบัน มีชมรมผู้สูงอายุด้านการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเป็นต้นแบบในทุกจังหวัด กว่า 2,800 ชมรม 3. การจัดบริการส่งเสริมป้องกันตามชุดสิทธิประโยชน์ เป็นการจัดบริการส่งเสริมป้องกันในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก เป็นรายบุคคล และดูแลเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เน้นการรับบริการใกล้บ้านในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บริการทันตกรรมป้องกันตามชุดสิทธิประโยชน์ ประกอบด้วย 1) การตรวจสุขภาพช่องปาก 2) การให้คำแนะนำ และ/หรือ การปรับพฤติกรรมเพื่อควบคุมคราบจุลินทรีย์ 3) การใช้ฟลูออไรด์วานิชป้องกันรากฟันผุ 4) การขูดทำความสะอาดฟันป้องกันเหงือก / ปริทันต์อักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute Periodontitis) ขณะนี้มีต้นแบบอยู่ 330 แห่ง ในปีนี้ได้จัดการประชุมเพื่อขยายเครือข่ายอีก 150 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพช่องปากกับงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ โดยยึดถือว่าสุขภาพช่องปากเป็นส่วนหนึ่งของสุขภาพ และได้กำหนดตัวชี้วัดด้านสุขภาพช่องปากไว้ในมาตรฐานสุขภาพผู้สูงอายุพึงประสงค์ รวมการดูแลสุขภาพช่องปากไว้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในระดับตำบล และแผนส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้พิการของกระทรวงสาธารณสุข " การมีสุขภาพช่องปากดี ทำให้มีอายุยืนยาว เป้าหมายการพัฒนาให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากดีขึ้น นอกจากจะดูแลสุขภาพในช่องปากผู้สูงอายุ ให้คงสภาพการใช้งานให้นานที่สุดแล้ว กรมอนามัยยังต้องเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงให้ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหาในช่องปากที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ และก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุต่อไป เพื่อให้ผู้สูงวัยทุกท่านมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี" อธิบดีกรมอนามัยกล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ