“สถาปนิกไทย” แนะวิธีปรับตัวให้อยู่กับ “โลกร้อน” แบบง่ายๆ ในงานฟรีสัมมนา ซีดีซี เว้นส์เดย์ ทอล์ค 56’

ข่าวอสังหา Monday April 29, 2013 16:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 เม.ย.--คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ เรื่องของโลกร้อนและการประหยัดพลังงานเป็นเรื่องที่มีคนพูดถึงมานานพอสมควร และแม้ว่าหลายหน่วยงานทั่วโลกจะหันมาช่วยกันรณรงค์ลดโลกร้อนและประหยัดพลังงาน แต่ดูเหมือนว่าผลความสำเร็จที่ได้ยังไม่ค่อยเห็นภาพที่ชัดมากนัก ตรงกันข้ามผลกระทบที่เกิดขึ้นยังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ตัวอย่างที่เห็นและสัมผัสได้ชัดตอนนี้ในเมืองไทย คือ อากาศที่นับวันยิ่งร้อนจัดและมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (ซีดีซี) ตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงได้เชิญสถาปนิกไทยชื่อดังที่มีมุมมองและประสบการณ์ทั้งเรื่องของการออกแบบ บ้าน คอนโด หรือโรงแรมรีสอร์ต ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกรีน บิวดิ้ง มาแชร์ความรู้เรื่องการปรับตัวให้อยู่กับธรรมชาติที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างกลมกลืน ในงานฟรีสัมมนา ซีดีซี เว้นส์เดย์ ทอล์ค ประจำเดือน มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา คุณวิญญู วานิชศิริโรจน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันอาคารเขียวไทย ได้กล่าวรณรงค์ให้ สถาปนิก รวมไปถึง เจ้าของบ้าน เจ้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรวมไปถึง หมู่บ้าน คอนโด โรงแรม รีสอร์ต ตระหนักว่าเรื่องการของ กรีน หรือ การสร้างอาคารโดยคำนึงถึงธรรมชาติ มันไม่ใช่ดีไซน์ มันไม่ใช่คอนเซ็ปต์ มันไม่ใช่แนวคิด แต่มันเป็นสิ่งที่คุณต้องทำ เหมือนกับการสร้างตึกที่ให้คนพิการเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันต้องมีทุกที่ “งานสถาปัตยกรรมสีเขียวที่แท้จริงในเมืองไทยยังไม่สมบูรณ์ ขาดทั้งองค์ความรู้ของผู้เชี่ยงชาญ และวัสดุอุปกรณ์ ดังนั้นทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องต้องเข้ามาช่วยกันผลักดัน ทั้ง สถาปนิกในฐานะนักออกแบบ ผู้คัดเลือกวัสดุ ต้องมีความรู้และพร้อมที่จะสู่กับข้อจำกัดอันเป็นอุปสรรค์มากมายของการนำ กรีน เข้าไปในงานก่อสร้าง นอกจากการสร้างสรรค์ความสวยงามของดีไซน์ ต้องไม่ละทิ้งแนวคิดหลักที่สำคัญ คือ การรักษาสภาพแวดล้อมของโลกด้วย และในขณะเดียวกัน เจ้าของบ้าน หรือ เจ้าของกิจการ ก็ควรให้ความสำคัญและร่วมมือที่จะนำเรื่องกรีนให้เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน หรือ อาคาร ด้วย” ส่วน คุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนดเวิล จำกัด และสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านบ้านเขียว กล่าวว่า เมื่อพูดถึงโลกร้อนในฐานะสถาปนิก มักจะเจอคำถามสำหรับคนที่สร้างบ้านใหม่ ถึงเรื่องการออกแบบและเลือกวัสดุที่จะช่วยทำให้บ้านอยู่สบายไม่มีปัญหาโลกร้อนมากวนใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ไม่ได้มีแพลนสร้างบ้านใหม่ ก็สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเราโดยปรับเปลี่ยนบ้านเก่าให้เป็นบ้านกรีนได้ เพื่อ ลดการใช้ทรัพยากร ลดค่าใช้จ่าย ประหยัดพลังงาน และช่วยโลกได้อีกทาง “วิธีลดโลกร้อน และ ประหยัดพลังงาน แบบง่ายๆ ภายในบ้าน “เริ่มจาก จัดห้องใหม่ ให้รับลมธรรมชาติ เพื่อลดการใช้แอร์ ด้วยการเปิดบ้านรับลมทางทิศเหนือใต้ ให้มีทางลมเข้า และทางลมออก โดยย้ายตำแหน่งของหน้าต่างและประตู รวมถึงการ จัดเฟอร์นิเจอร์ไม่ให้ขวางทางลม จัดให้ห้องโปร่งโล่งลมพัดผ่านได้สะดวก แต่ในวันที่อากาศร้อนถึงแม้จะมีลมก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะก็มีแต่ลมร้อนพัดผ่าน จึงจำเป็นต้องมีห้องที่ติดแอร์ ก็ควรเปลี่ยนประตูหน้าต่างให้สนิทมิดชิด ไม่ให้แอร์สามารถลอดออกไปข้างนอกได้ เพื่อลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ สาเหตุของการกินไฟ กันแดดก่อนที่จะเข้ามาในบ้าน ด้วยแผงกันแดดภายนอกอาคาร หรือ การใช้ชายคา แผงบังแดด ไม้ระแนงกันแดด หรือ ต้นไม้ เพื่อให้ร่มเงา โดยเฉพาะที่ผนังและหน้าต่างทางด้านทิศตะวันตกในกรณีที่ด้านนั้นไม่มีร่มเงาหรือการบังแดดอยู่ก่อนแล้ว ก็จะเป็นการช่วยลดความร้อนในบ้านและค่าไฟได้ด้วย ทำสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำใช้เอง โดยการนำเอาขวดน้ำดื่มขนาดเล็กที่ใช้แล้วใส่น้ำแล้วนำลงไปวางในแทงค์น้ำของสุขภัณฑ์เพื่อแทนที่ปริมาตรความจุของน้ำในแทงค์ ประหยัดน้ำได้ถึงครั้งละลิตร ห้องน้ำ ประหยัดไฟ ทำให้ห้องน้ำได้แสงสว่างเพียงพอ โดยการเพิ่มช่องเปิดรับแสงธรรมชาติก็ทำให้ไม่ต้องเปิดไฟเวลาเข้าห้องน้ำตอนกลางวัน อีกทั้งอากาศถ่ายเทอย่างเพียงพอห้องก็ไม่อับชื้นและไม่มีเชื้อรา เก็บน้ำฝนไว้รดน้ำต้นไม้ แทนน้ำประปา เปลี่ยนพื้นคอนกรีตให้เป็นบล๊อกหญ้า เพื่อลดปริมาณพื้นผิวของพื้นคอนกรีต เพราะลานคอนกรีตขนาดใหญ่ในบริเวณบ้านเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิของบ้านสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น และทำให้น้ำฝนซึมลงดินไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมอีกด้วยครับ” ขณะที่ คุณพิสิษฐ สายัมพล สถาปนิกชื่อดังจากบริษัท แฮบบิตา จำกัด ผู้ออกแบบโรงแรมและรีสอร์ตดังมากมาย อาทิ โครงการ ศรีพันวา ภูเก็ต โครงการที่พักอาศัยและรีสอร์ทบนแหลมพันวา จังหวัดภูเก็ต บอกว่า ที่สุดของความงามบนโลกใบนี้คือความงามของ ‘ธรรมชาติ’ ดังนั้น การออกแบบที่จะสร้างความประทับใจ ควรเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน “ผมเห็นว่ามนุษย์กับธรรมชาติเป็นของคู่กัน และ เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ดังนั้น เวลาที่พวกเราจะสร้างที่พักที่หนึ่งๆ ขึ้นมา ต้องมีการวางผังเพื่อสำรวจสิ่งที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการไปสร้างที่อยู่อาศัยใกล้ธรรมชาติ หลังจากนั้นสถาปนิกต้องไปตรวจผัง ถ้าพบว่าในผังมีต้นไม้ใหญ่ก็จะปรับแก้เพื่อเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้ให้มากที่สุด ต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมากเกินไปไม่แข็งแรงและจำเป็นต้องตัดเราก็จะตัดด้วยวิธีการตัดแค่เสมอดิน เพื่อไม่ให้รบกวนธรรมชาติ ขณะเดียวกันระบบรากของต้นไม้สามารถยึดดินไว้ได้เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะไปขุดทิ้งทำให้ดินสูญเสียการรับน้ำหนัก ที่มาของภัยธรรมชาติที่น่ากลัว อย่างดินถล่ม หรือ น้ำท่วม ส่วนต้นไม้เล็กที่สามารถขุดล้อมย้ายได้เราก็จะขุดล้อมแล้วเอาไปพักไว้เมื่อเราก่อสร้างบ้านแล้วต้นไม้พวกนั้นเราสามารถเอากลับมาปลูกได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสี ที่นำมาช่วยให้สถาปัตยกรรมสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภายในกับภายนอกโดยการดึงสีและพื้นผิวที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด เช่น รีสอร์ตบนภูเขา ก็เน้น สีเขียว สีส้มที่เป็นสีดินลูกรัง หรือ ติดทะเล ก็เน้นสีน้ำทะเล เพื่อให้ดูกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่โดดออกมามากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเลือกวัสดุที่จะไม่ไปทำลายธรรมชาติ โดยอาจดัดแปลงวัสดุในท้องถิ่นหรือในพื้นที่มาใช้” เรียกว่าเรื่องของโลกร้อนและการประหยัดพลังงาน อาจดูเป็นเรื่องยากและไกลตัว เพราะทุกคนไม่ยอมตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นเริ่มสัมผัสได้มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงเป็นความร่วมมือที่ทุกคนควรช่วยกันคิดและปฏิบัติ ไม่เพียงแค่เพื่อการประหยัดพลังงานต่างๆ ภายในบ้านเราเอง แต่ท้ายที่สุดแล้วมันคือการช่วยโลกใบนี้ด้วยมือของคุณเองด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ